“มะม่วงน้ำดอกไม้คุ้งบางกะเจ้า”(Nam Dok Mai Khung Bang Kachao Mango) หมายถึง มะม่วงน้ำดอกไม้พันธุ์เขียวนวลหรือพันธุ์น้ำดอกไม้พระประแดง ที่มีรสชาติหวานหอม เนื้อแน่น แห้ง สีจำปา เปลือกสีเหลืองอมเขียว ซึ่งปลูกในพื้นที่คุ้งบางกะเจ้าตั้งอยู่ในพื้นที่ 6 ตำบล คือ ตำบลบางกะเจ้า ตำบลบางกระสอบ ตำบลทรงคนอง ตำบลบางกอบัว ดำบลบางน้ำผึ้ง และตำบลบางยอ ของอำเภอพระประแดง จังหวัดสมุทรปราการ กรมทรัพย์สินทางปัญญาประกาศให้ขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI) “มะม่วงน้ำดอกไม้คุ้งบางกะเจ้า” เมื่อ 3 ก.ค. 2557
ลักษณะภูมิประเทศ
ลักษณะของพื้นที่ คุ้งบางกะเจ้า ถูกโอบล้อมด้วยแม่น้ำเจ้าพระยาทางประมาณ 17 กิโลเมตร รูปร่างของลำน้ำในช่วงนี้ตวัดคล้ายรูปบ่วงหรือกระเพาะ ลักษณะเฉพาะของพื้นที่เรียกว่า “ทางน้ำโค้งตวัด” และพื้นที่โดยทั่วไปสูงจากระดับน้ำทะเลปานกลาง เฉลี่ยระหว่าง 0.40 – 1.20 เมตร มีความลาดเอียงไม่เกินร้อยละ 1 ของพื้นที่ ทำให้พื้นที่มีลักษณะเป็นที่ราบน้ำท่วมถึง และอยู่ใกล้ปากแม่น้ำที่เชื่อมต่อกับทะเล จึงได้รับอิทธิพลการขึ้น – ลงของน้ำทะเล เกิดระบบนิเวศ 3 น้ำ คือ น้ำจืด น้ำเค็ม และน้ำกร่อย ระดับความเค็มของดินจึงเปลี่ยนแปลงไปตามฤดูกาล บริเวณนี้ประกอบด้วยดินเหนียวสีเทาเข้ม – เทาอมเขียว สลับด้วยชั้นทรายบางๆและเปลือกหอยอยู่ด้านล่าง ซึ่งเรียกว่า ชุดดินบางกอกเคลย์ ซึ่งเหมาะสมกับการเพาะปลูก
ลักษณะภูมิอากาศ
เป็นแบบฝนเมืองร้อน ทำให้ คุ้งบางกะเจ้า เป็นพื้นที่สีเขียวขนาดใหญ่ที่มีความอุดมสมบูรณ์เหมาะแก่ปลูกไม้ผลต่างๆ รวมทั้ง มะม่วงน้ำดอกไม้คุ้งบางกะเจ้า
ประวัติความเป็นมา
“คุ้งบางกะเจ้า” เป็นพื้นที่ที่มีประวัติศาสตร์มายาวนานโดยเป็นชุมชนชาวมอญที่เข้ามาพึ่งพระบรมโพธิสมภารองค์พระมหากษัตริย์ไทย มีประเพณีที่ยังสืบทอดกันต่อมาจนเป็นมรดกทางวัฒนธรรม เช่น ประเพณีสงกรานด์ การเล่นสะบ้า การบวชพระของชาวไทยรามัญ การแห่หงส์ธงตะขาบ เป็นต้น
ในอดีตประชากรส่วนใหญ่ประกอบอาชีพทำสวน พืชผลไม้ที่ปลูก ได้แก่ มะม่วงน้ำดอกไม้ มะปราง ละมุด มะนาว มะพร้าว กล้วยหอม กล้วยน้ำว้า กระท้อน มะไฟ มะเฟือง ชมพู่มะเหมี่ยว การปลูกมะม่วงน้ำดอกไม้คุ้งบางกะเจ้า เริ่มมีในพื้นที่คุ้งบางกะเจ้าเมื่อไหร่ ไม่มีหลักฐานยืนยัน แต่อาชีพทำสวนผลไม้ มีในสมัยรัชกาลที่ 1 ที่อ้างถึงเหตุการณ์ถมคลองลัดโพธิ์ เพื่อป้องกันน้ำท่วมเรือกสวนไร่นา ด้วยทำเลที่ตั้งของพื้นที่คุ้งบางกะเจ้า ที่มีแม่น้ำขนาดใหญ่โอบรอบ และอยู่ใกล้บริเวณปากแม่น้ำที่เชื่อมต่อกับทะเล ส่งผลให้เกิดระบบนิเวศ 3 น้ำ ที่มีผลต่อรสชาติ และความหวานของมะม่วงน้ำดอกไม้”คุ้งบางกะเจ้า”ซึ่งแตกต่างจากแหล่งอื่นประกอบกับสายพันธุ์มะม่วงน้ำดอกไม้ที่ดี (พันธุ์เขียวนวลหรือพันธุ์น้ำดอกไม้พระประแดง) ที่มีลักษณะเปลือกบาง และรูปทรงปลายผลแหลม อันส่งผลต่อลักษณะสีของเนื้อ และความหนาของเนื้อมะม่วง รวมทั้งวิถีชีวิตและภูมิปัญญาชาวบ้านในการดูแลผลผลิตก่อนเก็บเกี่ยวและหลังเก็บเกี่ยว ส่งผลคุณภาพที่ดีตามวิถีของธรรมชาติและชุมชน “มะม่วงน้ำดอกไม้คุ้งบางกะเจ้า” จึงได้รับการกล่าวขานว่าหวานที่สุดแห่งหนึ่งในประเทศไทย โดยเกษตรกรในพื้นที่เคยได้รับรางวัลชนะการประกวดมะม่วงน้ำดอกไม้ พิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ ประจำปี 2522 ณ มณฑลพิธีท้องสนามหลวง กรุงเทพ