เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2567 นายวิทยา แก้วมี รองอธิบดีกรมชลประทาน นำคณะเจ้าหน้าที่จากสำนักงานชลประทานที่ 16 โครงการชลประทานสงขลา และสำนักงานก่อสร้างชลประทานขนาดใหญ่ที่ 16 ลงพื้นที่ติดตามการเตรียมความพร้อมเฝ้าระวังการรองรับสถานการณ์น้ำในพื้นที่ภาคใต้ โดยเฉพาะในพื้นที่จังหวัดสงขลา ซึ่งเป็นเมืองเศรษฐกิจที่สำคัญ โดยได้มีการตรวจสอบความพร้อมของอาคารชลประทาน และกำหนดจุดเฝ้าระวังในการติดตามข้อมูล เพื่อใช้ในการบริหารจัดการน้ำ ดังนี้
จุดแรกบริเวณประตูระบายน้ำอู่ตะเภา และประตูระบายน้ำหน้าควน ซึ่งเป็นจุดรับน้ำเข้าคลองระบายน้ำภูมินาถดำริ (คลอง ร.1) ตำบลควนลัง อำเภอหาดใหญ่ สภาพอาคารชลประทาน มีความพร้อมต่อการใช้งาน อีกทั้งได้พิจารณากำหนดจุดเฝ้าระวังระดับน้ำเพื่อเตือนภัยในพื้นที่ ได้แก่ สถานี x.90 ที่บ้านบางศาลา อำเภอคลองหอยโข่ง ซึ่งตั้งอยู่ในคลองอู่ตะเภา ด้านเหนือน้ำของประตูระบายน้ำ ประมาณ 12.5 กิโลเมตร ได้เน้นย้ำให้ติดตามข้อมูลอย่างใกล้ชิด เพื่อประมวลและวิเคราะห์สถานการณ์ สำหรับการบริหารจัดการน้ำที่ประตูระบายน้ำทั้ง 2 แห่ง ตลอดจนใช้เป็นแนวทางในการบริหารจัดการน้ำ เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบต่อพื้นที่เขตเศรษฐกิจชั้นในของอำเภอหาดใหญ่
ต่อมาได้เดินทางต่อไปยังบริเวณสถานีสูบน้ำบางหยี และประตูระบายน้ำบางหยี ซึ่งตั้งอยู่บริเวณปลายคลองระบายน้ำภูมินาถดำริ (คลอง ร.1) เป็นจุดท้ายน้ำของคลองระบายน้ำ ก่อนไหลลงสู่ทะเลสาบสงขลา บริเวณตำบลบางกล่ำ อำเภอบางกล่ำ สภาพอาคารชลประทาน และเครื่องสูบน้ำ ขนาด 15 ลบ.ม./วินาที จำนวน 6 เครื่อง มีสภาพความพร้อม สามารถรองรับสถานการณ์น้ำในพื้นที่ได้อย่างเต็มศักยภาพ
ทั้งนี้ กรมชลประทาน ได้สั่งการให้โครงการชลประทานในพื้นที่ภาคใต้ เฝ้าระวังและติดตามข้อมูลน้ำฝนและน้ำท่าอย่างต่อเนื่อง เพื่อใช้ในการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ และสามารถเตรียมการรองรับสถานการณ์น้ำที่อาจเกิดขึ้น ได้อย่างเหมาะสมและทันต่อสถานการณ์ ตามนโยบายของรัฐบาล