กล้วยหอมทองละแม (Hom Thong Lamae Banana หรือ Kluai Hom Thong Lamae) หมายถึง กล้วยหอมทองที่มีผลขนาดกลางถึงใหญ่ ยาว หน้าตัดเหลี่ยม ขั้วเหนียว จุกผลยาว เปลือกหนา ผิวกร้าน ผลดิบ สีเขียวเข้ม ผลสุกสีเหลืองอ่อน เนื้อแน่น เมื่อสุกจะมีน้ำในผลน้อย รสชาติหวานหอม อมเปรี้ยวเล็กน้อย ปลูกในพื้นที่จังหวัดชุมพร ทั้งนี้กรมทรัพย์สินทางปัญญา ประกาศให้ขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI ) “กล้วยหอมทองละแม” เมื่อ 26 สิงหาคม 2565
การปลูก
(1) การปลูกโดยใช้หน่อพันธุ์ที่มีคุณภาพในอำเภอละแม จังหวัดชุมพร โดยหน่อกล้วยมีอายุ 1- 2 เดือน มีลำต้นแข็งแรงสมบูรณ์ ใบเรียวแหลม (หน่อดาบ) หรือหูกวาง ความสูงประมาณ 30 – 40 เซนติเมตร
2) การปลูกโดยใช้เหง้าหรือใช้หัว เลือกจากต้นพันธุ์ที่มีความสมบูรณ์และให้ผลผลิตสูง โดยนำเอาเอาเหง้าหรือหัวมาผ่า เลือกเฉพาะที่มีตาหน่อนำไปวางเรียงกัน ใช้ทรายหรือกระสอบป่านคลุมแล้วรดน้ำให้ชุ่ม เมื่อตาหน่อเริ่มแตกหรือมีรากออกมาจากเหง้า ให้นำใส่หลุม หรือแยกหน่อจากต้นออกมา จากนั้นนำใส่หลุมและกลบดินหนาประมาณ 2 นิ้ว วิธีนี้กล้วยจะขึ้นพร้อมกันและไม่มีโรค เพราะสามารถแยกเหง้าที่ไม่ดีออกได้
(3) การเตรียมพื้นที่ปลูก สามารถปลูกได้ 2 วิธี ดังนี้
(3.1) ปลูกแบบเชิงเดี่ยว นิยมปลูกพื้นที่ราบ เพื่อง่ายต่อการดูแลรักษา ระยะการปลูกกล้วย ประมาณ 2.5 x 2.5 เมตร หรือตามความเหมาะสม
(3.2) ปลูกแบบผสมผสาน ควรทำการขุดหลุมไว้ก่อนประมาณ 5 – 7 วัน และลึกประมาณ 30 – 40 เซนติเมตร ความกว้างและความยาวไม่น้อยกว่า 45 เชนติเมตร ใช้หน้าดินชั้นบนคลุกเคล้ากับปุ๋ยหมักหรือปุ๋ยคอกรองก้นหลุม จากนั้นเอาหน่อกล้วยวาง นำดินกลบรอบ ๆ โคนหน่อและรดน้ำ
การดูแลรักษา
(1) ควรปาดหน่อที่ไม่ต้องการออก และให้คลุมโคนต้นต้นกล้วยด้วยอินทรียวัตถุ
(2) ให้น้ำ ใส่ปุ้ย ตามความอุดมสมบูรณ์ของดินและต้นกล้วย
(3) ตัดใบกล้วยที่ติดเชื้อโรคและใบที่เสียดสีกับผลกล้วยออก ควรทำทุกสัปดาห์ โดยใช้มีดตัดที่โคนใบ สามารถตัดแต่งได้ตั้งแต่ต้นเริ่มโตจนถึงช่วงเก็บเกี่ยว ควรให้มีใบเหลือต้นละประมาณ 7 – 12 ใบ เพื่อให้กล้วยสามารถเจริญเติบโตได้
(4) หลังจากออกปลีได้ประมาณ 2 – 3 สัปดาห์ ให้ตัดปลีห่างจากหวีสุดท้ายประมาณ 3 – 4 นิ้ว และใส่ปุ๋ยบำรุงตามความเหมาะสม
(5) เตรียมค้ำยันต้นกล้วยด้วยวัสดุแท่งยาวที่แข็งแรงสำหรับกล้วยออกเครือ
การคลุมเครือกล้วย
หลังจากตัดปลีออกแล้ว สามารถคลุมเครือกล้วยได้โดยใช้ถุงพลาสติกหรือวัสดุอื่นที่เหมาะสมเฉพาะคลุมกล้วยเพื่อป้องกันการเกิดรอยหรือผิวไม่สวยของกล้วย และยังช่วยป้องกันแมลง สัตว์รบกวนที่มาทำลาย หรือนำเชื้อโรคสู่กล้วย
ลักษณะภูมิประเทศ
จังหวัดชุมพร มีพื้นที่ประมาณ 3.75 ล้านไร่ มีพื้นที่มากเป็นอันดับ 4 ของภาคใต้ ลักษณะภูมิประเทศแบ่งออกเป็น 3 ลักษณะ คือ ทิศตะวันตก มีลักษณะเป็นที่สูง มีเทือกเขาภูเก็ต และเทือกเขาตะนาวศรี เป็นแนวกันเขตแดนธรรมชาติ บริเวณตอนกลาง มีลักษณะเป็นที่ราบลุ่มอุดมสมบูรณ์ เป็นเขตเกษตรกรรมสำคัญของจังหวัดและทิศตะวันออก มีลักษณะเป็นที่ราบตามแนแนวชายฝั่งทะเลของอ่าวไทย ลักษณะชายหาดค่อนข้างเรียบ มีความโค้งเว้าน้อย โดยภาพรวมจะเป็นดินเหนียว ดินร่วนหรือดินทรายแป้ง ละเอียดลึก เป็นกรดจัด ระบายน้ำได้ดีถึงดีปานกลาง ความสมบูรณ์ของดินระดับปานกลาง
ลักษณะภูมิอากาศ
จังหวัดชุมพร เป็นเขตที่ได้รับอิทธิพลจากลมมรสมตะวันตกเฉียงใต้ และลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือเป็นเหตุให้มีฤดูกาลเพียง 2 ฤดู คือ ฤดูร้อนเริ่มตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ถึงกลางเดือนพฤษภาคม และฤดูฝนเริ่มตั้งแต่กลางเดือนพฤษภาคมถึงกลางเดือนธันวาคม จึงทำให้เกิดฝนตกชุก มีปริมาณน้ำฝนอยู่ในช่วง 1,553 -2,344 มิลลิเมตร อุณหภูมิเฉลี่ยโดยประมาณ 27.3 องศาเชลเชียส สูงสุดเฉลี่ย 34.8 องศาเซลเซียส ต่ำสุดเฉลี่ย 21.6 องศาเซลเซียส
ด้วยลักษณะภูมิประเทศและลักษณะภูมิอากาศของจังหวัดชุมพร สามารถปลูกกล้วยหอมทองได้ตลอดทั้งปิ ทำให้กล้วยหอมทองละแม มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว คือ กล้วยหอมทองที่มีผลขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ ยาว หน้าตัดเหลี่ยม ขั้วเหนียว จุกผลยาว เปลือกหนา ผิวกร้าน ผลดิบสีเขียวเข้ม ผลสุกสีเหลืองอ่อน เนื้อแน่น ผลสุกจะมีน้ำในผลน้อย รสชาติหวานหอม อมเปรี้ยวเล็กน้อย
ประวัติความเป็นมา
เกษตรกรส่วนใหญ่ในอำเภอละแมและอำเภออื่น ๆ ในจังหวัดชุมพร ประกอบอาชีพเกษตรกรรม และทำการปลูกผลไม้ เช่น ทุเรียน มังคุด กล้วยน้ำว้า กล้วยหอมทอง มะพร้าว เป็นต้น โดยกล้วยหอมทองมีการปลูกกันมาอย่างยาวนานในพื้นที่อำเภอละแม และขยายไปทั่วทั้งทั้งจังหวัดชมพร ตามบันทึกของนายโอภาส โชติช่วง เมื่อวันที่ 30 สิงหาคม 2549 ซึ่งเป็นสมาชิกอาวุโสผู้ร่วมก่อตั้งกลุ่มเกษตรกรทำสวนทุ่งคาวัด ตำบลทุ่งคาวัด อำเภอละแม จังหวัดชุมพร กล่าวว่า เมื่อวันที่ 22 มิถุนายน 2536 ได้มีคณะจากประเทศญี่ปุ่น ให้ความความสนใจและเสนอเรื่องทำการตลาด กล้วยหอมทอง ปลอดสารพิษส่งออกไปยังประเทศญี่ปุ่น ทำให้เกษตรกรในอำเภอละแมกลุ่มหนึ่งเดินทางไปศึกษาดูงานที่สหกรณ์การเกษตรท่ายาง จำกัด จังหวัดเพชรบุรี ในด้านการปลูกกล้วยและการบรรจุกล่องของกล้วยหอมทองเพื่อการส่งออกไปยังประเทศญี่ปุ่น
หลังจากนั้น ได้ดำเนินการแต่งตั้งคณะกรรมการบริหารงานกลุ่มกล้วยหอมทองละแม ปัจจุบันคือกลุ่มเกษตรกรทำสวนทุ่งคาวัด เพื่อให้เกษตรกรเตรียมพื้นที่ปลูกและแจ้งจำนวนหน่อพันธุ์ที่จะใช้ในการปลูกในอำเภอละแม โดยน้ำหน่อพันธุ์กล้วยหอมทองมาจากจังหวัดเพชรบุรี โดยใช้ชื่อว่า กล้วยหอมทองละแม และทำการส่งออกกล้วยหอมทองไปประเทศญี่ปุ่นครั้งแรก เมื่อวันที่ 26 มกราคม 2537
เป็นต้นมาจนถึงปัจจุบัน และด้วยความต้องการกล้วยหอมทองละแมจากผู้บริโภค ทำให้มีเกษตรกรกรจากนอกพื้นที่ในจังหวัดชุมพร ยังนำหน่อพันธุ์จากอำเภอละแมไปปลูกพื้นที่ของตนเองในจังหวัดชุมพรเพื่อเพิ่มผลผลิตอีกด้วย
กล้วยหอมทองละแม เป็นกล้วยที่ได้รับความนิยมในต่างประเทศอย่างประเทศญี่ญี่ปุ่น และกล้วยหอมทองสดยังเป็นสินค้า OTOP ของจังหวัดชุมพร รวมถึงมีการประชาสัมพันธ์ในการผลิตกล้วยหอมทองละแม ผ่านสื่อออนไสน์อีกด้วย
ทั้งนี้ขอบเขตพื้นที่การปลูก กล้วยหอมทองละแม ครอบคลุมพื้นที่ทั้งหมดของจังหวัดชุมพร