นับเป็นเรื่องน่ายินดีตั้งแต่ประเทศไทยมีนโยบาย BCG (Bio Economy – Circular Economy – Green Economy) ที่เปิดกว้างให้มีการพัฒนาพืชสมุนไพรเพื่อส่งเสริมเศรษฐกิจ ผู้บริโภคจึงได้มี “เครื่องสำอางสมุนไพรไทย” เป็นทางเลือกที่หลากหลาย และปลอดภัยเพิ่มมากขึ้น
ศาสตราจารย์ ดร.เภสัชกรหญิงวราภรณ์ จรรยาประเสริฐ อาจารย์ประจำภาควิชาเภสัชกรรม คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งเคยได้รับทุนความตกลงเขตการค้าเสรี (Free Trade Area: FTA) กรมการค้าต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า ในประเทศไทยมีการใช้คำว่า “เวชสำอาง” เฉพาะในงานวิจัยเท่านั้น โดยตามพ.ร.บ.เครื่องสำอางจะครอบคลุมเฉพาะชนิดที่ใช้ทาภายนอกเพื่อให้ความชุ่มชื้นแก่ผิวเท่านั้น
โดยปัจจุบัน สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา กระทรวงสาธารณสุข ได้จัดตั้ง “กองผลิตภัณฑ์สมุนไพร” เพื่อพิสูจน์ประสิทธิภาพในแง่ต่างๆ เพื่อขอรับการขึ้นทะเบียนรับรอง ซึ่งนอกจากจะเป็นการเพิ่มความเชื่อมั่นให้กับผู้บริโภคแล้ว ยังเป็นการเปิดโอกาสให้นักวิจัยไทยได้ค้นคว้าและวิจัยสมุนไพรไทยเพื่อพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางสมุนไพรที่มีคุณภาพกันมากขึ้นอีกด้วย
ศาสตราจารย์ ดร. เภสัชกรหญิงวราภรณ์ จรรยาประเสริฐ ได้กล่าวแนะนำการผลิตเครื่องสำอางสมุนไพรเพื่อความปลอดภัยสำหรับผู้บริโภคว่า ผู้ผลิตจะต้องคัดเลือกสมุนไพรที่มีสารสำคัญที่ดี มีประโยชน์ และไม่เสี่ยงต่อการแพ้ ภายใต้กระบวนการผลิตที่ได้มาตรฐาน GMP (Good Manufacturing Practice) และการทดสอบการระคายเคือง
ซึ่งนักวิจัยที่จะสามารถพัฒนางานวิจัยจนบรรลุสู่เป้าหมาย หรือประสบผลสำเร็จได้ จะต้องคอย update ติดตามข่าวสารเทคโนโลยีใหม่ๆ อยู่เสมอ เพื่อการเรียนรู้ และนำเทคนิคใหม่ๆ มาใช้ในงานวิจัย