ทำบุญจะได้บาปหากผิดวิธี ปล่อยปลาแบบไหนให้โดนตำหนิ โดนประณาม มีตัวอย่างให้เห็นแล้ว เรามาเรียนรู้การปล่อยปลาที่จะได้บุญ อิ่มบุญ อิ่มอกอิ่มใจกัน
ปล่อยสัตว์น้ำแบบไหนเรียกว่าได้บุญ
-ไม่ปล่อยสัตว์ต่างถิ่น หรือ เอเลียนสปีชีส์
-ไม่ปล่อยในปริมาณที่มากจนเกินไป
-คัดเลือกสถานที่ปล่อยให้เหมาะสมกับชนิดของปลา
-ควรปล่อยในแหล่งน้ำตื้นหรือลึกระดับปานกลาง (ระดับเอวถึงหน้าอก)
-ไม่ปล่อยในแหล่งที่มีน้ำเชี่ยว
-ปล่อยในแหล่งที่มีพืชน้ำ เพื่อเป็นที่หลบภัย, อาหาร หรือเพาะพันธุ์สัตว์น้ำ
-ปล่อยในแหล่งน้ำธรรมชาติที่มีการไหลเวียนของน้ำ หรือที่มีน้ำสะอาด
สำหรับปลาที่ควรปล่อยและไม่ควรปล่อย
ปลาที่แนะนำให้ปล่อยในแหล่งน้ำของประเทศไทย ควรเป็นปลาพื้นเมืองของไทย เช่น ปลาตะเพียนขาว, ปลาตะเพียนทอง, ปลาแก้มช้ำ, ปลาสร้อยขาว, ปลาหมอไทย, ปลายี่สกไทย, ปลากราย, ปลาโพง และปลาบึก
สัตว์น้ำตามความเชื่อที่ไม่ควรปล่อยเด็ดขาด (เอเลี่ยน สปีชีย์) เช่น ปลาดุกอัฟริกัน หรือปลาดุกลูกผสม (บิ๊กอุย), กุ้งเครย์ฟิซ, เต่าญี่ปุ่นหรือเต่าแก้มแดง, ปลาหางนกยูง, ปลากดเกราะดำและปลากดเกราะลาย, ตะพาบไต้หวัน, ปลาทับทิม, ปลานิล และปลาหมอสีคางดำ
ปลาเศรษฐกิจบางชนิดเหมาะสำหรับเลี้ยงแบบบ่อปิดเท่านั้น เช่น ปลานิล, ปลาทับทิม, ปลาหางนกยูง และปลาดุกบิ๊กอุย
การปล่อยสัตว์น้ำเพื่อความเป็นสิริมงคลของชีวิต เป็นธรรมเนียมปฏิบัติที่คนไทยเรานิยมทำเพื่อสะเดาะเคราะห์ หรือสั่งสมบุญกุศลไว้ให้ตัวเองแล้วนั้น การทำบุญด้วยการปล่อยสัตว์น้ำโดยทั่วไปจะต้องคำนึงถึงความสมบูรณ์แข็งแรงของปลาและสิ่งแวดล้อมของสถานที่ที่จะนำไปปล่อยด้วย เนื่องจากสัตว์น้ำแต่ละชนิดมีนิสัยความเป็นอยู่ที่แตกต่างกัน ดังนั้นเพื่อเป็นการเพิ่มโอกาสรอดให้กับสัตว์น้ำที่ท่านได้เลือกนำไปปล่อยลงแหล่งน้ำธรรมชาติ
กรมประมงได้แนะนำวิธีในการปล่อยพันธุ์สัตว์น้ำที่ถูกต้อง ดังนี้
1.ปลาช่อน/ปลาดุกอุย/ปลาดุกด้าน ควรปล่อยให้ลำคลอง หนอง บึง ที่มีน้ำไหลไม่แรงมาก มีกอหญ้าอยู่ ริมตลิ่งบ้าง และน้ำควรเป็นน้ำสะอาด
2.ปลาไหล ควรปล่อยลงในแม่น้ำ ห้วยหนอง คลองบึง ท้องนา หรือร่องสวน บริเวณที่มีดินเฉอะแฉะ และกระแสน้ำไหลไม่แรงมาก เนื่องจากปลาไหลชอบขุดรูเพื่ออยู่อาศัย
3.กบ สัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำ ชอบอยู่ในที่ชื้นแฉะ ดังนั้นไม่ควรปล่อยลงแม่น้ำ ควรหาที่นา หรือคลองที่เป็นธรรมชาติ มีกอหญ้าหรือไม้น้ำจะดีกว่า เพราะกบก็จะใช้เป็นที่อยู่อาศัย และยังเป็นที่อยู่ของแมลง ซึ่งเป็นอาหารของกบอีกด้วย
4.ปลาสวาย/ปลาบึก/ปลาตะเพียน ควรปล่อยลงในแม่น้ำ คลองที่มีระดับน้ำลึกและกระแสน้ำไหลแรง เพราะปลาเหล่านี้เมื่อโตเต็มที่ เป็นปลาที่มีขนาดค่อนข้างใหญ่ ดังนั้นจึงต้องใช้พื้นที่กว้างในการดำรงชีวิต
5.คุณภาพของน้ำที่เอื้อการอาศัยของสัตว์น้ำ โดยก่อนปล่อยสัตว์น้ำ ควรสังเกตสีน้ำในแหล่งที่ปล่อยต้องมีสีไม่ดำ หรือเขียวเข้มจัด เพราะเป็นน้ำที่มีออกซิเจนต่ำ หากปล่อยลงไปจะทำให้สัตว์น้ำอยู่ไม่ได้
6. คุณภาพของสัตว์น้ำที่ปล่อย ควรเป็นสัตว์น้ำที่มีสุขภาพดี สมบูรณ์ ไม่เป็นโรค ไม่มีแผลตามลำตัว หากปล่อยสัตว์น้ำที่เป็นโรคลงไปในแหล่งน้ำ จะเป็นการแพร่ขยายเชื้อโรคสู่ธรรมชาติ
7.เวลาปล่อยสัตว์น้ำควรเป็นเวลาเช้าหรือเย็นที่อากาศไม่ร้อนจัด เพราะหากปล่อยสัตว์น้ำในที่มีแสงแดดจัด อาจทำให้สัตว์น้ำปรับตัวไม่ทันและอาจตายได้
การปล่อยปลาหรือสัตว์น้ำเพื่อสร้างบุญกุศลและเสริมดวงชะตาตามความเชื่อนั้น ไม่จำเป็นว่าเราจะต้องปล่อยที่วัดเพียงอย่างเดียว เพราะถ้าเราปล่อยสัตว์น้ำบางชนิดที่ไม่สามารถอาศัยอยู่บริเวณหน้าวัด สุดท้ายสัตว์น้ำเหล่านั้นก็จะไม่สามารถมีชีวิตอยู่รอดได้ เราควรที่จะเลือกสถานที่ที่เมื่อเราปล่อยสัตว์น้ำเหล่านั้นไปแล้วจะสามารถดำรงชีวิตอยู่บริเวณสถานที่นั้นๆ ได้
ทำบุญควรได้บุญ ไม่ใช่ได้บาป