อาจารย์นักวิจัย ม.เกษตรศาสตร์ ค้นพบ “กระเจียวสรรพสี” พืชชนิดใหม่ของโลก

กระเจียว 2

ดร. ศุทธิณัฏฐ์ สุนทรกลัมพ์ อาจารย์ประจำภาควิชาเกษตรและทรัพยากร คณะทรัพยากรธรรมชาติและอุตสาหกรรมเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตเฉลิมพระเกียรติจังหวัดสกลนคร ค้นพบพืชชนิดใหม่ของโลก “กระเจียวสรรพสี” พืชถิ่นเดียวของไทย พบกระจายพันธุ์อยู่ที่ป่าชุมชนในตำบลพระธาตุผาแดง อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก เพียงแห่งเดียวเท่านั้น และรายงานการค้นพบดังกล่าวได้รับการตีพิมพ์ออนไลน์ในวารสารวิชาการระดับนานาชาติ Annales Botanici Fennici เมื่อวันที่ 4 ตุลาคม 2567 ที่ผ่านมา

กระเจียว 3

.

เนื่องจากกระเจียวสรรพสี มีลักษณะพิเศษที่ยากจะพบในกระเจียวชนิดอื่นคือ ใบประดับที่มีสีสันหลากหลาย จึงเป็นที่มาของชื่อ กระเจียวสรรพสี และมีชื่อสามัญภาษาอังกฤษว่า Harlequin curcuma ซึ่งสอดคล้องกับชื่อวิทยาศาสตร์คือ Curcuma diversicolor ซึ่งมีความหมายว่ามีหลายสีเช่นเดียวกัน

กระเจียว 1

.

ดร. ศุทธิณัฏฐ์ สุนทรกลัมพ์ เปิดเผยว่า ได้พบกระเจียวสรรพสีตั้งแต่ปีพ.ศ. 2564 โดยทำการเก็บตัวอย่าง ปลูกเลี้ยงจนออกดอกและทำการเก็บข้อมูลทางพฤกษศาสตร์ รวมถึงได้ตรวจสอบกับข้อมูลพืชสกุลกระเจียว (Curcuma) ในพิพิธภัณฑ์พืชต่างๆ จนแน่ใจว่าเป็นชนิดที่ยังไม่เคยมีรายงานมาก่อน เนื่องจากกระเจียวสรรพสีจัดอยู่ในสกุลย่อย Curcuma (Subgenus Curcuma) ซึ่งมีความซับซ้อนทางอนุกรมวิธาน ซึ่งต้องใช้ระยะเวลาในการพิสูจน์ทราบให้มั่นใจว่า เป็นกระเจียวชนิดใหม่ของโลกอย่างแท้จริง

กระเจียว

ทั้งนี้ ผู้วิจัยได้มีความร่วมมือกันอย่างใกล้ชิดกับ Dr. Jana Leong-Škorničková นักอนุกรมวิธานผู้เชี่ยวชาญพืชวงศ์ขิงอันดับต้นๆ ของโลกจากสวนพฤกษศาสตร์ประเทศสิงคโปร์ ในการเอื้อเฟื้อข้อมูลประกอบ จนสามารถจัดทำต้นฉบับบทความวิชาการเพื่อตีพิมพ์ในวารสารวิชาการระดับนานาชาติ Annales Botanici Fennici และได้รับการตีพิมพ์ออนไลน์เมื่อวันที่ 4 ตุลาคม 2567 ที่ผ่านมา

กระเจียว 4

.

กระเจียวสรรพสี เป็นพืชล้มลุก มีความสูงได้ถึง 80 ซ.ม. มีลำต้นใต้ดินเป็นรูปไข่หรือรูปทรงลูกแพร์ ลำต้นใต้ดินมีการแตกแขนง เนื้อด้านในลำต้นสีเหลืองครีม ก้านใบมักมีสีน้ำตาลแดงที่ฐาน ใบรูปรี แผ่นใบพับจีบมีสีเขียวมักมีแถบสีแดงที่เส้นกลางใบ ช่อดอกออกก่อนเกิดใบ ออกที่ด้านข้างของลำต้น ก้านช่อดอกสั้น ช่อดอกมีใบประดับได้มากถึง 40 ใบ มีสีสันหลากหลายตั้งแต่สีขาวถึงสีชมพูอมม่วง และมักมีแต้มสีเขียวถึงสีชมพูที่ปลาย ส่วนกลีบดอกมีสีชมพูอ่อนถึงสีครีมมีแต้มสีชมพูอ่อนที่ปลาย สเตมิโนดรูปขอบขนานเบี้ยว มีสีขาวครีมถึงสีเหลืองครีม กลีบปากรูปไข่มีแถบสีเหลืองหรือครีมที่กึ่งกลางของกลีบปากส่วนปลายกลีบปากแยกเป็นสองพู ก้านอับเรณูมีสีเหลือง อับเรณูสีขาวมีเดือยแหลม 1 คู่ รังไข่มีขนสั้นนุ่มปกคลุม

กระเจียว 5

.

สำหรับลักษณะที่บ่งบอกว่าเป็นชนิดใหม่ของโลก ดร. ศุทธิณัฏฐ์ สุนทรกลัมพ์ กล่าวว่า กระเจียวสรรพสีมีลำต้นใต้ดินรูปไข่หรือรูปทรงลูกแพร์มักแตกแขนงสั้นๆ ช่อดอกรูปทรงรีกว้างหรือรี มีกระจุกใบประดับรูปรี ไข่กลับ หรือรูปไข่ มีสีขาวถึงสีชมพูอมม่วงมีแต้มสีเขียวถึงสีชมพูที่ปลาย มักเปลี่ยนเป็นสีเขียวเมื่อแก่ กระเจียวสรรพสีเป็นกระเจียวที่ออกดอกก่อนใบเพียงชนิดเดียวของไทยที่มีความแปรผันของสีใบประดับอย่างหลากหลายเป็นเครื่องบ่งชี้ถึงความหลากหลายทางพันธุกรรมของกระเจียวสรรพสีได้เป็นอย่างดี ซึ่งเป็นลักษณะหาได้ยากในกระเจียว

กระเจียว 8

.

นอกจากนี้ ดร. ศุทธิณัฏฐ์ สุนทรกลัมพ์ ยังได้ฝากถึงการพัฒนากระเจียวสรรพสีและการอนุรักษ์พืชชนิดใหม่ของโลกว่า “กระเจียวสรรพสี” เป็นพืชถิ่นเดียวของไทย มีรายงานพบเพียงที่ป่าชุมชนในตำบลพระธาตุผาแดง อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก เท่านั้น และจากช่อดอกที่มีสีสันหลากหลาย สวยงามและสามารถบานทนได้มากกว่า 1 เดือน จึงทำให้กระเจียวสรรพสีมีศักยภาพในการพัฒนาเป็นไม้ดอกไม้ประดับต่อไป

.

แม้ว่ากระเจียวสรรพสีจะมีประชากรขนาดใหญ่ในถิ่นอาศัยธรรมชาติ แต่พบการกระจายพันธุ์เพียงแหล่งเดียวทำให้มีความสุ่มเสี่ยงต่อการลดจำนวนจากแหล่งธรรมชาติได้ ทางผู้วิจัยจึงได้ทำการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อเพื่อเป็นการอนุรักษ์นอกถิ่นอาศัย (ex situ conservation) ณ คณะทรัพยากรธรรมชาติและอุตสาหกรรมเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตเฉลิมพระเกียรติจังหวัดสกลนคร เพื่อใช้ประโยชน์ในการศึกษาวิจัยในอนาคตต่อไป