“มังคุดทิพย์พังงา” GI ผลไม้ของเทวดา รสเลิศจาก จังหวัดพังงา

“มังคุดทิพย์พังงา” (Thip Phang-Nga Mangosteens หรือ Mung Kud Thip Phang-Nga) หมายถึง มังคุดพันธุ์พื้นเมือง ผลทรงกลม เปลือกค่อนข้างหนา แห้ง แตกลาย เนื้อสีขาว หนานุ่ม ไม่ฉ่ำน้ำ รสชาติหวานอมเปรี้ยว ปลูกและผลิตในเขตพื้นที่จังหวัดพังงา ทั้งนี้กรมทรัพย์สินทางปัญญา ประกาศให้ขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ ( GI ) “มังคุดทิพย์พังงา “เมื่อ 16 ต.ค. พ.ศ.2566

มังคุดทิพย์

กระบวนการผลิต

วัตถุดิบ

ต้องเป็นต้นพันธุ์พื้นเมือง จากพื้นที่จังหวัดพังงา หรือจากแหล่งอื่นที่เชื่อถือได้ เช่น ต้นพันธุ์จากจังหวัดนครศรีธรรมราช ต้นพันธุ์จากจังหวัดสุราษฎร์ธานี เป็นต้น

การเตรียมต้นพันธุ์

มังคุดทิพย์พังงา ต้องเป็นต้นพันธุ์พื้นเมืองที่มีคุณภาพดี สามารถขยายพันธุ์ได้ด้วยวิธีการเพาะเมล็ดโดยเมล็ดที่นำมาเพาะควรได้จากผลที่แก่จัดและเป็นผลที่ยังสดอยู่ หรือวิธีการเสียบยอด ต้องใช้ต้นตอที่มาจากการเพาะเมล็ด มีอายุประมาณ 2 ปี ยอดพันธุ์ที่ใช้ต้องเป็นยอดพันธุ์จากต้นที่สมบูรณ์และให้ผลผลิตมาแล้ว

275519

การปลูก

(1) การเตรียมพื้นที่ปลูก หากเป็นพื้นที่ทำการเกษตรใหม่ ควรปรับสภาพพื้นที่ให้เรียบ ไถพรวน กำจัดวัชพืช หรือวิธีอื่นที่เหมาะสมกับพื้นที่

(2) การกำหนดระยะปลูกที่เหมาะสม ควรมีระยะห่างระหว่างต้นในช่วง 8 – 10 เมตร หรือตามความเหมาะสมของพื้นที่

(3) การเตรียมหลุมปลูก สามารถทำได้ทั้งแบบขุดหลุม แบบนั่งแท่น แบบยกโคก หรือพิจารณาตามความเหมาะสมของพื้นที่ โดยชุดให้มีขนาดพอเหมาะ รองก้นหลุมด้วยปุ๋ยมูลสัตว์ เศษหญ้า เศษใบไม้หรืออินทรียวัตถุอื่นๆ ตามความเหมาะสมของสภาพดิน

(4) การปลูก นำต้นกล้าลงปลูกตรงกลางหลุมให้ลึกเท่ากับระดับดินเดิม แล้วพูนดินบริเวณโคนต้นให้เป็นเนินสูงขึ้นมาเล็กน้อย ใช้ไม้ปักเป็นหลักผูกยึดไว้ เพื่อป้องกันลมพัดโยก จากนั้นรดน้ำตามทันที อาจใช้วัสดุธรรมชาติ หรือตาข่าย ช่วยพรางแสงแดด หรือใช้วิธีปลูกต้นไม้โตเร็วช่วยพรางแสงได้

การดูแลรักษา

(1) การให้น้ำ ต้นมังคุดปลูกใหม่ต้องให้น้ำอย่างสม่ำเสมอ ปริมาณและความถี่ของการให้น้ำขึ้นอยู่กับ สภาพความชื้นของดิน จะต้องให้ดินมีความชื้นอยู่เสมอ

(2) การใส่ปุ๋ย เพื่อบำรุงผลหลังจากดอกบานและติดผล และฟื้นฟูต้นหลังเก็บเกี่ยวผลผลิต

(3) การกำจัดศัตรูพืช และโรคพืช สามารถทำได้หลายวิธี เช่น การดูแลรักษาแปลงให้สะอาดโดยเฉพาะโคนต้นและลำต้นไม่ให้เป็นที่อยู่ของแมลง ตัดแต่งกิ่งทรงพุ่มให้แสงแดดส่องถึงเพื่อลดความชื้นในทรงพุ่ม เป็นต้น

(4) การตัดแต่งกิ่ง ควรทำการตัดแต่งกิ่งที่ถูกโรคแมลงทำลายกิ่งฉีกหัก เสียหาย กิ่งตาย และกิ่งที่เบียดกัน เพื่อให้ทรงพุ่มโปร่ง และช่วยให้แสงแดดส่องเข้าได้

275486206 739737987412142 4952709081223801676 n


การเก็บเกี่ยว

(1) ระยะเวลาที่เหมาะสมในการเก็บเกี่ยวมังคุดทิพย์พังงา คือ ช่วงเดือนพฤษภาคม – เดือนสิงหาคม เนื่องจากการออกดอกของมังคุดจะทยอยออก เป็นผลให้การเก็บเกี่ยวมังคุดต้องทยอยเก็บเกี่ยวเช่นเดียวกัน

(2) วิธีการเก็บเกี่ยว สามารถเก็บเกี่ยวได้หลายวิธี เช่น การใช้มือบิดขั้วผล การใช้เครื่องมือสอยจะต้องเลือกเครื่องมือที่ไม่ทำให้มังคุดเกิดแผล รอยขีดข่วน จะต้องเก็บเกี่ยวอย่างระมัดระวัง และใช้ภาชนะใส่ผลมังคุดระหว่างเก็บเกี่ยวที่เหมาะสม

(3) การขนย้าย การขนย้ายหรือลำเลียงจากสวนไปยังโรงเรือนคัดบรรจุ หรือแหล่งรวบรวมผลผลิตจะต้องขนย้ายด้วยภาชนะ ที่สามารถป้องกันการกระแทก หรือทำให้เกิดรอยขูดขีด

(4) การคัดมังคุด คัดผลที่มีคุณภาพดี ไม่มีรอยร้าว รอยบุบที่ผิว คัดแยกมังคุดตามขนาด และสีของผลมังคุดตามความต้องการ

(5) กรณีเพื่อการส่งออก ต้องทำความสะอาดผลบริเวณใต้กลีบเลี้ยง เพื่อกำจัดฝุ่นผง ไล่แมงมุมหรือแมลงอื่นที่อาจเข้าไปอาศัยอยู่ และเก็บผลผลิตไม่ให้โดนแสงแดดโดยตรง ไม่ควรวางบนพื้นดิน หรือพื้นปูนโดยตรง

ลักษณะภูมิประเทศ

จังหวัดพังงา ตั้งอยู่ในภาคใต้ชายฝั่งทะเลด้านตะวันตก พื้นที่จังหวัดพังงา มีลักษณะเป็นรูปยาวรีวางตัวตามแนวทิศเหนือ – ใต้ ประกอบด้วยภูเขาสลับซับซ้อนมากมาย ภูมิประเทศจะลาดเทไปทางทิศศตะวันตกจากแนวเทือกเขายาวที่กั้นอยู่ทางด้านทิศตะวันออกเป็นแนวแบ่งเขตจังหวัดสุราษฎร์ธานี และจังหวัดกระบี่ มีที่ราบเพียงเล็กน้อยบริเวณใกล้กับชายฝั่งทะเล และตามหุบเขาต่างๆ มีชายฝั่งทะเลยาวประมาณ 239.3 กิโลเมตร มีเกาะน้อยใหญ่มากถึง 150 เกาะ สภาพพื้นที่ส่วนใหญ่มีความลาดชัน ดินมีการระบายน้ำดี

ลักษณะภูมิอากาศ

จังหวัดพังงาเป็นจังหวัดที่อยู่ติดทะเล มีภูมิอากาศแบบมรสุมเมืองร้อน ได้รับอิทธิพลของลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ และมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือ ทำให้มี 2 ฤดู คือ ฤดูฝน เริ่มประมาณเดือนพฤษภาคม -เดือนธันวาคม ทำให้เกิดฝนตกชุกตลอดพื้นที่ทั้งจังหวัด และฤดูร้อน ประมาณเดือนมกราคม -เดือนเมษายน ทำให้อากาศร้อนอบอ้าวและเป็นช่วงแล้งคั่นซึ่งมีอุณหภูมิสูงสุดเฉลี่ย33.60 องศาเซลเซียส อุณหภูมิต่ำสุดเฉลี่ย 22.08 องศาเซลเชียส อุณหภูมิเฉลี่ยตลอดทั้งปี 27.84 องศาเซลเซียส ความชื้นสัมพัทธ์เฉลี่ยตลอดปี ร้อยละ 83

ด้วยสภาพภูมิประเทศและภูมิอากาศดังกล่าว ประกอบกับกระบวนการปลูกมังคุดของเกษตรกรชาวพังงาที่เน้นการดูแลรักษาแบบธรรมชาติ จึงเกิดเพลี้ยไฟในช่วงออกดอกและติดผลอ่อน ซึ่งมีผลดีคือ ทำให้โครงสร้างของผิวเปลือกเปลี่ยนแปลงมีรอยแยกระหว่างเซลล์เกิดเป็นช่องว่างบนผิว เป็นผลให้ผิวของผลมังคุดส่วนใหญ่ มีลักษณะเป็นลายทำให้ระบายน้ำในผลออกมาได้ดี ส่งผลให้เนื้อมังคุดสีขาว แห้ง ไม่ฉ่ำน้ำและเปลือกมังคุดค่อนข้างหนาทำให้เนื้อมังคุดไม่ซ้ำง่าย

ประวัติความเป็นมา

มังคุดเป็นพืชเศรษฐกิจที่สำคัญของจังหวัดพังงา เป็นไม้ผลที่มีการเพาะปลูกกันมายาวนาน เป็นสินค้าที่มีชื่อเสียงและมีผลผลิตจำหน่ายทั้งในและนอกจังหวัด ปัจจุบันมีพื้นที่การเพาะปลูกเป็นอันดับที่ 3 รองจากปาล์มน้ำมัน และยางพารา และเมื่อปี พ.ศ. 2547 สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้เสด็จฯ มาเปิดโรงเรียนคุระบุรี ชาวบ้านอำเภอกะปง จังหวัดพังงา ได้นำมังคุดขึ้นทูลเกล้าฯ ถวาย เมื่อเสวยมังคุดแล้ว รสชาติเป็นที่ถูกพระทัย ซึ่งได้กล่าวชมมากับ ดร.สุเมธ ตันติเวชกุลเลขาธิการมูลนิธิชัยพัฒนา และ ดร.สุเมธฯ จึงได้ตั้งชื่อมังคุดว่า “ทิพย์พังงา” หมายถึง ผลไม้ของเทวดามีรสเลิศจากจังหวัดพังงา

มังคุดเป็นผลไม้ที่มีรสชาติอร่อย เป็นที่นิยมชมชอบของผู้บริโภคจนได้รับขนานนามว่า “ราชินีแห่งผลไม้เมืองร้อน” และตั้งแต่ปี พ.ศ. 2548 จังหวัดพังงาได้จัดให้มีงาน “เทศกาลวันมังคุด” ขึ้นเพื่อกระตุ้นการท่องเที่ยว และสร้างรายได้เพิ่มขึ้นให้กับท้องถิ่น ที่ผ่านมาหน่วยงานภาครัฐต่างๆ รวมถึงการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ได้เข้ามาช่วยประชาสัมพันธ์สินค้ามังคุดทิพย์พังงา โดยจัดกิจกรรมท่องเที่ยวเชิงเกษตรเชิญนักท่องเที่ยวทั้งไทยและต่างประเทศ เช่น มาเลเซีย สิงคโปร์ ญี่ปุ่น เป็นต้น เข้ามาชิมมังคุดในช่วงฤดูกาลผลไม้ ต่อมาในปี พ.ศ. 2561 จังหวัดพังงาได้จัดงาน “วันผลไม้ และตลาดผลไม้ชุมชน บุฟเฟ่ผลไม้” เพื่อส่งเสริมการบริโภคผลไม้ตามดูกาลและสินค้าเกษตรคุณภาพ ด้วยความมีเอกลักษณ์เฉพาะของผลไม้พังงา ทั้งรสชาติ และคุณภาพ จึงได้มีการส่งเสริมอย่างต่อเนื่อง โดยจัดงาน “ฤดูกาลไม้ผลอัตลักษณ์พังงา” ขึ้นในปี พ.ศ. 2564 เพื่อเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ผลไม้ท้องถิ่นของจังหวัด เพิ่มช่องทางการจำหน่ายผลผลิต ให้แก่เกษตรกรในพื้นที่


ทั้งนี้ขอบเขตพื้นที่การปลูกและผลิต มังคุดทิพย์พังงา ครอบคลุมพื้นที่ทั้งหมดของจังหวัดพังงา

GIregistration213 new661016 page 0006แก้