ตากาฉ่อ 𝘗𝘩𝘢𝘭𝘢𝘦𝘯𝘰𝘱𝘴𝘪𝘴 𝘥𝘦𝘭𝘪𝘤𝘪𝘰𝘴𝘢 𝘙𝘤𝘩𝘣.𝘧.
กล้วยไม้ชนิดนี้ สำรวจพบที่อุทยานแห่งชาติใต้ร่มเย็น จ.สุราษฎร์ธานี ความสูงจากระดับน้ำทะเล 0 – 600 เมตร เป็นกล้วยไม้อิงอาศัยขนาดเล็ก เจริญทางยอด รากขนาดใหญ่ แบน เกาะติดเปลือกต้นไม้ไปได้ยาว ต้นสั้น มีใบเพียง 2–3 ใบ ใบ รูปรีหรือขอบขนาน สีเขียวเข้มเป็นมัน ขอบใบหยักเป็นคลื่น
.
ช่อดอก สีเขียว ออกที่ข้างลำต้น ห้อยลงหรืออยู่ในแนวระนาบ ยาว 6–12 เซนติเมตร ดอกในช่อทยอยบานจากโคนสู่ปลายช่อ ดอก กว้าง 1.4 เซนติเมตร กลีบสีขาว โคนกลีบมีจุดสีม่วง กลีบเลี้ยงบน รูปขอบขนาน ชี้ขึ้น กลีบเลี้ยงคู่ข้าง ขนาดใหญ่กว่าเล็กน้อย
.
กลีบดอก รูปขอบขนานแกมไข่กลับ กลีบปากส่วนโคนคล้ายถุง หูกลีบ ปากขนาดใหญ่ ชี้ขึ้น คล้ายรูปไข่กลับ สีขาว พาดด้วยเส้นสีม่วง ที่โคนของหูกลีบแต่ละข้างมีสันนูนสีขาว ปลายกลีบปากชี้ไปข้างหน้า คล้ายรูปสี่เหลี่ยมข้าวหลามตัด ปลายสุดสีขาว ตรงกลางหยักลึก โคนแต้มด้วยสีม่วง ตรงฐานของปลายกลีบปากมีกลุ่มเนื้อเยื่อนูน สีขาวคล้ายสันและมีส่วนของเนื้อเยื่อแหลมคล้ายเขี้ยว 2 อันเพิ่มเข้ามา เส้าเกสรยาว 0.4 เซนติเมตร ฝาครอบกลุ่มอับเรณูสีขาว
พบในป่าดิบแล้ง ป่าดิบเขา และป่าดิบชื้น บางครั้งเจริญบนหิน ตามที่ร่มเงา หรือที่มีแสงแดดรำไร
ช่วงเวลาในการออกดอก กันยายน – พฤศจิกายน
ที่มา : ศูนย์วิจัยและพัฒนานวัตกรรมอุทยานแห่งชาติ จังหวัดสุราษฎร์ธานี