งานเข้าซีรีส์ดัง “แม่หยัว” กรมปศุสัตว์ เรียกชี้แจงด่วน กรณีมีการร้องเรียนว่าซีรีส์ดังเรื่องหนึ่ง ได้ออกอากาศ มีฉากที่ “แมวถูกวางยา” หากพบเข้าข่ายทรมานสัตว์ มีโทษหนัก

กรมปศุสัตว์เรียกเจ้าของสัตว์หรือผู้ที่เกี่ยวข้องมาให้ถ้อยคํา หรือส่งเอกสารหรือหลักฐานที่เกี่ยวข้องมาเพื่อชี้แจงกรณีมีการร้องเรียนว่ามีซีรีส์ดังเรื่องหนึ่ง ได้ออกอากาศ โดยมีฉากที่ “แมวถูกวางยา” ซึ่งในฉากแมวดำมีอาการ ตัวกระตุก ตัวเกร็ง พร้อมทั้งมีการขย้อนอาหารออกมา ซึ่งอาจเข้าข่ายทารุณกรรมสัตว์หรือไม่ กรมปศุสัตว์พร้อมบังคับใช้กฎหมายที่เกี่ยวข้องอย่างตรงไปตรงมา และแจ้งผลการตรวจสอบข้อเท็จจริงต่อสาธารณชนต่อไป

35302
นายสัตวแพทย์บุญญกฤช ปิ่นประสงค์

นายสัตวแพทย์สมชวน รัตนมังคลานนท์ อธิบดีกรมปศุสัตว์ ได้มอบหมายให้ นายสัตวแพทย์บุญญกฤช ปิ่นประสงค์ รองอธิบดีกรมปศุสัตว์ แถลงข่าวกรณี ซีรีส์ดังเรื่องหนึ่ง ได้ออกอากาศ โดยมีฉากที่ “แมวถูกวางยา” ซึ่งในฉากแมวดำมีอาการ ตัวกระตุก ตัวเกร็ง พร้อมทั้งมีการขย้อนอาหารออกมา ว่าอาจเข้าข่ายทารุณกรรมสัตว์หรือไม่ ซึ่งขณะนี้กรมปศุสัตว์ได้มอบหมายให้กองสวัสดิภาพสัตว์และสัตวแพทย์บริการส่งหนังสือถึงสถานีโทรทัศน์เพื่อให้ถ้อยคำต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ ในวันที่ 18 พฤศจิกายน พ.ศ. 2567 เพื่อตรวจสอบหาข้อเท็จจริงในกรณีการวางยาสลบแมวเพื่อการแสดงว่าเข้าข่ายการกระทำผิดตาม พ.ร.บ. ป้องกันทารุณกรรมและการจัดสวัสดิภาพสัตว์ พ.ศ. 2557 หรือไม่ ส่วนการกระทำความผิดตามกฎหมายอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง อาทิ พ.ร.บ. วิชาชีพการสัตวแพทย์ พ.ศ. 2545 หรือ พ.ร.บ. ยา พ.ศ. 2510  พนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจจะดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริงเพิ่มเติมที่เกี่ยวข้องต่อไป

35312

พระราชบัญญัติป้องกันการทารุณกรรมและการจัดสวัสดิภาพสัตว์ พ.ศ. 2557 มีบทบัญญัติตามมาตรา 24 กำหนดให้เจ้าของสัตว์หรือผู้มีส่วนเกี่ยวข้องต้องจัดสวัสดิภาพให้เหมาะสมสำหรับการนำสัตว์ไปใช้งานหรือใช้ในการแสดง ทั้งนี้ยังไม่มีการกำหนดขั้นตอนการปฏิบัติในการนำสัตว์มาใช้ในการแสดงไว้เป็นการเฉพาะ แต่อย่างไรก็ตามเจ้าของสัตว์หรือผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องต้องปฏิบัติโดยมีหลักการจัดสวัสดิภาพสัตว์ กล่าวคือ การใช้งานสัตว์ต้องมีการจัดสวัสดิภาพสัตว์ที่เหมาะสม ทั้งอาหาร น้ำ ที่อยู่อาศัย การแสดงออกซึ่งพฤติกรรมธรรมชาติ ได้รับการดูแลสุขภาพอย่างเหมาะสม ไม่ทำให้สัตว์เกิดความหวาดกลัวหรือระแวง ไม่ควรนำสัตว์ไปทำงานอันไม่สมควรที่อาจทำให้สัตว์นั้นเจ็บป่วย หรือเสียชีวิต ซึ่งอาจเข้าข่ายการทารุณกรรมสัตว์ ส่วนการกระทำใดๆ ต่อร่างกายสัตว์ ที่เข้าลักษณะการประกอบวิชาชีพสัตวแพทย์ ต้องกระทำโดยผู้ประกอบวิชาชีพการสัตวแพทย์ ตามกฎหมายว่าด้วยวิชาชีพสัตวแพทย์ โดยข้อยกเว้นตามมาตรา 21 (7), (10), และ (11) แห่งพ.ร.บ.ป้องกันการทารุณกรรมและการจัดสวัสดิภาพสัตว์ พ.ศ. 2557 ต้องเป็นการกระทำโดยผู้ประกอบวิชาชีพการสัตวแพทย์ หรือ การกระทำอื่นใดที่กฎหมายกำหนดไว้เป็นการเฉพาะ หรือ การกระทำอื่นใดตามที่รัฐมนตรีประกาศกำหนดโดยความเห็นของคณะกรรมการป้องกันทารุณกรรมและการจัดสวัสดิภาพสัตว์

35297

ทั้งนี้ กรมปศุสัตว์โดยกองสวัสดิภาพสัตว์และสัตวแพทย์บริการ ในฐานะเป็นพนักงานเจ้าหน้าที่ในความรับผิดชอบตามกฎหมายฉบับนี้ จะดำเนินการใช้อำนาจตามมาตรา 25 (1) มีหนังสือเรียกเจ้าของสัตว์ ผู้แทนองค์กรจัดสวัสดิภาพสัตว์ ผู้ดูแลสถานสงเคราะห์สัตว์หรือผู้ซึ่งเกี่ยวข้องมาให้ถ้อยคํา หรือให้ส่งเอกสารหรือหลักฐานที่เกี่ยวข้องมาเพื่อประกอบการพิจารณาดำเนินการตามพระราชบัญญัตินี้ เพื่อตรวจสอบหาข้อเท็จจริง

ทั้งนี้หากพบว่ามีความผิดตามมาตรา 20 แห่งพระราชบัญญัติป้องกันการทารุณกรรมและการจัดสวัสดิภาพสัตว์ พ.ศ. 2557 จะต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสองปี หรือปรับไม่เกินสี่หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ นอกจากนี้หากเจ้าของสัตว์ไม่ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่รัฐมนตรีประกาศกำหนดตรามมาตรา 22 มาตรา 24 ต้องระวางโทษปรับไม่เกินสี่หมื่นบาท ซึ่งหากพบว่ามีการกระทำผิดจริงทางกรมปศุสัตว์จะดำเนินการแจ้งความต่อพนักงานสอบสวนต่อไป