เจาะกลางใจ…โดยขุนพิเรนทร์
ตำบลกระสุนตกบ้าง กระโถนท้องพระโรงบ้าง เป็นคำที่ชอบเรียก “เกษตรตำบล” เพราะเมื่อไหร่ที่เกิดเรื่องราวไม่ดีในตำบลนั้นที่เกี่ยวข้องกับภาคการเกษตร “เกษตรตำบล” คือหนึ่งในเป้าโดนด่า ทั้งที่ในหลายๆเรื่องไม่เกี่ยวข้องกับ “เกษตรตำบล” ด้วยซ้ำ แต่เอาเถอะ ไหนไหนก็ไหน Where is Where Where ตามประสาวัยรุ่น ทุกเรื่องราวที่เป็นเกษตร ในพื้นที่คนก็คิดถึงเกษตรตำบล เกษตรอำเภออยู่แล้ว
เกษตรกรตำบลน่าจะยินดีนะครับเมื่อคนคิดถึงเรานั่นหมายถึงเราอยู่ในสายตาอยู่ในความคิดถึงของเกษตรกรยิ่งเมื่อเกษตรกรมีความทุกข์ยากเดือดร้อนเขาก็หวังพึ่งเราทั้งนั้น ความสำคัญของเกษตรตำบลสำหรับเกษตรกรหลายต่อหลายคนจึงมีมากมายจริงๆ
วันนี้ “ขุนพิเรนทร์” ไม่ได้เขียนถึงเกษตรตำบลในเรื่องราวไม่ดีหรอกนะครับ มีเรื่องราวดีๆมีมุมดีๆเยอะโดยส่วนตัวติดตามเพจหรือเฟสส่วนตัวของเกษตรตำบล เกษตรอำเภออยู่หลายๆพื้นที่ยิ่งหน้าทุเรียนด้วยแล้ว ตามส่องไปทั่ว หาทุเรียนพันธุ์แปลก และเิรื่องราวดีต่อไปนี้อยากให้ทุกคนได้อ่านกันครับ
เมื่อเกษตรตำบลเป็นได้มากกว่าที่เรารู้…
[…ทุเรียนศรีสัชนาลัยมีมาพร้อมๆกับทุเรียนอุตรดิตถ์ค่ะ แต่ไม่มีตลาดจำหน่ายต้องเอาไปจำหน่ายที่อุตรดิตถ์ ขายเป็นทุเรียนอุตรดิตถ์ ช่วง 4-5 ปี ที่ผ่านมาทุเรียนศรีสัชนาลัยให้ผลผลิตเยอะขึ้น พ่อค้าทางลับแลและทางภาคใต้จึงมาเปิดล้งรับซื้อผลผลิต แต่ก็ยังขายในนามทุเรียนอุตรดิตถ์
ช่วงเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ได้ทราบข่าวว่าจากพาณิชย์ว่า ท่าน ผวจ. มีนโยบายให้ตั้งชื่อทุเรียน มอบหมายให้เกษตรดำเนินการ และจะให้หนูตั้งชื่อทุเรียนที่จะใช้ในการโปรโมท หนูเห็นว่าทุเรียนของทั้งอำเภอจะให้หนูเป็นคนตั้งคงไม่เหมาะสมปรึกษาท่าน กษอ.และนำเรียนท่าน กษจ. ท่านเลยเรียกประชุมหาแนวทางที่จะประกวดตั้งชื่อ
#หมอนพระร่วง…คือชื่อของทุเรียนหมอนทองที่ปลูก ณ ดินแดนของราชวงศ์พระร่วง (ราชวงค์ของพ่อขุนรามคำแหง)ที่ชาวสุโขทัยเคารพนับถือ
ได้จากการประกวดตั้งชื่อทุเรียน คณะกรรมการคัดจากชื่อที่มีคนส่งเข้าประกวดกว่า500ชื่อ
จนได้ 5 ชื่อสุดท้ายก่อนที่จะให้ประชาชนโหวตอีกครั้ง
-ขุนเขา
-หมอนพระร่วง
-เจ้าหมื่นด้ง
-เขาขุนศรี
-พระร่วง
คะแนนจากคณะกรรมการ30% คะแนนจากการโหวต70%
จนสุดท้าย…ได้ชื่อว่า #ทุเรียนหมอนพระร่วง
ทุเรียนสุโขทัย มีมานานมาก แต่ไม่ได้รับการสนับสนุน ไม่เหมือนทุเรียนภูเขาไฟฯหนูสอบถามจากผู้นำชุมชนต่างๆบอกว่าที่ผ่านมาทางภาครัฐยังไม่มีใครให้ความสำคัญเท่าที่ควรจะเป็น จนหนูเข้ามาเป็นเกษตรตำบลเลยเข้าไปคุยกับทางผู้นำอยากตั้งแปลงใหญ่ อยากให้คนรู้จักทุเรียนศรีสัชฯ ท่านเกษตรจังหวัดท่านก็ให้ความสำคัญ และช่วยประสานข้างบนให้ จนท่านผวจ.ให้ท่านรองฯให้มาดูแล
เกิดมา 35 ปี ก็เห็นทุเรียนแล้ว หนูเป็น นวส.ตำบลบ้านตึก แต่เป็นคนแม่สินที่เป็นแหล่งปลูกส้ม ต.แม่สินก็มีทุเรียนพร้อมๆกับบ้านตึก
ทุเรียนศรีสัชนาลัย อยู่ตรงไหน เพจ Checkin ศรีสัชนาลัย ร่วมกับ สำนักงานเกษตรอำเภอศรีสัชนาลัย พาไปทุเรียนที่ดอยแป๋ป๋าดำ บ้านห้วยตม หมู่ 7 ตำบลบ้านตึก อำเภอศรีสัชนาลัย ซึ่งเป็นแหล่งปลูกทุเรียนที่สำคัญของจังหวัดสุโขทัย มีประวัติการปลูกทุเรียนพร้อมๆ กับทุเรียนลับแล เนื่องจากตำบลบ้านตึกสุโขทัย มีอาณาเขตติดต่อกับตำบลแม่พูล อำเภอลับแล จังหวัดอุตรดิตถ์ เกษตรกรปลูกทุเรียนหลากหลายสายพันธุ์ ไม่ว่าจะเป็นหมอนทอง หลงลับแล หลินลับแล พวงมณี นกกระจิบ และที่สำคัญทุเรียนที่นี่เป็นทุเรียนเทวดาเลี้ยง
ที่เรียกว่าเทวดาเลี้ยงเพราะสภาพพื้นที่เป็นภูเขาสูง จึงเป็นการปลูกแบบธรรมชาติ เติบโตโดยอาศัยน้ำฝนที่ตกลงมาเป็นส่วนใหญ่ เดิมชาวบ้านส่วนใหญ่ทำไร่ข้าวโพด ต่อมาเริ่มมีการทำสวน ปลูกทุเรียนพันธุ์พื้นเมือง และลางสาด
ต่อมากรมส่งเสริมการเกษตรได้เข้ามาส่งเสริมให้ปลูกทุเรียนพันธุ์หมอนทอง ซึ่งเป็นพันธุ์ที่เป็นที่ต้องการของตลาด และมีราคาค่อนข้างสูง และเกษตรกรเองมีการแสวงหาความรู้ในการทำทุเรียนให้มีคุณภาพจนเป็นที่ยอมรับ
ส่งผลให้มีการปลูกอย่างแพร่หลายในตำบลบ้านตึก และขยายพื้นที่ปลูกไปยังตำบลแม่สิน ตำบลแม่สำและตำบลบ้านแก่ง จนผู้บริโภครู้จักกันในชื่อ #ทุเรียนศรีสัชนาลัย
นอกจากการดูแลที่ดีแล้ว เกษตรกรตำบลบ้านตึกยังให้ความสำคัญกับการทำทุเรียนคุณภาพ และขอรับมาตรฐานการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดี (GAP) ซึ่งคำนึงถึงความปลอดภัยของผู้ผลิต และผู้บริโภค ยิ่งสร้างความมั่นใจแก่ผู้บริโภค
ซึ่งตอนนี้ผลผลิตทุเรียนศรีสัชนาลัย กำลังทยอยออกสู่ท่องตลาด ด้วยรสชาติหอม หวาน มัน กลมกล่อมละมุนลิ้น รับรองได้ว่า คุ้มค่า คุ้มราคา และอร่อยไม่แพ้ทุเรียนที่ใดๆในประเทศไทย…]
ข้อความด้านบน “ขุนพิเรนทร์” ไม่ตัดตอนหรือเปลี่ยนข้อความใดๆ อ่านแล้วยิ้มเข้าไปถึงหัวใจ “เกษตรตำบล” ท่านนี้ ถึงแล้วซึ่งหัวใจนักพัฒนา ถึงแล้วกับคำว่าที่พึ่ง ถึงแล้วกับคำว่านักส่งเสริมการเกษตร โชคดีในความพยายามของน้องที่ได้รับการตอบรับจากผู้บริหารทั้งจากเกษตรอำเภอ เกษตรจังหวัด หรือแม้แต่ทางมหาดไทยอย่างท่านผู้ว่าราชการจังหวัด และ หน่วยงานของจังหวัดที่มีส่วนเกี่ยวข้องด้านนี้
ท่านอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร เข้มแข็ง ยุติธรรมดำรง มองประเด็นการทำงานเชิงรุกแบบนี้อย่างไร น่าสนใจนะครับ ฟันเฟืองเล็กๆ ที่ขับเคลื่อนงานในพื้นที่ น่าชื่นชมครับ