ย้อนไปในอดีตชาวบ้าน “บ้านฮูแตทูวอ” หมู่ 4 ต.โคกเคียน อ.เมือง จ.นราธิวาส มีชีวิตค่อนข้างลำบาก เพราะทำมาหากินไม่คล่องตัว โดยเฉพาะในช่วงมรสุมที่ไม่สามารถออกไปทำประมงได้ หรือหากจะทำการเกษตรก็ขาดแคลนน้ำเพราะพื้นที่เป็นดินทราย
แต่เมื่อปี 2559 สถาบันส่งเสริมและพัฒนากิจกรรมปิดทองหลังพระ สืบสานแนวพระราชดำริ เข้ามาส่งเสริมสนับสนุนและน้อมนำแนวพระราชดำริ มาปรับใช้จนกลายเป็นแหล่งผลิตอาหารที่ปลอดภัย นำไปสู่ชุมชนมีคุณภาพ พึ่งพาตนเองได้โดยร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐในพื้นที่เน้นสร้างแหล่งน้ำและให้ความรู้เรื่องการทำเกษตรทั้งปลูกพืชและเลี้ยงสัตว์ ทำให้ชีวิตความเป็นอยู่ดีขึ้น
มาวันนี้เกษตรกรที่ “บ้านฮูแตทูวอ” มีผลผลิตทางการเกษตรหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็น เมลอนหลากสายพันธุ์ มะเขือเทศ ฟักทองลายทองพันธุ์ไต้หวัน และพืชผักสวนครัวต่าง ๆ สร้างรายได้เสริมให้แต่ละครอบครัว มีรายได้สามารถส่งลูกเรียนหนังสือในระดับอุดมศึกษาได้
นางรอมละ นิดิง วัย 45 ปี เป็นเกษตรกร “บ้านฮูแตทูวอ” อีก 1 ราย ที่เข้าร่วมโครงการ โดยปลูกเมลอนและมะเขือเทศที่ศูนย์ไร่เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงบ้านฮูแตทูวอ เธอเล่าว่า ก่อนหน้านี้ ทำอาชีพตัดเย็บผ้า แต่หยุดทำไปหลายปีแล้ว เนื่องจากไม่มีงาน ส่วนสามีทำอาชีพรับจ้างทั่วไปและก่อสร้าง เวลาอยู่บ้านจะปลูกผักรอบ ๆ บ้าน ช่วงแรกยังไม่ได้ปลูกขาย ทำแค่นิด ๆ หน่อย ๆ เอาไว้กินเพราะมีพื้นที่แค่นิดเดียว
จนปี 2563 รอมละได้เข้าร่วมโครงการ โดยเริ่มปลูกเมลอนและมะเขือเทศ ในโรงเรือนจำนวน 2 แปลง แต่ละรอบในการปลูกใช้เวลาประมาณ 2 เดือนเศษ หรือประมาณ 70 วัน ก็สามารถสร้างรายได้โรงเรือนละประมาณ 15,000-20,000 บาทแล้ว ซึ่งถือว่าเป็นรายได้ที่ดีพอเลี้ยงชีพได้ ช่วยเพิ่มรายได้สำหรับเป็นค่าใช้จ่ายให้กับครอบครัว รวมทั้งเป็นค่าเล่าเรียนของลูก ๆ ด้วย
นางรอมละ ให้ข้อมูลอีกว่า แต่ก่อนปลูกเมลอนพันธุ์ไข่ทองคำ เปลือกสีเหลือง ไม่มีลาย ผิวเรียบ แต่ตอนนี้ปลูกพันธุ์หิมาลัย 99 สีส้มแทน เพราะลูกค้าชอบ กรอบหวานดี และลูกใหญ่ ได้น้ำหนักลูกละ 2.5 – 3กิโลกรัม ขายกิโลกรัมละ 80 บาท มีลูกค้ามาซื้อถึงในแปลง บางส่วนนำไปขายที่ศาลากลางจังหวัดนราธิวาส และหน่วยราชการต่าง ๆ ซึ่งนอกจากทางกลุ่มจะหาตลาดเองแล้ว ก็ยังมีทางปิดทองฯ ช่วยประสานหาตลาดให้ด้วย
ทั้งนี้ จะปลูกเมลอนช่วงหลังน้ำท่วม โดยก่อนหรือต้นฤดูฝนจะไม่ปลูกเลย ซึ่ง 1 ปีปลูกแค่ 2 รอบ เพื่อพักโรงเรือน โดยจะสลับกับการปลูกมะเขือเทศพันธุ์ราชินีที่ใช้เวลาประมาณ 3 เดือน โดยมะเขือเทศขายได้กิโลกรัมละ 60 – 80 บาท ซึ่งถ้าบำรุงต้นดี ๆ ต้นไม่โทรม จะสามารถเก็บลูกได้ถึง 6 เดือน
นางรอมละ กล่าวว่า แม้การปลูกเมลอนจะให้รายได้ที่ดีกว่าปลูกมะเขือเทศแต่ก็ไม่ใช่เรื่องง่ายนัก เพราะมีความเสี่ยงอยู่เหมือนกัน เนื่องจากบางครั้งเจอแมลง และถ้าเจอฝนจะเกิดโรคเชื้อราน้ำค้าง บางทีเอาไม่อยู่ก็ต้องปล่อยไป อย่างไรก็ตามที่ผ่านมาแก้ปัญหาด้วยการใส่ไตรโคเดอร์มาในหลุมปลูกส่วนเรื่องน้ำไม่มีปัญหาเนื่องจากมีน้ำประปาจากโครงการปิดทองหลังพระฯ ไว้ใช้รดพืชผัก และใช้อุปโภคบริโภคในครัวเรือนได้ตลอด
“การปลูกเมลอนช่วงแรกเป็นการลองผิดลองถูก แม้จะปลูกมาหลายรอบแล้วแต่ก็ยังเจอปัญหาอยู่บ้าง หลังจากนี้คิดว่าจะปลูกเมล่อนไปเรื่อย ๆ เพราะทำให้มีรายได้เพิ่มขึ้น ทุกวันนี้มีความสุขมากขึ้น ความกังวลลดลง เนื่องจากเมื่อก่อนกังวลเรื่องรายได้ และน้ำในการใช้สอย ดีใจที่ได้ร่วมโครงการปิดทองฯ เพราะช่วยให้เรามีฐานะที่ดีขึ้น มีเงินช่วยส่งลูกเรียน ไม่ต้องพึ่งรายได้จากสามีคนเดียว พูดได้ว่าปลูกเมล่อนคุ้มมาก” นางรอมละกล่าว
นับเป็นเกษตรกรของ ”บ้านฮูแตทูวอ” ที่หันมาปลูกเมลอนและมะเขือเทศอย่างจริงจังและต่อเนื่อง ที่สำคัญสามารถแก้ปัญหาอุปสรรคที่เกิดขึ้นได้ ส่งผลให้ผลผลิตเป็นที่ต้องการของลูกค้า