กรมส่งเสริมการเกษตรชูผลงาน “เกษตรเขตเมืองอัจฉริยะ” เปลี่ยนพื้นที่ว่างเปล่าสู่พื้นที่เกษตรกรรม ตามหลักตลาดนำ นวัตกรรมเสริม เพิ่มรายได้สู่คนเมือง

S 69853731

นายรพีทัศน์ อุ่นจิตตพันธ์ รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่า จากแนวคิดในการสร้างรายได้เพิ่มให้กับคนเมือง และการใช้พื้นที่ให้เกิดประโยชน์สูงสุด กรมส่งเสริมการเกษตรได้ดำเนินงานนำร่องโครงการเกษตรเขตเมืองอัจฉริยะ (Urban Agriculture) สอดคล้องตามนโยบาย “ตลาดนำ นวัตกรรมเสริม เพิ่มรายได้” ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เพื่อพัฒนาพื้นที่เขตเมืองที่รกร้างว่างเปล่า หรือพื้นที่ทำการเกษตรที่ใช้ประโยชน์ไม่เต็มประสิทธิภาพ สู่การเป็นแปลงต้นแบบเกษตรเขตเมืองอัจฉริยะ ที่ใช้เทคโนโลยี นวัตกรรม ในการทำการเกษตรสู่การเป็นแหล่งผลิตอาหารสำคัญในอนาคต โดยในปี67 ได้เริ่มดำเนินการนำร่องใน 5 จังหวัดได้แก่ กรุงเทพมหานคร จังหวัดนนทบุรี ปทุมธานี สมุทรปราการ และจังหวัดสมุทรสาคร รวมจำนวน 1,000 แปลง โดยมีผลสำเร็จของแต่ละพื้นที่ ดังนี้

S 69853733

1.กรุงเทพมหานคร คัดเลือกพื้นที่ของคุณนพมาส มณีขาว ในเขตมีนบุรี พื้นที่ประมาณ 20 ไร่ ซึ่งเป็นพื้นที่รกร้างว่างเปล่ามาหลายปี มาปรับทำการเกษตรโดยเริ่มจากขุดบ่อเลี้ยงปลา และได้นำไม้ผล เช่น กล้วย ขนุน กระท้อน ฯลฯ มาปลูกในพื้นที่ รวมถึงปลูกผักต่างๆ ไว้รับประทานภายในครัวเรือน หากมีผลผลิตออกเป็นจำนวนมาก จะแบ่งไปจำหน่ายหน้าสวน นอกนี้ยังนำนวัตกรรมระบบโซล่าเซลล์ เข้ามาช่วยบริหารจัดการระบบน้ำภายในแปลง เกษตรกรได้รับประโยชน์จากลดภาษีที่ดินและมีผลผลิตปลอดภัยบริโภคในครัวเรือน เกิดพื้นที่สีเขียวยั่งยืนในพื้นที่เขตที่อยู่อาศัยในเมืองเพิ่มขึ้น

S 69853734

2.จังหวัดนนทบุรี คัดเลือกพื้นที่ของคุณกำพล วงศ์ตรีเนตรกุล ในตำบลคลองข่อย อำเภอปากเกร็ด พื้นที่ประมาณ 24 ไร่ โดยพื้นที่นี้ปลูกกล้วยมาแล้วถึง 3 ครั้ง แต่ไม่ประสบความสำเร็จ จึงร่วมมือกับคุณชคดี นนทสวัสดิ์ศรี ผู้มีภูมิปัญญา และประสบการณ์ในการทำสวนทุเรียนวิถีนนท์ เข้ามาเป็น Startup CEO เพื่อช่วยวางแผนและบริหารจัดการภายในแปลงให้เป็น “สวนทุเรียนวิถีนนท์ ผสมผสานนวัตกรรมและเทคโนโลยีการเกษตร” โดยเทคโนโลยีและนวัตกรรมการปลูกทุเรียนแบบ “air plot” มีการขุดบ่อน้ำขนาดใหญ่ซึ่งปูด้วยผ้าใบเพื่อป้องกันการรุกล้ำของน้ำเค็มสำหรับใช้ภายในแปลง หวังพัฒนาต่อยอดเป็นศูนย์เรียนรู้ด้านนวัตกรรม เพื่อยกระดับและเก็บรวบรวมพันธุ์ทุเรียนเมืองนนท์ในอนาคต นอกจากนี้ยังมีกิจกรรมสร้างรายได้ระยะสั้น ได้แก่ ผักสลัด ข้าวโพดฝักอ่อน กล้วย ซึ่งเมื่อมีผลผลิตออกสู่ตลาดแล้ว จะเปิดให้ผู้สนใจเข้ามาศึกษาดูงาน และขยายผลความสำเร็จสู่เกษตรกรทั่วไปต่อไป

S 69853735

3.จังหวัดปทุมธานี คัดเลือกพื้นที่ของคุณศิริพร บ่อน้ำเชี่ยว ในตำบลลาดหลุมแก้ว อำเภอลาดหลุมแก้ว พื้นที่ประมาณ 6 ไร่ มาทำการเกษตรแบบผสมผสาน โดยเน้นการผลิตที่มีคุณภาพ ผลิตน้อยราคาสูง ประกอบด้วย การปลูกผักเพื่อสุขภาพในโรงเรือน เช่น ผักเคล สวิสชาร์ด การปลูกผักสวนครัวและสมุนไพร เช่น แฟง มะเขือ กระเจี๊ยบ ถั่วฝักยาว จิงจูฉ่าย ต้นผักเป็ดญี่ปุ่น การเลี้ยงผำและแหนแดง รวมถึงเลี้ยงไส้เดือน เพื่อจำหน่ายมูลไส้เดือน และอุปกรณ์การเลี้ยงไส้เดือนด้วย โดยมีช่องทางการจำหน่ายทั้งออฟไลน์ ณ แปลงปลูก และทางออนไลน์ เช่น Facebook, Shopee, Lazada ช่วยสร้างรายได้มากกว่าปีละสี่แสนบาท

S 69853736

4.จังหวัดสมุทรปราการ คัดเลือกพื้นที่ของคุณอัมพร แสงฤทธิ์ ในตำบลบางด้วน อำเภอเมืองสมุทรปราการ พื้นที่ประมาณ 6 ไร่ เลือกพืชปลูกให้เหมาะสมกับพื้นที่ เช่น ผักเคล กระเจี๊ยบ ผังบุ้ง ไม้ผลต่าง ๆ และได้ขุดบ่อกักเก็บน้ำไว้ใช้ภายในแปลง โดยมีคุณสมคิด น่วมศิริ เข้ามาร่วมเป็น Startup CEO รวมถึงได้รับคำแนะนำในการใช้พลังงานโซล่าเซลล์จาก บริษัท FARMD ASIA สำหรับควบคุมระบบน้ำภายในแปลงปลูก ซึ่งคาดว่าช่วยลดต้นทุนการผลิตได้ประมาณ ร้อยละ 10 นอกจากนี้ยังร่วมมือกับกลุ่มวิสาหกิจชุมชนบ้านสีเขียว ณ บางด้วน ในการแปรรูปผลผลิตส่งแหล่งจำหน่าย ได้แก่ ตลาดจริงใจ ตลาดภายในชุมชน ตลาดพรีออร์เดอร์ กลุ่มไลน์ภายในชุมชน และเพจกลุ่มวิสาหกิจชุมชนบ้านสีเขียว ณ บางด้วน สร้างรายได้สุทธิ ในปีแรก 63,000 บาท และเพิ่มขึ้นต่อเนื่องทุกปี จากเดิมไม่มีรายได้จากพื้นที่แปลงนี้

S 69853736

5.จังหวัดสมุทรสาคร คัดเลือกพื้นที่ของคุณสมศักดิ์ เกิดเปี่ยม ณ ฟาร์มทรัพย์แทนวันดี หมู่ 1 ตำบลบางน้ำจืด อำเภอเมืองสมุทรสาคร พื้นที่ขนาด 3 ไร่ สร้างโรงเรือนอัจฉริยะ เพื่อปลูกเมล่อน มะเขือเทศ และพืชผักไฮโดรโปรนิกส์ เช่น ฟักทองญี่ปุ่น แตงกวาญี่ปุ่น โดยนำความรู้ด้านช่างอิเล็กทรอนิกส์มาประยุกต์ใช้ในการจัดการพื้นที่ ลดการเสียภาษีที่ดินว่างเปล่ามาทำการเกษตร เกษตรกรมีแนวคิดต้องปลูกพืชที่ทำให้เกิดรายได้และให้ผลตอบแทนคุ้มค่า ซึ่งในอนาคตตั้งใจพัฒนาพื้นที่เป็นศูนย์เรียนรู้ด้านเกษตรเขตเมือง แหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตร แหล่งรวบรวมผลผลิต และจัดหากลุ่มเครือข่ายเพื่อรองรับการตลาด สร้างรายได้เพิ่มขึ้นปีละไม่น้อยกว่า 400,000 บาท โดยมีช่องทางตลาดผ่านพ่อค้า ร้านค้า ปั๊มน้ำมัน ลูกค้าประจำ ห้างสรรพสินค้า และตลาดออนไลน์

S 69853737

“ผลจากการดำเนินการนำร่องใน 5 พื้นที่นี้ สามารถสร้างรายได้ให้กับเกษตรกร หรือเจ้าของที่อย่างเป็นรูปธรรม ซึ่งในอนาคต กรมส่งเสริมการเกษตรจะได้ขยายผลโครงการดังกล่าวไปยังเกษตรกรข้างเคียง โดยผ่านกิจกรรมศึกษาดูงานจากแปลงต้นแบบดังกล่าว ซึ่งจะทำให้เกิดการใช้ประโยชน์พื้นที่รกร้างว่างเปล่า และพื้นที่เกษตรที่ใช้ประโยชน์ไม่คุ้มค่าได้อย่างมีประสิทธิภาพ สร้างพื้นที่สีเขียว และพืชอาหารที่คุณภาพสู่ตลาดต่อไป” รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวทิ้งท้าย

S 69853738
S 69853740
S 69853741
S 69853742
S 69853743
S 69853744