กลุ่มผู้ปลูกอินทผลัม 20 ราย จาก 7 จังหวัดประกอบด้วย จ.ร้อยเอ็ด ยโสธร มหาสารคาม อำนาจเจริญ อุบลราชธานี ศรีสะเกษ และสุรินทร์ รวมตัวกัน ที่บ้านเลขที่ 117 หมู่ที่ 10 ตำบลโพธิ์ใหญ่ อ.พนมไพร จ.ร้อยเอ็ด ของนางกัญจนพร สังฆะกาโล ร่างหนังสือร้องขอความเป็นธรรม และเตรียมเอกสารหลักฐาน เพื่อยื่นร้องทุกข์ ต่อ นายภูสิต สมจิตต์ ผวจ.ร้อยเอ็ด และศูนย์ดำรงค์ธรรมจังหวัดร้อยเอ็ด
นางกาญจนพร ตัวแทนเกษตรกร เปิดเผยว่า เนื่องจาก ชาวบ้านผู้ปลูกอินทผลัมทั้งหมด 264 ราย ได้รับความเดือดร้อน จากการถูกชักชวนในลักษณะการโฆษณาชวนเชื่อ และได้รับการชักชวนจากประธานบริษัทแห่งหนึ่ง เข้ามาแนะนำ และชักชวนในลักษณะโฆษณาชวนเชื่อ เข้าร่วมโครงการส่งเสริมการปลูกอินทผลัม ด้วยการชักชวนให้ลงทุนซื้อต้นพันธุ์ ไร่ละ 57,000 บาท
และยังอ้างว่า มีโครงการทำสัญญาซื้อคืนผลผลิต เพื่อนำไปแปรรูปจำหน่าย ทำให้เกษตรกรเกิดความเชื่อถือ หลงเชื่อตามที่อ้างว่าจะมีตลาดรองรับที่มั่นคงและถึงเวลาเก็บเกี่ยวผลผลิตจะรับซื้อทั้งหมดในราคาประกัน จึงไปชักชวนกันเข้าร่วมโครงการและเอาเงินมาร่วมลงทุน
นอกจากนี้ในช่วงระยะเวลาที่ส่งเสริมการปลูก ยังได้เชิญชวนเกษรกรที่เข้าร่วมโครงการ ให้ลงทุนร่วมหุ้นกับโครงการอีกด้วย โดยให้ร่วมลงทุนหุ้นละ 5,550 บาทได้ไม่จำกัดจำนวน และผู้เข้าร่วมหุ้นจะได้รับเงินปันผล ภายใน 8 เดือน ถึง 1 ปี จะได้เงินคืนหุ้นละ 23,560 บาท โดยแต่ละหุ้นจะได้รับผลประโยชน์ตลอดชีพ ตราบที่ยังไม่ถอนหุ้น
ปรากฏว่า ผ่านไป 3 ปี กลุ่มผู้ลงทุนทั้งสิ้น 264 ราย ที่เอาเงินมาลงทุนไปกว่า 60 ล้านบาทต่างไม่มีใครได้รับเงินคืนและได้รับความเดือดร้อนจากการที่ต้องใช้หนี้เงินกู้ ที่พากันไปกู้เงินลงทุนหวังกำไร และสุดท้ายบริษัทกลับไม่รับผิดชอบ ทำตามคำพูดและไม่รับผิดชอบเรื่องที่เกิดขึ้น จึงต้องรวมตัวกันมาร้อง ผวจ.และศูนย์ดำรงธรรมและส่วนที่เกี่ยวข้องให้ความช่วยเหลือ”
นางกาญจนาพร กล่าวเพิ่มเติมว่า “..เกษตรรกรที่เข้าร่วมโครงการ ต่างต้องดิ้นรนช่วยเหลือตัวเองเพราะใช้เล่ห์เหลี่ยมสารพัด แม้แต่การสัญญาว่าจะรับซื้อผลผลิต ก็อ้างว่าผลเล็กไม่ได้ขนาดจึงไม่ซื้อ จนต้องดิ้นรนขายผลผลิตเพื่อเอาตัวรอดกันเอง และรวมทั้งต้องหาทางออกด้วยการแปรรูป เป็นลักษณะปลาร้าอินทผลัม ขายเพื่อลดการขาดทุน แต่ก็ยังไม่คุ้มทุน จึงต้องมาร้องขอความช่วยเหลือจากศูนย์ดำรงธรรม”
ทั้งนี้ศูนย์ดำรงธรรมจังหวัดร้อยเอ็ด ได้รับเรื่องราวร้องทุกข์ ซึ่งมีนายประกร เทศทำนุ อัยการพิทักษ์สิทธิ์จากสำนักงานอัยการจังหวัด นายศรายุทธิ์ เชื้ออ่อน จากศูนย์ดำรงธรรมจังหวัด, พ.ต.ต.สุริยา แสงอ่อนตา รอง ผกก.สอบสวน และ ผอ.กลุ่มงานยุทธศาสตร์และข้อมูลเพื่อการพัฒนาจังหวัด ร่วมรับฟังและให้คำแนะนำให้กับตัวแทนผู้เดือดร้อน 20 คน จาก 7 จังหวัดในการหาทางออก
เบื้องต้นแนะนำให้ผู้ที่ได้รับความเสียหายและได้รับผลกระทบ รวบรวมพยานหลักฐานที่มี ไปแจ้งความร้องทุกข์กล่าวโทษ กับพนักงานสอบสวนหรือตำรวจในพื้นที่จังหวัดของแต่ละคน เพื่อเอาผิดกับผู้หลอกลวงตามพยานหลักฐานก่อน ซึ่งหากยังไม่ได้รับความช่วยเหลือจากพนักงานสอบสวนของแต่ละพื้นที่จังหวัดหรือมีเหตุติดขัด ก็ให้นำเรื่องเสนอขอความช่วยเหลือจากศูนย์ดำรงธรรมแต่ละจังหวัดในพื้นที่ เพื่อหาทางช่วยเหลือต่อไป