นายอิทธิ ศิริลัทธยากร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมองค์การส่งเสริมกิจการโคนมแห่งประเทศไทย (อ.ส.ค.) ณ สำนักงานกลาง อ.ส.ค. มวกเหล็ก ต.มิตรภาพ อ.มวกเหล็ก จ.สระบุรี โดยมี นายวิรุฬห์ สิทธิวงศ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดสระบุรี นายสมพร ศรีเมือง ผู้อำนวยการ อ.ส.ค. คณะผู้บริหาร อ.ส.ค. และผู้บริหารหน่วยงานในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหดรณ์ หัวหน้าส่วนราชการ เข้าร่วม พร้อมเยี่ยมชมอาคาร 1962 อาคารประวัติศาสตร์ที่เป็นจุดกำเนิดฟาร์มโคนมไทย-เดนมาร์ค, ฟาร์มโคนมประสิทธิภาพสูง Thai-Denmark Smart Dairy Farm และเยี่ยมชมกระบวนการผลิตผลิตภัณฑ์นมไทย-เดนมาร์ค โรงงานผลิตนมภาคกลาง
รมช.อิทธิ กล่าวว่า อ.ส.ค. เป็นองค์การเพื่อส่งเสริมกิจการโคนมและสร้างองค์ความรู้เกี่ยวกับกิจการอุตสาหกรรมโคนมในประเทศไทย เพื่อส่งเสริมเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมให้มีความเข้มแข็ง สามารถพึ่งพาตนเองได้อย่างมั่นคงและยั่งยืน สานต่อ อาชีพพระราชทานการเลี้ยงโคนม จึงถือเป็นหน่วยงานที่เป็นความหวังของผู้เลี้ยงโคนม อย่างไรก็ตาม ธุรกิจการเลี้ยงโคนมเชิงพาณิชย์มีการแข่งขันสูงในตลาด จึงอยากเน้นย้ำให้ อ.ส.ค. ใช้แนวทางตลาดนำ นวัตกรรมเสริม เพิ่มรายได้ ขยายช่องทางการตลาด เชื่อมั่นว่าหากร่วมมือกันอย่างเข้มแข็ง เดินหน้าพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้มีคุณภาพ เพื่อให้เป็นแบรนด์แรกที่ผู้บริโภคนึกถึง และครองอันดับ 1 รักษาคุณภาพมาตรฐานให้สามารถครองใจผู้บริโภค ตลอดจนต้องร่วมกันรณรงค์การบริโภคนมของคนไทยให้เพิ่มขึ้นอีกด้วย
ปัจจุบัน อ.ส.ค รับซื้อน้ำนมดิบจากเกษตรกร เพื่อเป็นวัตถุดิบแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์นมต่าง ๆ จำหน่ายให้ผู้บริโภค โดยมีเกษตรกรที่อยู่ในความดูแลจำนวน 4,438 ราย จำนวนโคนม 107,570 ตัว และแม่โครีดนม 48,451 ตัว รับซื้อน้ำนมดิบจากเกษตรกรจำนวน 431.02 ตัน/วัน มีโรงงานนม อ.ส.ค. ทั้งหมด 5 แห่ง ได้แก่ สำนักงาน อ.ส.ค.ภาคกลาง (โรงงานนมมวกเหล็ก จ.สระบุรี) สำนักงาน อ.ส.ค.ภาคใต้ (โรงงานนมปราณบุรี จ.ประจวบคีรีขันธ์) สำนักงาน อ.ส.ค.ภาค ตะวันออกเฉียงเหนือ (โรงงานนมขอนแก่น) สำนักงาน อ.ส.ค.ภาคเหนือตอนล่าง (โรงงานนมสุโขทัย) สำนักงาน อ.ส.ค.ภาคเหนือตอนบน (โรงงานนมเชียงใหม่)
สำหรับฟาร์มโคนมประสิทธิภาพสูง เป็นศูนย์กลางในการเรียนรู้และถ่ายทอดเทคโนโลยีการเลี้ยงโคนมของประเทศ และสำหรับใช้ในการศึกษาและพัฒนารูปแบบการบริหารจัดการฟาร์มด้วยเทคโนโลยีที่ทันสมัย พร้อมเปิดให้เข้ามาเรียนรู้เพื่อเป็นแนวทางในการลดต้นทุนพร้อมเปิดเป็นสถานที่ท่องเที่ยวเชิงเกษตรให้กับนักท่องเที่ยว รวมทั้งเป็นฟาร์มสำหรับใช้ในการศึกษาและพัฒนารูปแบบการบริหารจัดการฟาร์ม ให้มีความสะดวกและเหมาะสมกับการเลี้ยงโคนมของเกษตรกรยุคใหม่ที่สอดคล้องกับหลักการดูแลสวัสดิภาพสัตว์ (Animal Welfare) แหล่งเรียนรู้เทคโนโลยีและรูปแบบการจัดการฟาร์มที่มีการแบ่งกลุ่มโคนมตามการให้ผลผลิตน้ำนม การเรียนรู้รูปแบบการให้อาหารผสมสำเร็จ (Total Mixed Ration, TMR) ที่มีมาตรฐาน ตรงตามความต้องการของโคแต่ละกลุ่ม โดยฟาร์มดังกล่าว มีจำนวนแม่โครีดนมไม่น้อยกว่า 100 ตัว จะเข้ามาลดต้นทุนและเพิ่มประสิทธิภาพผลผลิตให้กับแม่โคเฉลี่ยไม่น้อยกว่า 20 กิโลกรัม/ตัว/วัน จากเดิม 13-14 กิโลกรัม/ตัว/วัน และมีองค์ประกอบน้ำนมสูงกว่าเกณฑ์มาตรฐานการรับซื้อ