“กาแฟดงมะไฟ” (Kafae Dong Ma Fai) หมายถึง กาแฟอาราบิก้าที่ปลูกบนภูเขาที่ระดับความสูงตั้งแต่ 400 – 700 เมตร เหนือระดับน้ำทะเล ในพื้นที่หมู่บ้านดงมะไฟ ตำบลมะเกลือใหม่ อำเภอสูงเนิน จังหวัดนครราชสีมา ด้วยกรรมวิธีการผลิตมาตรฐานเป็นกาแฟสารและกาแฟคั่ว-บด มีปริมาณคาเฟอีนไม่เกินร้อยละ 1 ของน้ำหนัก
การปลูก
(1) พันธุ์กาแฟที่ใช้ พันธุ์อาราบิก้า(Arabica) สายพันธุ์คาติมอร์ F-7
(2) เพาะเมล็ด โดยคัดเลือกเมล็ดพันธุ์ที่ปราศจากโรค และเพาะเมล็ดในแปลงที่เตรียมไว้
(3) เพาะต้นกล้า ในช่วง 8 – 12 เดือน
(4) คัดเลือกต้นกล้าที่มีลักษณะแข็งแรงสมบูรณ์
(5) ปลูกในพื้นที่ที่กำหนด มีระดับความสูงตั้งแต่ 400 – 700 เมตร เหนือระดับน้ำทะล
(6) ขุดหลุมปลูกขนาด 30 x 30 เซนติเมตร มีความลึก 30 เซนติเมตร รองกันหลุมด้วยปุ๋ยคอกโดยมีระยะห่างระหว่างหลุม 2 x 2 เมตร และมีต้นมะคาเดเมียปลูกร่วมด้วย เพื่อเป็นร่มเงาให้กับต้นกาแฟซึ่งการปลูกต้นมะคาเดเมียมีระยะห่าง 8 x 8 เมตร
การดูแลรักษา
(1) ให้น้ำอย่างเพียงพอและสม่ำเสมอ
(2) ใส่ปุ๋ย บำรุงใบ บำรุงผลตามความเหมาะสมโดยไม่ไช้สารเคมี
(3) ตัดแต่งกิ่งกาแฟอย่างสม่ำเสมอ
(4) ปลูกต้นกระดุมทองเป็นพืชคลุมดิน ป้องกันการชะล้าง ป้องกันวัชพืชอื่น และรักษาความชื้นของดิน
ลักษณะภูมิประเทศ
พื้นที่หมู่บ้านดงมะไฟส่วนใหญ่อยู่บนพื้นที่สูงมีลักษณะเป็นภูเขาหรือเทือกเขาบริเวณเขาใหญ่ มีความสูงตั้งแค่ 400 – 700 เมตร เหนือระดับน้ำทะเล พื้นที่มีความลาดชัน เป็นแหล่งต้นน้ำลำธาร ดินในหมู่บ้านดงมะไฟส่วนใหญ่มีลักษณะเป็นดินภูเขาไฟเก่าผสมกับดินลูกรังดินแดงมีดินทรายปนบ้าง ทำให้น้ำซึมผ่านได้ดี สภาพภูมิอากาศของหมู่บ้านดงมะไฟ กลางวันค่อนข้างร้อน กลางคืนหนาวเย็น เนื่องจากตั้งอยู่บนพื้นที่สูง มีปริมาณฝนพอเพียง ปัจจัยทางธรรมชาติและป้จจัยจากมนุษย์มีส่วนสำคัญต่อการผลิตกาแฟดงมะไฟ การเจริญเติบโตของกาแฟดงมะไฟมีรูปแบบเฉพาะตัวในรอบ 1 ปี เป็นไปตามลักษณะภูมิประเทศ รอบการเจริญเติบโตของกาแฟดงมะไฟมีความแตกต่างจากกาแฟที่ทำการปลูกจากแหล่งอื่น จึงทำให้กาแฟดงมะไฟมีระดับคาเฟอีนที่ต่ำกว่ากาแฟอาราบิก้าจากแหล่งอื่นคือมีระดับคาเฟอีนไม่เกินร้อยละ 1 โดยน้ำหนัก จึงเหมาะสำหรับผู้ที่ต้องการบริโภคกาแฟที่มีปริมาณคาเฟอีนต่ำ
ประวัติความเป็นมา
การปลูกกาแฟดงมะไฟ เริ่มขึ้นในปี พ.ศ. 2545 โดยนายนพดล ม่วงแก้ว เห็นว่าพื้นที่ของหมู่บ้านดงมะไฟ มีลักษณะภูมิประเทศและภูมิอากาศที่เหมาะแก่การปลูกกาแฟ โดยได้รับคำแนะนำจากศูนย์วิจัยเกษตรที่สูงเขาขาค้อ จ.เพชรณ์ ให้ปลูกต้นกาแฟอาราบิก้าควบคู่กับต้นมะคาเดเมียและมอบต้นพันธุ์กาแฟพันธุ์อาราบิก้าจำนวน 300 ต้น เพื่อนำมาทดลองปลูกที่หมู่บ้านดงมะไฟ หลังจากปลูกได้ 6 เดือนพบว่า ต้นกาแฟมีการเจริญเติบโต ตอบสนองกับสภาพแวดล้อมได้เป็นอย่างดี เมื่อเกษตรกรในพื้นที่เห็นว่าการปลูกกาแฟได้ผลค่อนข้างดี จึงหันมาปลูกกาแฟและเข้าร่วมกลุ่มมากขึ้น ในปี พ.ศ.2549 ได้มีการนำกาแฟที่เก็บเกี่ยวได้จากหมู่บ้านดงมะไฟไปแปรรูป สี คั่ว บด และทำการทดสอบรสชาติพบว่า กาแฟดงมะไฟ มีรสชาติที่กลมกล่อม และได้จดทะเบียนวิสาหกิจชุมชนใช้ชื่อว่า “วิสาหกิจชุมชนกาแฟอาราบิก้าและมะคาเดเมียแบบประชาอาสาบ้านดงมะไฟ” โดยจัดการอบรมวิธีการปลูก การดูแลรักษา การเก็บเกี่ยวและการแปรรูป ให้กับสมาชิก และในช่วงเดือนพฤศจิกายนของทุกปีจะมีการจัด “พิธีรับขวัญแม่กาแฟ” ซึ่งเป็นพิธีพื้นบ้านเพื่อแสดงถึงสำนึกนึกดีของเกษตรกรที่มีต่อต้นกาแฟ