ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยผลสำรวจทัศนะของประชาชนต่อนโยบายกัญชาเสรี พบว่า ขณะนี้อัตราการขยายตัวของผู้ปลูก ผู้ค้า และผู้ใช้ ผลิตภัณฑ์จากกัญชากัญชงสูง ขึ้นต่อเนื่อง
โดยประเมินว่าอุตสาหกรรมกัญชากัญชง ปี 2565 มีมูลค่าตลาด 28,055 ล้านบาท แยกเป็นผลิตภัณฑ์ต้นน้ำ(ช่อดอกแห้ง ใบแห้ง เมล็ด และส่วนอื่น) 9,615 ล้านบาท ผลิตภัณฑ์กลางน้ำ(สารสกัดเข้มข้น น้ำมัน เส้นใย) 14,690 ล้านบาท ผลิตภัณฑ์ปลายน้ำ(ยารักษาโรค/เสริมอาหาร อาหาร/เครื่องดื่มเครื่องสำอาง เครื่องนุ่งห่ม ของใช้ส่วนตัว) 3,750 ล้านบาท
นอกจากนี้ ตลาดกัญชา กัญชง จะยังขยายตัวต่อเนื่อง 3 ปี คาดว่าปี 2568 มูลค่าตลาดเพิ่มเป็น 42,851 ล้านบาท และอาจถึง 50,000 ล้านบาท
สำหรับพื้นที่ปลูกคาดว่าปี 2565 พื้นที่ปลูกพืชกัญชง ประมาณ 7,268 ไร่ จากก่อนมีนโยบายกัญชาเสรีอยู่ที่ 4,845 ไร่ พื้นที่ปลูกพืชกัญชา ประมาณ 305 ไร่ จาก 110 ไร่ โดยสร้างรายได้ต่อไร่ 8 แสนบาทถึง 1.2 ล้านบาท หรือเฉลี่ยไร่ละ 1ล้านบาท/ปี หากเทียบกับปลูกพืชทางเศรษฐกิจอื่น ๆ สูงกว่าหลายชนิด เช่น ปลูกข้าวเฉลี่ยมีรายได้ 1.0-1.5 หมื่นบาทต่อไร่ต่อปี
นอกจากนี้ ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยผลสำรวจทัศนะของประชาชนต่อนโยบายกัญชาเสรี สำรวจทั่วประเทศ 1,215 ราย วันที่ 5 – 15 กรกฎาคม 2565 พบว่า 78.2% ระบุว่าไม่เคยใช้เลย และ 41.7% เห็นด้วยกับการเปิดเสรี แต่ใช้เฉพาะทางการแพทย์ และใช้เฉพาะสันทนาการ
โดยส่วนใหญ่เห็นด้วยว่า การใช้กัญชาควรอยู่ในความดูแลของผู้ที่มีความรู้เชี่ยวชาญ ตามด้วย ควรมีบทลงโทษอย่างรุนแรงกับการใช้ผิดกฎ และกำหนดขอบเขตการใช้ให้ชัดเจน และใช้เพื่อบรรเทาหรือบำบัดโรค
ทั้งนี้ กลุ่มสำรวจได้มีข้อเสนอ ดังนี้ ควรให้ความรู้ สร้างความตระหนักรู้ถึงผลดีและผลเสีย ทั้งในระยะสั้นและ ระยะยาว ให้รับรู้โดยทั่วกันผ่านช่องทางการสื่อสารต่างๆ ตามกลุ่มเป้าหมาย ควรกหนดปรมิาณการบริโภค การใช้ที่ชัดเจน ควรมีการกำหนดกลุ่มอายุในการใช้ ควรกำหนดสถานที่ในการใช้ ควรมีมาตรฐานหรือข้อกำหนดในการผลิต ผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของกัญชา พร้อมบทลงโทษที่พอที่จะไม่ใช้ เกินปริมาณที่กำหนด ควรเร่งพัฒนานวัตกรรมที่ใช้ในการตรวจสอบว่ามีส่วนที่ไม่ดีของกัญชาเกินกว่ามาตรฐานหรือไม่
รศ. ดร.ธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เผยว่า ประเทศไทยมีปัญหาเรื่องเกษตรกรมีความยากจน เราสามารถใช้พื้นที่ 1 ไร่ในการสร้างพืชเศรษฐกิจให้มีมูลค่าเพิ่มสูงเป็นเรื่องที่ดี และเป็นเรื่องที่ดีที่ บุรีรัมย์ เป็นเมืองต้นแบบกัญชา-กัญชง และการแปรรูปสินค้านี้ที่เป็นความต้องการทั้งในประเทศและต่างประเทศ ทั้งการแพทย์และการสันทการเป็นการยกระดับรายได้ของประชาชน ลดความยากจน และความเลื่อมล้ำ
สำคัญอยู่ที่เราจะใช้กัญชาไปผลิตเพื่อทำอะไรตามความต้องการของตลาดไทยและตลาดโลก รวมถึงการคัดสรรสายพันธุ์และการเพาะปลูก และที่สำคัญคือตลาดต้องมาก่อน ไม่ใช่เราสนับสนุนให้มีการปลูกอย่างเดียว มิเช่นนั้น เกษตรกรก็จะเจ็บตัวในท้ายที่สุด