” หมูย่างเมืองตรัง” หมายถึง หมูย่างที่ผลิตในพื้นที่จังหวัดตรัง ด้วยกรรมวิธีพิเศษตามภูมิปัญญาของคนเมืองตรัง ทั้งนี้กรมทรัพย์สินทางปัญญาประกาศให้ขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ ( GI) ” หมูย่างเมืองตรัง ” เมื่อ 2 พ.ค. 2549
กระบวนการผลิต
(1) การคัดเลือกขนาดของหมูที่จะนำมาย่าง น้ำหนักตัวหมูเป็น ประมาณ 30 – 50 กิโลกรัม จำหน่ายทั้งตัว และขนาด 50-70 กิโลกรัม จำหน่ายเป็นชิ้นเมื่อย่างเสร็จแล้ว เหลือน้ำหนัก 1 ใน 3 ของน้ำหนักหมูเป็น
(2) ก่อนการชำแหละถ้าเป็นหมูพันธุ์ทั่วไปต้องพักหมูไว้ 2 วันก่อน โดยให้กินอาหารประมาณร้อยละ 20 ของปกติ ถ้าเป็นหมูขี้พร้า สามารถนำมาชำแหละได้เลย
(3) การชำแหละหมูทั้งตัว นำตัวหมูมาลวกในกระทะใบบัว อุณหภูมิประมาณ 80 องศาเซลเซียส
(4) ขูดขนล้างให้สะอาด ผ่าตลอดแนวตั้งแต่คอด้านล่างลำตัว จนถึงหน้าท้อง เลาะกระดูกข้อบางส่วนออกเอาเครื่องในและเนื้อส่วนหนาออก ทำความสะอาดล้างเลือดให้หมด และทำการขูดขนหมูออก แขวนให้สะเด็ดน้ำ นำมีดกรีดเป็นริ้วตามแนวขวางและแนวยาวให้ลึกถึงชั้นหนัง แขวนผึ่งให้แห้ง
(5) การหมักหมู หมักด้วยเครื่องปรุง ” อู่เชียงฝัน ” และส่วนผสมอื่นๆ อีก ได้แก่ เกลือ น้ำตาล ซีอิ้วขาว กระเทียมพริกไทย โดยใช้เวลาในการหมักอย่างน้อย 6-8 ชั่วโมง ในห้องหมักที่มีมุ้งลวดกันแมลง
(6) เตาย่าง เป็นเตาที่ก่อด้วยอิฐ ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 1.50 เมตร ลึก 2 เมตร ทรงกลม ย่างได้ครั้งละ3-4 ตัว ใช้ไม้ยางพาราในพื้นที่จังหวัดตรังเป็นเชื้อเพลิง
(7) การย่าง ย่างโดยแขวนห้อยหัวหมูลง ด้วยความร้อนที่พอเหมาะจนกระทั่งหนังเริ่มตึง นำออกจากเตาใช้เหล็กแหลมแทงให้ทั่ว ราดด้วยน้ำเย็นตั้งให้สะเด็ดน้ำ ทาด้วยน้ำผึ้ง แล้วนำไปย่างอีกสองครั้งเพื่อให้หนังมีจุดขยายตัวใช้เวลาย่างครั้งละ 40-50 นาที พอหมูสุกดีก็ยกออกจากเตา
ลัษณะภูมิประเทศ
ดรังเป็นจังหวัดชายฝั่งมหาสมุทรอินเดีย มีฝั่งทะเลยาวตามแนวด้านตะวันตกประมาณ 119 กิโลเมตร ประกอบด้วยหมู่เกาะทะเลอันดามันอยู่ในการปกครองกว่า 46 เกาะ มีพื้นที่รวม 4,941,439 ตารางกิโลเมตร มีวัฒนธรรมการกินหมูย่างเมืองตรัง ที่ผลิตขึ้นด้วยกรรมวิธีเฉพาะในพื้นที่ นิยมรับประทานแกล้มกับกาแฟ เป็นอาหารเช้าแบบชาวตรัง และมีเครื่องเคียงอื่น ๆ อีก เช่น ขนมจีบ ซาลาเปา ติ่มซำ ปาท่องโก๋ ซึ่งนิยมรับประทานกันตั้งแต่เช้าจนกลายเป็นเอกลักษณ์ ได้รับอิทธิพลมาจากการรับประทานของชาวไทยเชื้อสายจีนที่อาศัยอยู่ในเมืองตรังกว่าร้อยละ 80 จนได้รับขนานนามเรียก เมืองตรัง เมืองคนช่างกิน
นอกจากนั้น ยังใช้หมูย่างขึ้นโต๊ะในงานแต่ง งานตรุษสารท งานเลี้ยงต่างๆ หรือแม้แต่งานศพและพิธีเซ่นไหว้ โดยจังหวัดจัดให้มีงานหมูย่างตรงในเดือนกันยายนของทุกปี
ประวัติความเป็นมา
เมื่อประมาณ 100 ปี ตรังเป็นเมืองท่าค้าขายกับต่างประเทศที่ท่าเรือกันตัง ชาวจีนมณฑลกวางตุ้งได้อพยพมาทางเรือขึ้นฝั่งที่อำเภอกันตังหรือปากแม่น้ำตรัง ชาวจีนเหลำนั้นได้เลี้ยงหมูพันธุ์เล็ก ซึ่งนำลงเรือมาด้วย ปรากฏว่าได้ผลดีมาก ต่อมาต้นตระกูลของร้านฟองจันทร์ โดยนายฟอง ไทรง่าม ชาวจีนจากมณฑลกวางตุ้งได้เริ่มทำหมูย่างมา 80 กว่าปี เป็นผู้ริเริ่มทำหมูย่างจำหน่ายเป็นรายแรกในสมัยนั้น เรียก หมูย่างฟองจันทร์ ประวัติเล่ากันว่า ต้นตระกูลฟองจันทร์ ใช้ชาวจีนจากมณฑลกวางตุ้งที่มีความชำนาญในการย่างหมู ต่อมาการทำหมูย่างได้แพร่หลายมากขึ้นในหมู่คนตรัง ลูกมือหลายคนที่เคยทำงานกับหมูย่างฟองจันทร์ ได้ทำกิจการของตนเองในภายหลังจนเกิดเป็นสิบราย และขยายสู่รุ่นหลังมากขึ้น โดยใช้ชื่อว่า หมูย่างเมืองตรัง
ทั้งนี้ขอบเขตการผลิตหมูย่างเมืองตรัง อยู่ในพื้นที่จังหวัดตรัง เป็นเมืองชายฝั่งทะเลอันดามัน ซึ่งตั้งอยู่ทางภาคใต้ของประเทศไทย