ม.มหิดล เปิดมุมมองคุณค่าอาหารตำรับไทย ไม่ได้วัดเพียง “เอกลักษณ์” – “เอกรส”

แม้ “อาหารตำรับไทยแบบดั้งเดิม“ (Authentic Traditional Thai Food Recipe) จะเป็นที่วิตกว่ากำลังจะสูญหาย จนได้มีความพยายามที่จะสืบสานด้วยการสร้างสรรค์ให้เป็น “อาหารไทยฟิวชัน” (Thai Fusion Food) หรือ “อาหารไทยแบบดัดแปลง” แต่ส่วนใหญ่พบว่ายังคงเป็นที่น่าสับสน ระหว่าง “เอกลักษณ์” และ “เอกรส”

S 9338996

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.บุญยิ่ง คงอาชาภัทร ผู้ช่วยคณบดีฝ่ายวิชาการ และหัวหน้าสาขาวิชาการตลาด วิทยาลัยการจัดการ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้เปิดมุมมองในเรื่อง “เอกลักษณ์” และ “เอกรส” ของ “อาหารตำรับไทยแบบดั้งเดิม“ ว่า นับเป็นเรื่องที่น่าท้าทาย หากจะทำให้ไปด้วยกันอย่างไร้รอยต่อ ผ่านการ “สื่อสารข้ามวัฒนธรรม” ทั่วโลกซึ่งมีวิถีชีวิตที่แตกต่างกันไป

การที่ “อาหารตำรับไทยแบบดั้งเดิม“ สามารถสร้างความนิยมในต่างแดน ถือเป็นโอกาสอันดีของการส่งเสริม “เศรษฐกิจสร้างสรรค์” โดยจะให้ “ผลกระทบในเชิงบวก” มากกว่า หากสามารถ “ปรับความอ่อน – เข้มของรสชาติ” เพื่อให้ชาวต่างชาติสามารถเข้าถึงได้

ตัวอย่างอาหารจำพวกน้ำพริก – ผักจิ้ม อาทิ “เต้าเจี้ยวหลน” หากเป็นตำรับไทยแท้ นอกจากเต้าเจี้ยวขาว กะทิ น้ำตาลปี๊บ หอมแดง ซึ่งเป็นส่วนผสมหลัก จะต้องใส่หมูสับ หรือกุ้งสับผสม พร้อมพริกหนุ่ม และพริกชี้ฟ้า แต่เมื่อนำไปประยุกต์ทำเป็น “ผงเต้าเจี้ยวหลน“ เพื่อการส่งออกตลาดในโลกตะวันตก อาจจำเป็นต้องตัดส่วนผสมที่ให้ความเผ็ดร้อน เช่น พริก ออกจากเมนู

และหากทำเป็น “เต้าเจี้ยวหลนสำเร็จรูปพร้อมรับประทานในถุงบรรจุ Retort Pouch” อาจจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนส่วนผสมที่เป็นเนื้อสัตว์ให้เข้ากับความนิยม และความเชื่อของพื้นที่ แต่คงไว้ซึ่งกลิ่นและรสชาติที่สอดคล้องกับต้นตำรับ เป็นต้น

แม้ไม่ได้เป็น “เอกรส” หรือมีรสชาติตรงตาม “ต้นตำรับ” ทุกประการ แต่ก็นับเป็น “โอกาส” ที่จะได้เข้าถึง “เอกลักษณ์อาหารไทย“

นอกจากนี้ ยังเป็นการ “ส่งเสริมตลาดการท่องเที่ยว” ที่ดึงดูดให้ผู้มาเยือนได้เข้ามาค้นหา “ของแท้และดั้งเดิม” จาก “อาหารตำรับไทยแบบโบราณ“ ในประเทศไทย ที่จะทำให้เกิดประสบการณ์อันน่าประทับใจ จากการที่นักท่องเที่ยวได้ “ลิ้มลองด้วยตัวเอง“ แล้วเกิดเป็น ”แรงบันดาลใจ“ ที่จะค้นหา “วัตถุดิบ” เพื่อประกอบ และปรุงอาหารด้วยตัวเองโดยถูกต้องตามตำรับไทยแท้ได้ต่อไปในอนาคต

โดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.บุญยิ่ง คงอาชาภัทร มองว่า การใส่ ”คอนเทนต์“ (Content) หรือ “คุณค่าในความหมาย” ของการเลือก “วัตถุดิบ” มาใช้ในการประกอบ และปรุงอาหารให้ได้ตามต้นตำรับเป็นเรื่องที่สำคัญ

และแม้จะสร้างสรรค์ขึ้นเป็น “อาหารไทยฟิวชัน” หากทำโดยไม่ทิ้ง “เอกลักษณ์” และมี “การสื่อสาร” ที่เข้าถึง ”กลุ่มเป้าหมาย” อาจได้เป็น “เมนูสุดท้าย“ ที่ผู้บริโภคทั่วโลกตัดสินใจเลือก