นายรพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร เปิดเผยว่า ประเทศไทย มีการปลูกพืชที่สำคัญมากมาย ทั้ง พืชไร่ ไม้ดอก ไม้ผล และพืชผัก โดยเฉพาะอย่างยิ่งไม้ผลและพืชผัก มีพื้นที่ปลูกมากกว่า 7 ล้านไร่ หรือ 5% ของพื้นที่ทำการเกษตรของประเทศ พื้นที่กว่า 2 ล้านไร่ เป็นพื้นที่ปลูกแบบยกร่อง ต้องดูแลรักษาโดยการใช้เรือ ทั้งการใช้เรือในการให้น้ำ และพ่นสารป้องกันกำจัดศัตรูพืชในร่อง ซึ่งที่ผ่านมายังไม่มีการศึกษาในเทคโนโลยีเรือไร้คนขับ ทำให้เกษตรกรต้องนั่งไปในเรือ และพ่นสารด้วยตัวเอง ก่อให้เกิดความเสี่ยงที่จะได้รับอันตรายจากสารที่พ่น
นายยุทธนา เครือหาญชาญพงค์ วิศวกรการเกษตรชำนาญการพิเศษ จากสถาบันวิจัยเกษตรวิศวกรรม จึงมีแนวคิดว่า หากสามารถพัฒนาเทคโนโลยีบางส่วน ร่วมกับ เทคโนโลยีที่นำเข้ามาจากต่างประเทศ ในการบังคับเรือให้น้ำและพ่นสารแบบไร้คนขับ ก็จะเป็นโอกาสในการพัฒนาระบบควบคุมเรือสำหรับให้น้ำ หรือฉีดพ่นสารเคมี ให้มีการใช้งานกันอย่างแพร่หลาย เป็นการลดต้นทุนการนำเข้า และสนับสนุนให้เกิดการผลิตใช้เองในประเทศ
ระบบควบคุมเรือ บังคับด้วยคลื่นวิทยุ และระบบกล้องประเมินผล ผ่านระบบสมองกลฝังตัว Raspberry Pi ที่ควบคุมการจ่ายกระแสไฟฟ้าผ่าน Generator มอเตอร์เดินหน้า วาล์วไฟฟ้า ปั๊มฉีด การควบคุมด้วยคลื่นวิทยุ เป็นการควบคุมด้วยมอเตอร์บังคับทิศเดินหน้า ระบบควบคุมวิทยุ และระบบกล้องประมวลผล การรักษาเส้นทางอัตโนมัติเมื่อเรือเดินในเส้นตรงโดยใช้กล้องที่ติดตั้งบริเวณด้านหน้าเรือ การรักษาเส้นทางอัตโนมัติเมือเรือเดินในเส้นตรงด้วย Python Code ส่วนการเลี้ยวของเรือนั้นจะบังคับด้วยคลื่นวิทยุ บังคับด้วยมือ
ผลการทดสอบการพ่นสารของเรือพ่นสารอัตโนมัติในแปลงเกษตรกรที่ปลูกผักในจังหวัดราชบุรี พื้นที่ 1.6 ไร่ ความเร็วในการเคลื่อนที่เฉลี่ยของเรือ 0.57 เมตร/วินาที หน้ากว้างในการพ่นสาร 8 เมตร ความสามารถในการทำงานเฉลี่ย 10.13 ไร่/ชม ประสิทธิภาพการทำงานเฉลี่ย 98.16% อัตราการสิ้นเปลืองน้ำมันเชื้อเพลิงเฉลี่ย 0.49 ลิตร/ไร่ อัตราการพ่นสารเฉลี่ย 50 ลิตร/ไร่
อธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าวในตอนท้ายว่า เรือพ่นสารในร่อง บังคับด้วยคลื่นวิทยุ กรมวิชาการเกษตร สำหรับพ่นสารในร่อง แบบไร้คนขับ เป็นเทคโนโลยีที่ช่วยให้เกษตรกร หรือผู้รับจ้างพ่นสาร ไม่ต้องนั่งในเรือในขณะปฏิบัติงาน ช่วยลดอัตราการป่วยของเกษตรกรที่ได้รับจากสารป้องกันกำจัดศัตรูพืชเพิ่มขึ้นทุกปี