กรมวิชาการเกษตรมุ่งสู่เกษตรคาร์บอนต่ำเตรียมทำ MOU กับองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก(องค์การมหาชน) พร้อมพัฒนา การถ่ายทอดเทคโนโลยีการจัดการคาร์บอนเครดิต รวมทั้งเสริมสร้างการตอบสนองต่อภัยคุกคามจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของโลกได้อย่างยั่งยืน
นายระพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าวว่า เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมกับสถานการณ์ต่าง ๆ รองรับนโยบาย BCG และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในอนาคต กรมวิชาการเกษตรมีพื้นที่สวน พื้นที่ป่า และพื้นที่ปลูกพืชวิจัยมากกว่า 100,000 ไร่ ทั่วประเทศทั้งพืชไร่ อาทิเช่น ปาล์มน้ำมัน ยางพารา อ้อย มันสำปะหลัง ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ พืชสวน อาทิ ทุเรียน ลำไย มังคุด มะพร้าว มะม่วงเป็นต้น
นอกจากนี้เพื่อเป็นต้นแบบคำนวณปริมาณคาร์บอนเครดิตให้เกษตรกร กรมวิชาการเกษตรได้มีการศึกษาการกักเก็บก๊าซ CO2 ของพืชนำร่อง ได้แก่ ปาล์มน้ำมัน 2,000 ไร่ กักเก็บคาร์บอนได้144,000 ตัน/ปี ยางพารา 4,500 ไร่ กักเก็บคาร์บอนได้ 103,500 ตัน/ปี ไม้ผลและไม้ยืนต้น 12,500 ไร่ กักเก็บคาร์บอนได้ 2,500 ตัน/ปี เป็นการประเมินศักยภาพการกักเก็บคาร์บอนในพื้นที่ของกรมวิชาการเกษตร
ความร่วมมือดังกล่าว ก่อให้เกิดการพัฒนาองค์ความรู้ความเข้าใจในความเสี่ยงที่ต้องรับมือและปรับตัวต่อผลกระทบเกี่ยวกับการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก การประเมินการปล่อยก๊าซเรือนกระจกหรือคาร์บอนฟุตพรินต์ ให้สามารถนำไปสู่การพัฒนาระบบการปลูกพืชและการผลิตสินค้าเกษตร รวมทั้งการจัดทำระเบียบวิธีการประเมินโครงการเพื่อเข้าร่วมการประเมินคาร์บอนเครดิต และการพัฒนางานวิจัยด้านการเก็บข้อมูลคาร์บอนเครดิตร่วมกัน เพื่อให้กรมวิชาการเกษตรมีความสามารถเป็นหน่วยรับรอง(Certification Body) ในการดำเนินการให้การรับรองการตรวจโครงการคาร์บอนเครดิตในแปลงปลูกพืชของกรมวิชาการเกษตรและเกษตรกรที่สนใจจะเข้าร่วมโครงการในอนาคต
ทั้งนี้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้มีนโยบายผลักดันเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว หรือ Bio-Circular-Green Economy : BCG ให้เป็นกลไกสำคัญของการขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจประเทศ โดยเฉพาะเรื่องการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกภายใต้กลไกการพัฒนาที่สะอาด (Clean Development Mechanism: CDM) การใช้คาร์บอนฟุตพรินต์ (Carbon Footprint) ที่ได้ถูกหยิบยกขึ้นมาเป็นประเด็นสำคัญให้ทุกประเทศที่ต้องการส่งออกสินค้าไปกลุ่มประเทศสหภาพยุโรปต้องถือปฏิบัติ รวมถึงส่งเสริมการใช้คาร์บอนฟุตพรินต์ของผลิตภัณฑ์อย่างยั่งยืน
ในการประชุม COP26 (Conference of the Parties ครั้งที่ 26)ได้ประกาศเป้าหมายที่สำคัญคือประเทศไทยจะเป็นกลางทางคาร์บอน(Carbon Neutrality)ในปี 2050 และปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์(Net Zero) ภายในปี 2065 ซึ่งปัญหาด้านการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ(Climate Change) กลายเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญในเวทีการค้าโลก หลังสหภาพยุโรป(EU) เป็นประเทศแรกที่จัดเก็บภาษีก๊าซเรือนกระจกก่อนข้ามพรมแดนสำหรับสินค้านำเข้า (Carbon Border Adjustment Mechanism, CBAM)
“การทำ MOU กับองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) ก่อให้เกิดการสนับสนุนทั้งด้านการพัฒนา การถ่ายทอดเทคโนโลยีการจัดการคาร์บอนเครดิต รวมทั้งเสริมสร้างการตอบสนองต่อภัยคุกคามจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของโลกได้อย่างยั่งยืน ในอนาคตกรมวิชาการเกษตรคาดหวังเป็นหน่วยงานตรวจประเมิน โดยมีแผนการร่วมมือกับคณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (IPCC) ของสหประชาชาติ ในการประเมินทางเลือกในการจำกัดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในห่วงโซ่การผลิตพืชของประเทศไทย เพื่อสร้างโอกาสในการขายคาร์บอนเครดิตให้กับผู้ประกอบการที่สนใจต่อไป”