นายเอกภาพ พลซื่อ โฆษกกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (ฝ่ายการเมือง) เปิดเผยว่า นายฉันทานนท์ วรรณเขจร เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.)ได้รายงานความก้าวหน้าการทำเขตการค้าเสรี (เอฟทีเอ) เพื่อขยายการส่งออกสินค้า ลดต้นการผลิต และเพิ่มความสามารถในการแข่งขัน ระหว่างไทยและประเทศคู่ค้าทั่วโลก ในการประชุมผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงเกษตรฯที่มี นางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ รมว.เกษตรและสหกรณ์ เป็นประธาน
ทั้งนี้สศก.รายงานว่า ไทยเริ่มทำเอฟทีเอ ฉบับแรกกับอาเซี่ยนตั้งแต่ปี 2535 มีความตกลงทั้งสิ้น 15 ฉบับ กับ 19 ประเทศ และอยู่ระหว่างการเจรจาอีก 5 ฉบับ ได้แก่ ไทย-สมาคมการค้าแห่งยุโรป(EFTA) อาเซี่ยน-แคนาดา ไทย-สหภาพยุโรป ไทย-เกาหลีใต้ และ ไทย-ภูฎาน โดยไทยได้ดุลการค้า เสียส่วนใหญ่ อาทิได้ดุล ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ จีน อินเดีย ฮ่องกง และประเทศสมาชิกอาเซี่ยนทุกประเทศ และขาดดุลการค้าเพียง 4 ประเทศ ได้แก่ นิวซีแลนด์ ออสเตรเลีย เปรูและชิลี
สำหรับปี 2566 การค้าสินค้าเกษตรทั้งหมดมีมูลค่ารวม 2.37 ล้านล้านบาท ส่งออก 1.66 ล้านล้านบาท และนำเข้า 0.71 ล้านล้านบาท โดยสินค้าที่ไทยส่งออก มีดังนี้ ข้าว 1.6 แสนล้านบาท ทุเรียน 1.4 แสนล้านบาท ไก่ปรุงแต่ง 9.4 หมื่นล้านบาท ยางพารา 7.8 หมื่นล้านบาท และอาหารสุนัขและแมว 1.2 หมื่นล้านบาท ด้านสินค้านำเข้า ได้แก่ ถั่วเหลือง 7หมื่นล้านบาท กากน้ำมันถั่วเหลือ 6.2 หมื่นล้านบาท ข้าวสาลี 4.5 หมื่นล้านบาท ปลาสคิปแจ๊คแช่แข็ง 3.1 หมื่นล้านบาท และอาหารปรุงแต่ง 2.8 หมื่นล้านบาท
ด้านการทำเอฟทีเอระหว่าง ไทยกับออสเตรเลีย มีการยกเลิกภาษีนำเข้าระหว่างกัน 100% พบว่า การเปลี่ยนแปลง มีตัวเลข ได้ดุลและเสียดุล อย่างน่าสงสัย โดยปี 2547 ก่อนผลการทำเอฟทีเอระหว่างกัน ไทยได้ดุลการค้าออสเตรเลีย 3,800 ล้านบาท เมื่อ ปี 2548 ไทยกับออสเตรเลียสลับกันได้ดุลการค้าและเสียดุลการค้าระหว่างกันมาตลอด จนปี 2564 ไทยเสียดุลการค้าให้ออสเตรเลีย 5,538 ล้านบาท
ปี 2565 ไทยได้ดุลการค้ากับออสเตรเลีย 1,573 ล้านบาท ปี 2566 ไทยเสียดุลการค้าให้ออสเตรเลีย 17,785 ล้านบาท ซึ่งเป็นการเสียดุลการค้าให้ออสเตรเลียแบบก้าวกระโดดและผิดสังเกตุ สศก. จึงชี้แจงในเรื่องนี้ว่า เดิมไทยนำเข้าสินค้าบางอย่างจากจากรัสเซียและยูเครน เนื่องจากปี 2566 เกิดส่งครามระหว่างรัสเซีย และยูเครน ไทยส่งผลให้ไทยไม่สามารถนำเข้าสินค้าจากที่เดิมได้จึงหันมานำเข้าสินค้าจากออสเตรเลียแทน