นายรพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าวว่า จากนโยบาย ของ ศ.ดร นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในการจัดการทรัพยากรทางการเกษตร โดยนำนโยบายโมเดลเศรษฐกิจ BCG มาใช้เป็นแนวทางในการพัฒนาอย่างสมดุลตามเป้าหมาย SDGs ของสหประชาชาติ โดยเน้นย้ำการเพิ่มความยั่งยืนด้าน Food Security ทั้งอาหาร และอาหารสัตว์ มุ่งสู่เป้าหมาย Food Security Goal 2030 ซึ่งถั่วเหลืองเป็นพืชเศรษฐกิจเพื่อความมั่นคงทางอาหาร แต่ด้วยปัญหาการขาดแคลนเมล็ดพันธุ์ ถั่วเหลืองในปัจจุบัน และความต้องการถั่วเหลืองของตลาดภายในประเทศ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์มีนโยบายยกระดับศักยภาพของเกษตรกร/สถาบันเกษตรกรให้เข้มแข็ง โดยการส่งเสริมการทำธุรกิจสหกรณ์การเกษตร และสถาบันเกษตรกรเป็นผู้ให้บริการทางการเกษตร และนโยบายอำนวยความสะดวกด้านการเกษตร โดยการผลักดันนโยบาย ”ตลาดนำ นวัตกรรมเสริม เพิ่มรายได้”
กรมวิชาการเกษตร จับมือพันธมิตร สำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (องค์การมหาชน) สวก. กรมส่งเสริมการเกษตร และกรมส่งเสริมสหกรณ์ จัดทำโครงการพัฒนาศักยภาพการผลิตถั่วเหลือง และถั่วเชียวคุณภาพดีสู่ตลาดเชิงพาณิชย์ โดยได้รับทุนอุดหนุนโครงการวิจัยการเกษตรจาก สวก. ด้านการนำผลงานวิจัยและนวัตกรรมไปใช้ประโยชน์ และ เงินรายได้การดำเนินงานวิจัยด้านการเกษตร กรมวิชาการเกษตร ซึ่งกรมวิชาการเกษตรได้จัดงานวันถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตถั่วเหลืองแบบคาร์บอนต่ำ ในวันที่ 11 พฤศจิกายน 2567 ณ สหกรณ์นิคมแม่แตง จำกัด ต.ขี้เหล็ก อ.แม่แตง จ.เชียงใหม่
อธิบดีกรมวิชาการเกษตร นำเสนอ โมเดลต้นแบบการผลิตถั่วเหลือง แบบ Low carbon ที่มีประสิทธิภาพ อันประกอบด้วย การใช้เมล็ดพันธุ์ดี การใช้ปุ๋ยชีวภาพไรโซเบียม ร่วมกับการใช้ปุ๋ยตามค่าวิเคราะห์ดิน การใช้เครื่องจักรกลเกษตร ได้แก่ เครื่องปลูก และเครื่องเก็บเกี่ยว การจัดการน้ำ ระบบน้ำหยด ร่วมกับปุ๋ยแบบอัตโนมัติ การใช้โดรนในการพ่นสารป้องกันกำจัดโรคและแมลงศัตรูถั่วเหลือง การใช้ชีวภัณฑ์ป้องกันกำจัดศัตรูพืช และการใช้โดรนประเมินผลผลิต ซึ่งจะทำให้สามารถได้ผลผลิตไม่ต่ำกว่า 400 กก./ไร่ สูงกว่าผลผลิตเฉลี่ยของประเทศ 267 กก./ไร่
อธิบดีกรมวิชาการเกษตร และคณะผู้บริหารกรมวิชาการเกษตร ได้ส่งมอบเมล็ดพันธุ์ถั่วเหลืองชั้นพันธุ์ขยาย จำนวน 34 ตัน นำไปผลิตเมล็ดพันธุ์ถั่วเหลืองชั้นพันธุ์หน่าย จำนวน 340 ตัน ในฤดูแล้ง 2567/2568 สามารถรองรับพื้นที่ปลูกถั่วเหลืองได้ไม่น้อยกว่า 22,600 ไร่ ซึ่งจะมีเมล็ดถั่วเหลืองเพิ่มขึ้นในระบบการผลิตไม่น้อยกว่า 6,000 ตัน ให้แก่เครือข่ายเกษตรกรใน 2 โครงการดังนี้
- โครงการวิจัยการพัฒนาศักยภาพการผลิตเมล็ดพันธุ์ถั่วเหลืองและถั่วเขียวคุณภาพดีสู่ตลาดเชิงพาณิชย์ จำนวน 22 ตัน ดังนี้
• สหกรณ์นิคมแม่แตง จำกัด จังหวัดเชียงใหม่ จำนวน 1 ตัน
• สหกรณ์การเกษตรวังชิ้น จำกัด จังหวัดแพร่ จำนวน 6 ตัน
• สหกรณ์การเกษตรหนองวัวซอ จำกัด จังหวัดอุดรธานี จำนวน 2 ตัน
• สหกรณ์การเกษตรน้ำโสม จำกัด จังหวัดอุดรธานี จำนวน 2 ตัน
• กลุ่มวิสาหกิจชุมชนผู้ผลิตและแปรรูปถั่วเหลือง ต.สะสวง อ.แม่ริม จ.เชียงใหม่ จำนวน 6 ตัน
• สหกรณ์การเกษตรเพื่อการตลาดลูกค้า ธกส. น่าน จ.น่าน จำนวน 5 ตัน
2.โครงการวิจัยและพัฒนาการผลิตเมล็ดพันธุ์ถั่วเหลือง และการผลิตเมล็ดพันธุ์ถั่วเหลืองพันธุ์ดีอย่างเร่งด่วนให้เพียงพอต่อความต้องการใช้ภายในประเทศ จำนวน 12 ตัน
-สหกรณ์การเกษตรเพื่อการตลาดลูกค้า ธกส.น่าน จังหวัดน่าน จำนวน 12 ตัน
ภายในงานมีการอบรมถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตเมล็ดพันธุ์ถั่วเหลืองแบบคาร์บอนต่ำให้กับเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการฯ และบุคคลทั่วไป เพื่อเสริมสร้างความรู้ และทักษะอาชีพไปสู่กลุ่มเป้าหมายเกษตรกรที่มีศักยภาพ ในการผลิตเมล็ดพันธุ์ถั่วเหลืองชั้นพันธุ์จำหน่าย ให้สามารถสร้างรายได้อย่างยั่งยืน มีการจัดแสดงนิทรรศการเทคโนโลยีการผลิตเมล็ดพันธุ์ถั่วเหลืองของหน่วยงานต่าง ๆ ได้แก่การปรับปรุงสภาพเมล็ดพันธุ์ของสหกรณ์นิคมแม่แตง จำกัด, เทคโนโลยีการผลิตถั่วเหลืองแบบคาร์บอนต่ำ ของศูนย์วิจัยพืชไร่เชียงใหม่, เทคโนโลยีการใช้ปุ๋ยชีวภาพไรโซเบียมถั่วเหลือง ของกองวิจัยพัฒนาปัจจัยการผลิตทางการเกษตร, เทคโนโลยีการใช้สารชีวภัณฑ์ป้องกันกำจัดศัตรูถั่วเหลืองที่สำคัญ ของศูนย์วิจัยและพัฒนาเมล็ดพันธุ์พืชพิษณุโลก ,การตรวจสอบรับรองคุณภาพเมล็ดพันธุ์ถั่วเหลือง ของศูนย์วิจัยและพัฒนาเมล็ดพันธุ์พืชเชียงใหม่, การใช้เครื่องจักรกลเกษตรในการผลิตถั่วเหลือง เช่น เครื่องเกี่ยวนวด และโดรนทางการเกษตร ของบริษัท สยามคูโบต้าคอร์ปอเรชั่น จำกัด และมีการเปิดห้องเจรจาซื้อ-ขายเมล็ดพันธุ์ถั่วเหลืองชั้นพันธุ์จำหน่าย ร่วมกับผู้ประกอบการเพื่อสร้างสร้างความมั่นใจให้กับกลุ่มเกษตรกร วิสาหกิจชุมชนที่เป็นผู้ผลิตเมล็ดพันธุ์ถั่วเหลืองชั้นพันธุ์จำหน่าย และสร้างความร่วมมือระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน และเกษตรกร เพื่อเพิ่มปริมาณผลผลิตถั่วเหลืองเชื่อมโยงกับความต้องการของตลาดภายในประเทศ