“ไม้ฮวงหัวลี่” เป็นชื่อเรียกของไม้พะยูงไหหลำและพะยูงเวียดนาม จัดอยู่ในสกุล Dalbergia มีถิ่นกำเนิดในประเทศเวียดนามและลาว เป็นพืชสกุลเดียวกันกับไม้พะยูงของประเทศไทย ซึ่งไม้ต้นในสกุล Dalbergia ทุกชนิด อยู่ในการควบคุมของอนุสัญญาไซเตสและเป็นพืชอนุรักษ์ ตามพระราชบัญญัติพันธุ์พืช พ.ศ. 2518 และที่แก้ไขเพิ่มเติม โดยกรมวิชาการเกษตรเป็นหน่วยงานที่รับผิดชอบการดำเนินงานตามกฎหมายดังกล่าว
ตามกฎหมายพันธุ์พืชผู้เพาะขยายพันธุ์หรือปลูกไม้ฮวงหัวลี่เพื่อการค้า ต้องปฏิบัติดังนี้
1. การเพาะขยายพันธุ์กล้าไม้ฮวงหัวลี่เพื่อการค้า ต้องขึ้นทะเบียนสถานที่เพาะเลี้ยงกับกรมวิชาการเกษตร โดยต้องปฎิบัติตามประกาศกรมวิชาการเกษตร เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการขึ้นทะเบียนสถานที่เพาะเลี้ยงพืชอนุรักษ์ ตามพระราชบัญญัติพันธุ์พืช พ.ศ. 2518 พ.ศ. 2562 ปัจจุบันมีผู้ขึ้นทะเบียนแปลงเพาะกล้ากับกรมวิชาการเกษตร จำนวน 4 ราย ประมาณ 150,000 กล้า โดยนำเข้าเมล็ดพันธุ์มาจากประเทศเวียดนาม
2. การปลูกไม้ต้นฮวงหัวลี่เพื่อการค้า ต้องขึ้นทะเบียนแปลงปลูกกับกรมวิชาการเกษตร โดยต้องปฏิบัติตามประกาศกรมวิชาการเกษตร เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการขึ้นทะเบียนแปลงปลูกพืชอนุรักษ์ประเภทไม้ต้น ตามพระราชบัญญัติพันธุ์พืช พ.ศ. 2518 พ.ศ. 2562 ปัจจุบันมีผู้ขึ้นทะเบียนแปลงปลูกกับกรมวิชาการเกษตร จำนวน 36 ราย จำนวน 5,547 ต้น ทั้งนี้ กล้าไม้ต้องมีแหล่งที่มาที่ถูกต้องตามกฎหมาย เช่น นำเข้าจากต่างประเทศ หรือซื้อจากแปลงเพาะกล้าที่ขึ้นทะเบียนกับกรมวิชาการเกษตร และแปลงปลูกต้องตั้งอยู่บนที่ดินที่มีเอกสารสิทธิ์หรือสิทธิครอบครองที่ถูกต้องตามกฎหมาย
3. การส่งออกไม้ฮวงหัวลี่ ต้องปฏิบัติตามประกาศกรมวิชาการเกษตร เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการนำเข้า ส่งออก หรือนำผ่านพืชอนุรักษ์ ตามพระราชบัญญัติพันธุ์พืช พ.ศ. 2518 พ.ศ. 2562 โดยไม้ที่จะส่งออกต้องได้มาจากแปลงปลูกที่ขึ้นทะเบียนกับกรมวิชาการเกษตร
4. สามารถยื่นคำขอการขึ้นทะเบียนแปลงปลูกไม้ต้นในบัญชีไซเตสเพื่อการส่งออก ผ่านทางระบบบริการออนไลน์ NEW DOA-NSW หากมีข้อสงสัยสามารถติดต่อสอบถามได้ที่ กลุ่มวิจัยอนุสัญญาไซเตสด้านพืช สำนักคุ้มครองพันธุ์พืช กรมวิชาการเกษตร ถนนพหลโยธิน แขวงลาดยาว เขตจตุจักร กรุงเทพฯ 10900 โทร. 0 2940 5687 email: [email protected]
“การขึ้นทะเบียนแปลงเพาะกล้าไม้ฮวงหัวลี่กับกรมวิชาการเกษตร เป็นการรับรองว่ากล้าไม้นั้นมีแหล่งที่มาที่ถูกต้องตามกฎหมายไม่ได้เป็นการรับรองพันธุ์ และการขึ้นทะเบียนแปลงไม้ต้นกับกรมวิชาการเกษตรเป็นการรับรองว่าไม้และผลิตภัณฑ์จากไม้ที่จะทำการค้านั้น ได้มาจากการแปลงปลูกไม่ใช่ไม้ที่นำออกจากป่า”
ที่มา : นางสาวสุมาลี ทองดอนแอ กลุ่มวิจัยอนุสัญญาไซเตสด้านพืช
สำนักคุ้มครองพันธุ์พืช กรมวิชาการเกษตร