เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษาวันที่ ๒๖ พฤศจิกายน พ.ศ.๒๕๖๗ เผยแพร่” กฎกระทรวงการฝากเงินและการลงทุนของสหกรณ์ออมทรัพย์และสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนพ.ศ. ๒๕๖๗” ความว่า อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๕ วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติสหกรณ์ พ.ศ. ๒๕๔๒ และมาตรา ๘๙/๒ (๘) และมาตรา ๑๐๕ วรรคสาม แห่งพระราชบัญญัติสหกรณ์ พ.ศ. ๒๕๔๒ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติสหกรณ์ (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๕๖๖๒ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ออกกฎกระทรวงไว้ ดังต่อไปนี้
ข้อ ๑ ในกฎกระทรวงนี้
“สหกรณ์” หมายความว่า สหกรณ์ประเภทสหกรณ์ออมทรัพย์และสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนตามกฎหมายว่าด้วยสหกรณ์
“ชุมนุมสหกรณ์” หมายความว่า ชุมนุมสหกรณ์ออมทรัพย์และชุมนุมสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนตามกฎหมายว่าด้วยสหกรณ์
“หลักทรัพย์” หมายความว่า หลักทรัพย์ตามกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์
“หลักทรัพย์ของรัฐบาล” หมายความว่า หลักทรัพย์ที่ออกโดยรัฐบาล และให้หมายความรวมถึงหลักทรัพย์ที่ออกโดยธนาคารแห่งประเทศไทยด้วย
“หลักทรัพย์ของรัฐวิสาหกิจ” หมายความว่า หลักทรัพย์ที่ออกโดยรัฐวิสาหกิจตามกฎหมายว่าด้วยการพัฒนาการกำกับดูแลและบริหารรัฐวิสาหกิจ และให้หมายความรวมถึงหลักทรัพย์ที่ออกโดยรัฐวิสาหกิจอื่นที่รัฐมนตรีประกาศกำหนด
ข้อ ๒ การที่สหกรณ์หรือชุมนุมสหกรณ์จะนำเงินไปฝากหรือไปลงทุนตามมาตรา ๖๒ให้คำนึงถึงความมั่นคง สภาพคล่องของเงินฝากหรือหลักทรัพย์ และผลประโยชน์ตอบแทนของการฝากเงินหรือการลงทุน ตลอดจนความเสี่ยงในการบริหารจัดการเป็นสำคัญ และให้ดำเนินการให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข ตามที่กำหนดในกฎกระทรวงนี้
ข้อ ๓ ให้สหกรณ์หรือชุมนุมสหกรณ์ฝากเงินหรือลงทุนในนิติบุคคลแต่ละแห่งได้ไม่เกินร้อยละสิบของทุนเรือนหุ้นรวมกับทุนสำรองของสหกรณ์หรือชุมนุมนุมสหกรณ์นั้น เว้นแต่เป็นการฝากเงินในชุมนุมสหกรณ์ที่สหกรณ์นั้นเป็นสมาชิก หรือเป็นการลงทุนในหลักทรัพย์ของรัฐบาลให้สามารถฝากเงินหรือลงทุนเกินร้อยละสิบของทุนเรือนหุ้นรวมกับทุนสำรองของสหกรณ์หรือชุมนุมสหกรณ์นั้นได้
ข้อ ๔ การฝากเงินหรือการลงทุนดังต่อไปนี้ เมื่อนำมารวมกันแล้วต้องไม่เกินทุนเรือนหุ้น รวมกับทุนสำรองของสหกรณ์หรือชุมนุมสหกรณ์นั้น รวมทั้งต้องได้รับความเห็นชอบแผนและวงเงินการลงทุน จากที่ประชุมใหญ่ของสหกรณ์หรือชุมนุมสหกรณ์นั้น
(๑) ซื้อหลักทรัพย์ของรัฐวิสาหกิจที่กระทรวงการคลังไม่ค้ำประกัน
(๒) ซื้อหุ้นของธนาคารที่มีวัตถุประสงค์เพื่อให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่สหารม
(๓) ซื้อหุ้นของสถาบันที่ประกอบธุรกิจอันทำให้เกิดความสะดวกหรือส่งเสริมความเจริญแก่กิจการของสหกรณ์ โดยได้รับความเห็นชอบจากนายทะเบียนสหกรณ์
(๔) ฝากหรือลงทุนอย่างอื่นตามที่คณะกรรมการพัฒนาการสหกรณ์แห่งชาติกำหนด
ข้อ ๕ สหกรณ์หรือชุมนุมสหกรณ์อาจมอบหมายให้นิติบุคคลที่ได้รับอนุญาตให้จัดการกองทุนส่วนบุคคลตามกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์เป็นผู้ดำเนินการจัดการลงทุนแทนได้โดยต้องกำหนดให้กองทุนส่วนบุคคลมีวัตถุประสงค์ในการลงทุนตามมาตรา ๖๒ และให้นำความในข้อ ๓ และข้อ ๔ มาใช้บังคับแก่การลงทุนของกองทุนส่วนบุคคลดังกล่าวด้วย
ข้อ ๖ ในกรณีที่สหกรณ์หรือชุมนุมสหกรณ์ใดมีการฝากเงินหรือลงทุนในนิติบุคคลแต่ละแห่งไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดในข้อ ๓ อยู่ในวันที่กฎกระทรวงนี้มีผลใช้บังคับ แต่มีสัญญาการฝากเงินหรือการลงทุนต่อกันไว้ ให้สหกรณ์หรือชมนุมสหกรณ์สามารถฝากเงินหรือลงทุนในนิติบุคคลดังกล่าวต่อไปได้จนกว่าจะครบกำหนดตามสัญญา สำหรับกรณีที่การฝากเงินหรือการลงทุนไม่มีกำหนดระยะเวลาสิ้นสุดให้สหกรณ์หรือชุมนุมสหกรณ์ดำเนินการแก้ไขให้เป็นไปตามที่กำหนดในกฎกระทรวงนี้ภายในระยะเวลาห้าปีนับแต่วันที่กฎกระทรวงนี้ใช้บังคับ โดยสหกรณ์หรือชุมนุมสหกรณ์ต้องเสนอแผนให้ที่ประชมใหญ่เห็นชอบและรายงานให้ที่ประชุมใหญ่ทราบเป็นประจำทุกปี
ข้อ ๗ ในกรณีที่สหกรณ์หรือชุมนุมสหกรณ์ใดมีการฝากเงินหรือลงทุนไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดในข้อ ๕ อยู่ในวันที่กฎกระทรวงนี้มีผลใช้บังคับ ให้ดำเนินการแก้ไขให้เป็นไปตามที่กำหนดในกฎกระทรวงนี้ภายในระยะเวลาสิบปีนับแต่วันที่กฎกระทรวงนี้ใช้บังคับ โดยสหกรณ์หรือชุมนุมสหกรณ์ต้องเสนอแผนให้ที่ประชุมใหญ่เห็นชอบและรายงานให้ที่ประชุมใหญ่ทราบเป็นประจำทุกปี
ข้อ ๘ ในกรณีที่สหกรณ์หรือชุมนุมสหกรณ์ได้มอบหมายให้นิติบคคลที่ได้รับอนุญาตให้จัดการกองทุนส่วนบุคคลตามกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์เป็นผู้ดำเนินการจัดการกองทุนส่วนบุคคลอยู่ก่อนวันที่กฎกระทรวงนี้ใช้บังคับ ให้นำความในข้อ ๖ และข้อ ๗ มาใช้บังคับแก่การจัดการกองทุนส่วนบุคคลดังกล่าวด้วยโดยอนุโลม
ให้ไว้ ณ วันที่ ๒๖ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๖๗
นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์
หมายเหตุ เหตุผลในการประกาศใช้กฎกระทรวงฉบับนี้ คือ โดยที่มาตรา ๘๙/๒ (๘) และมาตรา ๑๐๕ วรรคสาม แห่งพระราชบัญญัติสหกรณ์ พ.ศ. ๒๕๔๒ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติสหกรณ์ (ฉบับที่ ๓)พ.ศ. ๒๕๖๒ กำหนดให้การฝากเงินหรือการลงทุนของสหกรณ์ออมทรัพย์และสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนเป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่กำหนดในกฎกระทรวง จึงจำเป็นต้องออกกฎกระทรวงนี้