กรมวิชาการเกษตร จับมือ ภาครัฐ ภาคเอกชน ขับเคลื่อน นโยบาย รมว.เกษตร จัดทำแผนพัฒนาไทยเป็นศูนย์กลางเมล็ดพันธุ์พืช และพันธุ์พืชเขตร้อนของโลก

773190

นายรพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์  อธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าวว่า ตามที่กรมวิชาการเกษตร ได้รับนโยบายจาก ศ.ดร. นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในการจัดการทรัพยากรทางการเกษตร โดยนำนโยบายโมเดลเศรษฐกิจ BCG มาใช้เป็นแนวทางในการพัฒนาอย่างสมดุลตามเป้าหมาย SDGs ของสหประชาชาติ โดยเน้นย้ำการเพิ่มความยั่งยืนด้าน Food Security ทั้งอาหาร และอาหารสัตว์ มุ่งสู่เป้าหมาย Food Security Goal 2030

773191

เพื่อเป็นการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ให้เป็นไปตามนโยบายของ รมว.เกษตร จึงมีการจัดประชุม      “คณะทำงานภาครัฐและเอกชนการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ศูนย์กลางเมล็ดพันธุ์พืชแห่งชาติ โดยความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชน” สำหรับพิจารณาร่างแผนพัฒนาประเทศไทย เป็นศูนย์กลางเมล็ดพันธุ์พืชและพันธุ์พืชเขตร้อนของโลก (Tropical Seed Hub) โดยมีผู้บริหาร หรือผู้แทน จากหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชน จากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ กรมวิชาการเกษตร, กรมส่งเสริมการเกษตร, กรมส่งเสริมสหกรณ์, สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร, สำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (องค์การมหาชน), สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ, สมาคมการค้าเมล็ดพันธุ์ไทย, สมาคมเมล็ดพันธุ์แห่งประเทศไทย, สมาคมผู้ผลิตอาหารสัตว์ไทย, สมาคมเมล็ดพันธุ์ภาคพื้นเอเชียแปซิฟิก, สำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย, สมาคมการค้ามันสำปะหลังไทย, สมาคมโรงงานผู้ผลิตมันสำปะหลังภาคตะวันออกเฉียงเหนือ, สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย, สภาหอการค้าไทย, กรมการค้าภายใน, สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ เข้าร่วมประชุม

773192

สาระสำคัญในการประชุม คือ การร่วมพิจารณาให้ความเห็นชอบร่างแผนพัฒนาไทยเป็นศูนย์กลางเมล็ดพันธุ์พืช และพันธุ์พืชเขตร้อนของโลก (Tropical Seed Hub) ครอบคลุมการผลิต การจำหน่ายเมล็ดพันธุ์พืชและส่วนขยายพันธุ์พืชที่มีคุณภาพดี การให้บริการทางเทคโนโลยีนวัตกรรมทางเมล็ดพันธุ์ การวิจัยและพัฒนาพันธุ์พืชใหม่ การปรับปรุงพันธุ์พืช โดยใช้เทคโนโลยีชีวภาพสมัยใหม่ การจัดทำระบบฐานข้อมูลกลางเชื้อพันธุกรรมพืชที่สามารถแลกเปลี่ยนและเข้าถึง ปรับปรุงและพัฒนากฎหมาย กฎ ระเบียบ เพื่ออำนวยความสะดวกในการปรับปรุงพันธุ์พืช การผลิตเมล็ดพันธุ์คุณภาพดี และการค้าระหว่างประเทศ การนำเข้า ส่งออก และนำผ่านเมล็ดพันธุ์ควบคุม และการพัฒนาศักยภาพบุคลากรด้านปรับปรุงพันธุ์พืชและเทคโนโลยีเมล็ดพันธุ์พืชสมัยใหม่ เพื่อเตรียมแนวทางการดำเนินงาน โครงการ งบประมาณ และแหล่งงบประมาณ โดยมีกลไกการขับเคลื่อนทั้งหมด 6 กลยุทธ์ ดังนี้

773205

กลยุทธ์ 1 ส่งเสริมการวิจัยและพัฒนาพันธุ์พืชใหม่ เพิ่มฐานพันธุกรรมพืช โดยการนำเข้าเชื้อพันธุกรรมจากต่างประเทศ ภายใต้หลัก “ตลาดนำ การวิจัย”

กลยุทธ์ 2 ส่งเสริมการปรับปรุงพันธุ์พืชโดยใช้เทคโนโลยีชีวภาพสมัยใหม่ โดยใช้เทคโนโลยีการปรับแต่งจีโนม นำร่องแปลงสาธิตการผลิตพืชจีโนม ควบคู่กับ การจัดการเกษตรอัจฉริยะ การใช้ชีวภัณฑ์เพื่อลดการใช้สารเคมี การใช้โดรนทางการเกษตร รวมถึงการผลิตพืชเข้าสู่สังคมคาร์บอนต่ำ

773204

กลยุทธ์ 3 จัดทำฐานข้อมูลเชื้อพันธุกรรมพืช โดยกรมวิชาการเกษตรเชิญชวนผู้ประกอบการทั้งไทย และต่างประเทศ โดยนำข้อมูลทางพันธุกรรมพืชที่มี เพื่อเข้าสู่ฐานข้อมูลเชื้อพันธุกรรมพืชกลางของประเทศ 

กลยุทธ์ 4 อำนวยความสะดวกการนำเข้า ส่งออก ส่งต่อ และการค้าเมล็ดพันธุ์ ให้เชื่อมโยงกับระบบอื่นที่จำเป็นต้องใช้สำหรับการนำเข้า และส่งออกเมล็ดพันธุ์ระหว่างประเทศ

773217

กลยุทธ์ 5 เพิ่มศักยภาพด้านการผลิตเมล็ดพันธุ์พืช สร้างขีดความสามารถในการผลิตเมล็ดพันธุ์พืชคุณภาพ เข้าสู่มาตรฐานสากล

กลยุทธ์ 6 เสริมสร้างความเข้มแข็งด้านทรัพยากรบุคคลตลอดห่วงโซ่ อุตสาหกรรมเมล็ดพันธุ์ พัฒนาศักยภาพนักวิจัยด้านการปรับปรุงพันธุ์พืชด้วยเทคโนโลยีสมัยใหม่

ปัจจุบันเทคโนโลยีการปรับปรุงพันธุ์ใหม่ (New Breeding Technology – NBT) ก้าวหน้าอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะเทคโนโลยีการปรับแต่งจีโนม (Genome Editing, GEd) ที่มีความปลอดภัยสูง และไม่เป็นพืช GMOs ไม่มีการตัดต่อ DNA จากสิ่งมีชีวิตอื่นเข้ามาในการปรับปรุงพันธุ์ ซึ่งในผลิตภัณฑ์สุดท้ายไม่มี DNA แปลกปลอมจากสิ่งมีชีวิตอื่น จึงมีศักยภาพที่เหมาะสมสำหรับการปรับปรุงพันธุ์สิ่งมีชีวิต เพื่อใช้ประโยชน์ในภาคการเกษตร สามารถปลดปล่อยสู่สิ่งแวดล้อมได้อย่างปลอดภัย และจำหน่ายเชิงพาณิชย์อย่างเหมาะสม อีกทั้งยังมีประสิทธิภาพส่งเสริมการแข่งขันของภาคการเกษตร เพื่อรองรับวิกฤตความมั่นคงทางอาหาร การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและการระบาดของโรค แมลง ศัตรูพืชอุบัติใหม่ซึ่งองค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) และองค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (OECD) ให้การยอมรับและสนับสนุนเทคโนโลยี รวมถึงประเทศต่างๆ ให้การยอมรับและสนับสนุนเทคโนโลยีที่มีความปลอดภัยสูงนี้

กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้เล็งเห็นความสำคัญของเทคโนโลยีและนวัตกรรมดังกล่าว จึงออกประกาศ เรื่อง การรับรองสิ่งมีชีวิตที่พัฒนาจากเทคโนโลยีการปรับแต่งจีโนม เพื่อใช้ประโยชน์ในภาคการเกษตร พ.ศ. 2567 เมื่อวันที่ 11 กรกฎาคม 2567 และกรมวิชาการเกษตรออกประกาศ เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการรับรองพืชที่พัฒนาจากเทคโนโลยีการปรับแต่งจีโนม พ.ศ. 2567 เมื่อวันที่ 9 สิงหาคม 2567 กรมวิชาการเกษตรยังเร่งพัฒนาบุคลากร และห้องปฏิบัติการ รองรับการขับเคลื่อนเทคโนโลยีในภาคการเกษตร พัฒนาไทยเป็นศูนย์กลางเมล็ดพันธุ์พืชเขตร้อนของโลก โดยกรมวิชาการเกษตร ได้มอบใบประกาศรับรองความสามารถห้องปฏิบัติการภาคเอกชน เพื่อให้ภาคเอกชนมุ่งเป้าเป็น Tropical seed hub โดยยกระดับ Phytosanitary Certificate ของไทยเข้าสู่ระบบดิจิตัล เป็นที่ยอมรับในเวทีการค้าเมล็ดพันธุ์ และการกำกับดูแลการเคลื่อนย้ายเมล็ดพันธุ์ระหว่างประเทศ เสริมสร้างความเชื่อมั่นในระบบการตรวจสอบศัตรูพืชของไทย ที่มีความชัดเจน รวดเร็ว ทันสถานการณ์ โดยเฉพาะในภาวะที่มีการแข่งขันทางการค้าสูง ส่งเสริม และสนับสนุนการของบประมาณจากแหล่งทุน สกสว. สวก. และเครือข่ายต่างๆ ผลักดันงบประมาณโครงการความร่วมมือระหว่างประเทศ และได้ประสานความร่วมมือกับ Agriculture and Food System Institute และหน่วยงานในประเทศไทย เพื่อพัฒนาแนวทางการใช้ CHATBot AI และสร้างการรับรู้ให้กับภาคส่วนต่างๆ ผ่านช่องทางการสัมมนา ให้กลุ่มเยาวชนคนรุ่นใหม่ ประชาชนทั่วไป รวมถึงเกษตรกรให้เข้าใจถึงเทคโนโลยี GEd ที่ถูกต้อง นำไปสู่การขับเคลื่อนใช้ประโยชน์ และสร้างความสามารถในการแข่งขันและพึ่งพาตัวเองของประเทศไทย ตอบโจทย์การปฏิบัติทางการเกษตรที่ดี (GAP) นำไปสู่การลดการใช้สารเคมีทางการเกษตร เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ลดการเกิดก๊าซเรือนกระจก สอดรับเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน (SDGs) ของประเทศ สู่ความปลอดภัยและความมั่นคงทางอาหารของโลก อธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าวในตอนท้าย