“เสื่อกกบ้านสร้าง” (Ban Sang Mat หรือ Suer Kok Ban Sang) หมายถึง เสื่อกกและผลิตภัณฑ์แปรรูปจากเสือกก ทอด้วยกกกระจุด ซึ่งเป็นกกน้ำจืด ปลูกและแปรรูปในพื้นที่ 9 ตำบล ได้แก่ ตำบลบ้านสร้าง ตำบลบางกระเบา ตำบลบางเตย ตำบลบลบางยาง ตำบลบางแตน ตำบลบางพลวง ตำบลบางปลาร้า ตำบลบางชาม และตำบลกระทุ่มแพ้ว ของอำเภอบ้านสร้าง จังหวัดปราจีนบุรี โดยนำกกมาผ่านกระบวนการทอเสื่อด้วยมือผสมผสานกับภูมิปัญญาของท้องถิ่นที่สืบทอดกันมายาวนาน ทั้งนี้กรมทรัพย์สินทางปัญญาประกาศให้ขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ ( GI )” เสื่อกกบ้านสร้าง”เมื่อ 27 กันยายน 2564
วิธีการผลิต
(1) การปลูกกก ปลูกได้ตลอดทั้งปี โดยเตรียมพื้นที่ไถคราด นำเหง้ากกหรือหัวกกที่มีหน่ออ่อน งอกออกมาไปปลูกเหมือนดำข้าว เมื่อกกอายุประมาณ 1-2 เดือน ให้ใส่ปุ๋ย สูตร 16-20-0 หรือตามความเหมาะสมของพื้นที่
(2) การปาดเกี่ยวกก หลังการปลูกประมาณ 4-5 เดือน กกจะยาวพอปาดได้ สังเกตจากดอกสีน้ำตาลอ่อนและดอกบานเต็มที่ การปาดใช้มืดปาดต้นให้ติดพื้นดินมากที่สุดและนำมาคัดแยกขนาดความยาวของเส้นกกประมาณ 1-2 เมตร
(3) การสลัดกก ต้องทำการสลัดกกก่อนเพื่อคัดความยาวตามที่ต้องการ โดยใช้ไม้วัดกกเพื่อให้ได้ขนาดความยาวสูงสุดประมาณ 9 คืบ จนถึงสั้นที่สุดประมาณ 4 คืบ
(4) การจักกก นำมาจักกกโดยการผ่าเป็นซีกเล็ก ๆ ประมาณ 4-6 ซีก/ต้น หรือกว้างประมาณ 5 มิลลิเมตรต่อซีก ใช้มีดขูดเยื่อสีขาวที่อยู่แกนกลางของกกทิ้งเหลือไว้แค่เปลือกนอกเท่านั้น
(5) การตากกก เมื่อจักกกเรียบร้อยแล้ว นำมาตากให้แห้ง ตากแดดประมาณ 3 แดด (3 วัน) หรือตากจนเส้นกกขาว มิฉะนั้นจะย้อมสีไม่ติดหรือสีติดไม่สม่ำเสมอ การตากแดดตากกับพื้น กกจะแห้งสม่ำเสมอ ถ้าตากกับราวตาก กกจะแห้งไม่สม่ำเสมอ ระหว่างตากต้องไม่ให้โดนฝนหรือน้ำ เพราะกกจะไม่ม้วนเป็นเส้นกลมและนำไปจำหน่ายไม่ได้ เมื่อตากกกแห้งดีแล้วให้เก็บไว้เป็นมัด ๆ ตามความยาว เช่น 9 คืบ 8 คืบ 6 คืบ เป็นต้น ต้นกกที่ตากแห้งแล้วต้องมัดให้แน่น เส้นกกจะเขียวและเป็นเส้นม้วนกลม
(6) การย้อมสี ใช้สีสำหรับย้อมกกโดยเฉพาะ นำกกแห้งมัดรวมกันไปแช่น้ำให้นิ่มก่อนที่จะนำลงย้อม เตรียมภาชนะสำหรับต้มที่เหมาะสม ต้มน้ำให้เดือด ตักสีที่ต้องการใส่และใส่กกที่แช่น้ำแล้วลงต้ม ใช้เวลาย้อมครั้งละประมาณ 5 นาที โดยพลิกไปพลิกมาในน้ำเดือด แล้วยกกกออกนำไปล้างน้ำก่อนที่จะนำไปตาก เพื่อให้เส้นกกที่ย้อมสีแล้วแห้ง ถ้าไม่แช่น้ำเส้นกกจะแบนไม่ม้วนเป็นเส้นกลม หลังจากนั้นนำเข้าตู้อบประมาณ 5 ชั่วโมงและเก็บไว้ในที่ร่มรอการทอเสื่อต่อไป
(7) การทอ นำกี่ ฟืมทอ และเส้นกกกระจุดที่ย้อมสีจนแห้งมาทอตามลายที่ต้องการ ทอเสร็จนำไปผึ่งแดดและเก็บในที่ร่ม
(8) การนำไปแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ต้องใช้เสื่อกกผืนที่ทอในพื้นที่อำเภอบ้านสร้าง จังหวัดปราจีนบุรีมาเย็บโดยใช้จักร ออกแบบเป็นผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ เช่น กระเป๋า รองเท้า หมวก ที่รองจาน ที่รองแก้ว โคมไฟ กล่องอเนกประสงค์ เป็นต้น บางขั้นตอนอาจใช้วิธีการเย็บมือ ขึ้นอยู่กับรูปแบบของผลิตภัณฑ์ และวัตถุดิบอื่นที่ใช้เป็นส่วนประกอบของผลิตภัณฑ์แปรรูปจากเสื่อกก เช่น หนัง กระดุม ห่วงโลหะ ผ้าบุ โครงเหล็ก เป็นต้น สามารถใช้จากแหล่งจำหน่ายภายนอกจังหวัดได้ โดยการแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ต้องทำใน อ.บ้านสร้าง จังหวัดปราจีนบุรี เท่านั้น
ลักษณะภูมิประเทศ
จังหวัดปราจีนบุรี มีสภาพพื้นที่ทั่วไปเป็นที่ราบจนถึงลักษณะภูเขาสูงชัน พื้นที่อำเภอบ้านสร้าง จังหวัดปราจีนบุรี มีลักษณะเป็นที่ราบลุ่มร้อยละ 97 และเป็นพื้นน้ำร้อยละ 3 ของพื้นที่ มีเนื้อที่ประมาณ 236,095 ไร่ แบ่งเป็นพื้นที่ทำการเกษตรประมาณ 182,932 ไร่ หรือ ร้อยละ 77.48 ของพื้นที่ทั้งหมด พื้นที่ที่อาศัยและอื่น ๆประมาณ 53,163 ไร่ หรือ ร้อยละ 22.52 ของพื้นที่ทั้งหมด ลักษณะดินส่วนใหญ่เป็นดินเหนียวมีแม่น้ำสำคัญไหลผ่านคือ แม่น้ำปราจีนบุรี ซึ่งไหลไปบรรจบกับแม่น้ำนครนายกที่ตำบลบางยางเกิดเป็นแม่น้ำบางปะกง ตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกของจังหวัด
ลักษณะภูมิอากาศ
จังหวัดปราจีนบุรี มีสภาพอากาศที่แห้งแล้งและชุ่มชื้นสลับกันแบบฝนเมืองร้อน ในฤดูมรสุมตะวันตกเฉียงใต้จะมีอากาศชุ่มชื้น ฝนตกตลอดฤดู แต่ในฤดูมรสุมตะวันตกเฉียงเหนือหรือฤดูหนาวนั้น จะมีอากาศแห้งแล้ง มีฤดูแตกต่างกัน 3 ฤดู คือ ฤดูฝน เริ่มตั้งแต่เดือนมิถุนายนถึงเดือนตลาคม ฤดูหนาว เริ่มตั้งแต่เดือนพฤศจิกายนถึงเดือนกุมภาพันธ์ และฤดูร้อน เริ่มตั้งแต่เดือนมีนาคมถึงเดือนพฤษภาคม อุณหภูมิเฉลี่ยตลอดปีประมาณ 27-30 องศาเซลเซียส โดยพื้นที่อำเภอบ้านสร้าง มีสภาพภูมิอากาศโดยทั่วไป อากาศร้อนจัดในฤดูร้อน อุณหภูมิสูงสุดวัดได้ประมาณ 40 องศา อุณหภูมิต่ำสุดวัดได้ประมาณ 15 องศา มีอุณหภูมิโดยเฉลี่ยทั้งปีประมาณ 28.4 องศา ด้วยลักษณะภูมิประเทศและภูมิอากาศของอำเภอบ้านสร้างที่มีลักษณะเป็นที่ราบลุ่ม ในที่นาเป็นดินเหนียวที่มีน้ำขัง และส่งผลให้กกกระจุดซึ่งเป็นวัตถุดิบหลักในการทอเสื่อกกของอำเภอบ้านสร้าง จังหวัดปราจีนบุรี มีลักษณะที่เหนียว ไม่เปื่อยง่าย แข็งแรง ทนทานกว่าเสื่อกกจากแหล่งอื่นและสายพันธุ์อื่น เมื่อนำมาย้อมสี
จะได้สีที่ติดทน
ประวัติความเป็นมา
ชาวอำเภอบ้านสร้าง จังหวัดปราจีนบุรี ทำการเพาะปลูกและทอเสื้อกกเพื่อใช้ในชีวิตประจำวันมาเป็นระยะเวลานาน จนเมื่อปี พ.ศ. 2541 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 เสด็จพระราชดำเนินมาที่กลุ่มเพื่อดูความเป็นอยู่ของชาวบ้านสร้าง พระองค์ทอดพระเนตรเห็นการทอเสื่อกกในชุมชน ทรงมีพระราชกระแสรับสั่งกับคุณปู่หมอใช้ ยะประดิษฐ์ ขอให้สมาชิกได้มีการพัฒนาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ใช้สอยจากเสื่อกกให้มากขึ้น ให้เป็นสินค้าที่ทันสมัย นำออกมาจำหน่ายพร้อมกับทรงย้ำว่าขอให้อนุรักษ์และสืบสานการทอเสื่อกกนี้ให้อยู่จนถึงลูกหลานสืบต่อไป และเพื่อให้เกษตรกรมีรายได้ระหว่างยังไม่ได้ผลผลิตจากการทำนา โดยผู้ที่ริเริ่มแปรรูปเสื่อกกเป็นผลิตภัณฑ์อื่นๆ กลุ่มแรกคือกลุ่มเกษตรกรกรทำนาข้าวตำบลบางพลวง หมู่ที่ 1 ตำบลบางพลาง อำเภอบ้านสร้าง จังหวัดปราจีนบุรี และขยายไปยังเกษตรกรอื่นในพื้นที่อำเภอบ้านสร้าง ซึ่งผลิตภัณฑ์แปรรูปจากเสื่อกกจะผลิตจากกกที่เพาะปลูกในพื้นที่อำเภอบ้านสร้าง จังหวัดปราจีนบุรี
ทั้งนี้พื้นที่การผลิตและแปรรูป เสื่อกกบ้านสร้าง ครอบคลุมพื้นที่ 9 ตำบล ได้แก่ ตำบลบ้านสร้าง ตำบลบางกระเบา ตำบลบางเตย ตําบลบางยาง ตำบลบางแตน ตำบลบางพลวง ตำบลบางปลาร้า ตำบลบางขามและตำบลกระทุ่มแพ้ว ของอำเภอบ้านสร้าง จังหวัดปราจีนบุรี