“ศิลาดลเชียงใหม่” (Chiang mai Celadon) หมายถึง ผลิตภัณฑ์เครื่องปั้นดินเผาประเภทเนื้อหินที่ผลิตในจังหวัดเชียงใหม่ ทำขึ้นจากเนื้อดินดำหรือดินผสมกับดินดำ ตกแต่งด้วยเคลือบขี้เถ้าธรรมชาติ เผาที่อุณหภูมิสูง ในบรรยากาศการสันดาปที่ไม่สมบูรณ์ ตามกรรมวิธีที่สืบทอดต่อกันมา เกิดผลิตภัณฑ์ที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว ซึ่งแสดงถึงคุณค่าของธรรมชาติของงานหัตถกรรมภูมิปัญญาอันมีเอกลักษณ์และศิลปวัฒนธรรมท้องถิ่นเข้ามาสอดแทรก เพื่อให้มีความสวยงามน่าสนใจ โดยที่ยังคงความเป็นเอกลักษณ์ประจำถิ่นอยู่ “ศิลาดลเชียงใหม่” มรดกภูมิปัญญาแห่งล้านนา ได้รับการประกาศขึ้นทะเบียนเป็นสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ไทย ( GI ) เมื่อวันที่ 10 มิถุนายน 2552
เนื้อดิน ผลิตจากวัตถุดิบในท้องถิ่นที่มีการคัดสรรเป็นพิเศษ จนได้สูตรเนื้อดินที่สามารถสัมผัสเสน่ห์ของเนื้อดินที่บริสุทธิ์จริง
น้ำยาเคลือบ เป็นสูตรน้ำยาเคลือบที่เกิดจากการคิดค้น และการพัฒนาเป็นสูตรเฉพาะ ที่ไม่เหมือนใคร
การชุบเคลือบ เป็นการชุบเคลือบด้วยมือ การไหลของน้ำเคลือบเวลาเผาเสร็จออกมาทำให้เกิดการไล่โทนสีที่มีชีวิต มีมิติที่น่าหลงใหล
การปั้นด้วยมือ ก่อให้เกิดงานที่ออกมามีเอกลักษณ์เฉพาะตัว Unique เป็นศิลปะเฉพาะตัว
การแกะลวดลายด้วยมือ สามารถถ่ายทอดถึงความประณีต พิถีพิถันของช่างสลักที่บรรจงแกะลงในเนื้อดิน ก่อให้เกิดศิลปะชั้นสูงได้อย่างสง่างาม
การวาดลวดลายด้วยมือ ที่สามารถถ่ายทอดอารมณ์ความรู้สึก จินตนาการของช่างสลักที่บรรจงวาดลงบนชิ้นงาน ก่อให้เกิดผลิตภัณฑ์ที่มีชีวิต
การเผาความร้อนสูง การเผาครั้งแรกที่อุณหภูมิ 800 องศาเซลเซียส เผาครั้งที่สองที่อุณหภูมิ 1,200 – 1,280 องศาเซลเซียส โดยเทคนิคพิเศษ ทำให้เกิดเป็นสีเขียวคล้ายหุ้มด้วยหยก ผิวเคลือบมันวาวอยู่ในตัว เป็นการเคลือบธรรมชาติที่ไม่ใช้สารเคมีเจือปน ส่วนรอยรานหรือแตกลายงา (Crack) บนตัวเคลือบนั้นเกิดจากการหดตัวของเนื้อดินกับน้ำยาเคลือบ เมื่อเย็นตัวลง จึงเป็นลักษณะเด่นอีกอย่างหนึ่งของศิลาดล
ลักษณะภูมิประเทศ
สภาพภูมิประเทศ เป็นพื้นที่ราบ ระดับความสูงจากระดับน้ำทะเล 0 – 300 เมตร พื้นที่บางส่วนเป็นที่นาปลูกข้าว จากลักษณะทั่วไปของพื้นที่ ตามหัวไร่ ปลายนา ลักณะภูมิอากาศแบบมรสุมเขตร้อน ได้รับอิทธิพลจากมรสุมตะวันตกเฉียงใต้และลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือ จึงทำให้ในช่วงเดือนพฤษภาคม – เดือนกันยายน มีฝนตกชุก และในช่วงเดือนพฤศจิกายน-เดือนกุมภาพันธ์ มีอากาศหนาวเย็นและแห้งแล้ง
ประวัติความเป็นมา
เมื่อ 400 -500 ปีที่ผ่านมา เป็นยุคทองของอาณาจักรล้านนา ได้ผลิตเครื่องถ้วยศิลาขึ้นที่บริเวณอำเภอสันกำแพง จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งถูกค้นพบโดยนายไกรศรี นิมมานเหมินทร์ ในปี พ.ศ.2495 และค้นคว้าร่วมกับ นายบุญยืน วุฒิสรรพ์ ทำให้มีการพัฒนานำไปสู่การผลิตเต็มรูปตั้งแต่ปี พ.ศ.2502 เป็นต้นมา จนสามารถผลิตส่งออกไปต่างประเทศได้ และนำไปสู่การก่อตั้งโรงงานศิลาดลในจังหวัดเชียงใหม่อีกหลายแห่งและดำเนินกิจการต่อเนื่องมาถึงปัจจุบัน
ทั้งนี้พื้นที่การผลิต ศิลาดลเชียงใหม่ อยู่ในเขตพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่