รองอธิบดีกรมชลฯ ลงพื้นที่ติวเข้มรับมือสถานการณ์น้ำเจ้าพระยา

28ก.ค.65 ดร.ทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน พร้อมคณะลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์น้ำและการเตรียมความพร้อมรับมือน้ำหลากในช่วงฤดูฝนปี 65 พื้นที่ลุ่มเจ้าพระยาฝั่งตะวันตก โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษายางมณีและโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาผักไห่ สำนักงานชลประทานที่12 โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาเจ้าเจ็ด-บางยี่หน โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาพระยาบรรลือ โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาพระพิมล สำนักงานชลประทานที่11โดยมีผู้อำนวยการสำนัก ผู้อำนวยการโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาที่เกี่ยวข้อง ร่วมลงพื้นที่

295481652 432601292246283 4591711832563096732 n
ติวเข้มรับมือสถานการณ์น้ำ

ดร.ทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลฯ เปิดเผยว่า เนื่องจากในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา เกิดฝนตกหนักต่อเนื่องในพื้นที่ตอนบนของประเทศจนส่งผลให้ปริมาณน้ำท่าในแม่น้ำสายหลักเพิ่มสูงขึ้นโดยเฉพาะแม่น้ำเจ้าพระยา กรมชลประทาน ได้ทำการบริหารจัดการน้ำในลุ่มน้ำเจ้าพระยาเข้าระบบชลประทานฝั่งซ้ายและขวาตามศักยภาพของลำน้ำ พร้อมใช้เขื่อนเจ้าพระยาบริหารจัดการน้ำทางตรง ควบคุมการระบายน้ำผ่านอาคารชลประทาน และประตูระบายน้ำที่เชื่อมต่อกันในพื้นที่อย่างเป็นระบบ

296445551 432597388913340 5277324592000771824 n 1
สถานการณ์น้ำเจ้าพระยา

รวมทั้งได้เฝ้าระวังติดตามสภาพอากาศ และสถานการณ์น้ำในช่วงฤดูฝนอย่างใกล้ชิด นำข้อมูลมาวิเคราะห์ เพื่อบริหารจัดการน้ำให้สอดคล้องกับสถานการณ์และเป็นไปตามเกณฑ์ที่กำหนด ตรวจสอบความมั่นคงและความพร้อมของอาคารชลประทาน ประตูระบายน้ำ ให้พร้อมใช้งานได้อย่างเต็มศักยภาพ จัดเตรียมเครื่องจักรเครื่องมือพร้อมช่วยเหลือพื้นที่ประสบภัยได้ทันที หมั่นกำจัดสิ่งกีดขวางทางน้ำมาอย่างต่อเนื่อง

ที่สำคัญได้ร่วมบูรณาการกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ในการแจ้งเตือนประชาชนถึงสถานการณ์น้ำให้รับรู้รับทราบอย่างทั่วถึง ซึ่งเป็นไปตามมาตรการรับมือฤดูฝนปี 65 ที่กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) กำหนดอย่างเคร่งครัด เพื่อให้การบริหารจัดการน้ำเป็นไปตามแผน สามารถลดผลกระทบที่จะเกิดกับประชาชนให้ได้มากที่สุด

ก่อนหน้านี้นายประพิศ จันทร์มา อธิบดีกรมชลปะทาน เปิดเผยว่า ตามที่กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) ได้คาดการณ์ว่า ช่วงวันที่ 28 กรกฎาคม – 1 สิงหาคม 2565 เวลาประมาณ 19.00 – 22.00 น. จะมีน้ำทะเลหนุนสูงในแม่น้ำเจ้าพระยาบริเวณป้อมพระจุลจอมเกล้า จังหวัดสมุทรปราการและพื้นที่ใกล้เคียง ประกอบกับในพื้นที่ตอนบนยังคงมีฝนตกเพิ่มมากขึ้น ทำให้กรมชลประทาน ยังคงมีความจำเป็นต้องระบายน้ำผ่านท้ายเขื่อนเจ้าพระยาในอัตรา 1,000 – 1,250 ล้าน ลบ.ม. ซึ่งจะส่งผลให้ระดับน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาตอนล่างเพิ่มสูงขึ้น

คาดการณ์ว่าในช่วงวันที่ 28 กรกฎาคม – 1 สิงหาคม 2565 ระดับน้ำอาจเพิ่มสูงขึ้นประมาณ 1.90 – 2.10 เมตร จากระดับทะเลปานกลาง อาจส่งผลกระทบต่อบริเวณพื้นที่ชุมชนนอกแนวคันกั้นน้ำและแนวเขื่อนชั่วคราวบริเวณที่ไม่มีแนวป้องกันน้ำถาวร (แนวฟันหลอ) ในพื้นที่จังหวัดนนทบุรี สมุทรปราการ และกรุงเทพมหานครได้นั้นเพื่อเป็นการเตรียมพร้อมรับมือสถานการณ์น้ำที่อาจจะเกิดขึ้น จึงได้กำชับไปยังสำนักงานชลประทานที่ 11 สำนักเครื่องจักรกล และสำนักงานชลประทานในพื้นที่ใกล้เคียง ให้เฝ้าระวังติดตามสภาพอากาศและสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด พร้อมปรับแผนบริหารจัดการน้ำในอ่างเก็บน้ำ เขื่อนระบายน้ำ และประตูระบายน้ำ ให้สอดคล้องกับสถานการณ์ ตรวจสอบความมั่นคงของอาคารป้องกันริมแม่น้ำ เสริมคันกั้นน้ำบริเวณจุดเสี่ยงพื้นที่ลุ่มต่ำริมแม่น้ำ

รวมทั้งประชาสัมพันธ์แจ้งเตือนประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ริมน้ำนอกแนวคันกั้นน้ำ และแนวเขื่อนชั่วคราวในบริเวณที่ไม่มีแนวป้องกันน้ำถาวร (แนวฟันหลอ) รวมไปถึงพื้นที่จุดเสี่ยงที่เป็นพื้นที่ลุ่มต่ำตามริมแม่น้ำให้ทราบล่วงหน้า พร้อมเตรียมเครื่องจักร เครื่องมือ พร้อมให้ความช่วยเหลือและบรรเทาผลกระทบต่อประชาชนได้ทันที