นักวิทยาศาสตร์ด้านการเกษตรของจีนพัฒนาข้าวฟ่างหางกระรอก หรือข้าวฟ่างหางหมา (foxtail millet) สายพันธุ์ใหม่ ซึ่งให้ผลผลิตสูงเป็นประวัติการณ์ในช่วงฤดูร้อน และคาดว่าความคืบหน้าครั้งนี้จะช่วยส่งเสริมการผลิตธัญพืชและฟื้นฟูอุตสาหกรรมข้าวฟ่างของจีน
จงกู่ 25 (Zhonggu 25) ข้าวฟ่างหางกระรอกสายพันธุ์ใหม่ ซึ่งพัฒนาโดยนักวิจัยจากสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์พืชไร่ สังกัดสถาบันบัณฑิตวิทยาศาสตร์การเกษตรจีน ถูกนำมาเพาะปลูกในไร่สาธิตในมณฑลเหอหนานทางตอนกลางของจีน โดยมีผลผลิต 625.92 กิโลกรัมต่อหมู่ (ราว 0.41 ไร่) ทำลายสถิติผลผลิตต่อหมู่ของข้าวฟ่างหางกระรอกในช่วงฤดูร้อนปี 2014
ข้าวฟ่างหางกระรอก สายพันธุ์ใหม่ให้ผลผลิตสูงเป็นประวัติการณ์แม้เผชิญสภาพอากาศเลวร้าย เช่น ฝนตกหนักและขาดแสงแดดในปีนี้ ซึ่งมีปัจจัยมาจากลักษณะเด่นของพันธุ์ข้าวฟ่างนี้ เช่น ทนทานต่อการหักล้ม ให้ผลผลิตสูง ทนต่อโรคและความเครียดได้ดี รวมทั้งการใช้เทคนิคการปลูกที่เหมาะสมที่สุดซึ่งช่วยเพิ่มศักยภาพสายพันธุ์ให้ดียิ่งขึ้น
(ภาพจากสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์พืชไร่ : ผู้เชี่ยวชาญตรวจสอบ จงกู่ 25 ข้าวฟ่างหางกระรอกสายพันธุ์ใหม่ที่เพาะปลูกในไร่สาธิตในมณฑลเหอหนานทางตอนกลางของจีน วันที่ 10 ก.ย. 2024)
เตียวเสี้ยนหมิน นักวิจัยจากสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์พืชไร่ และนักวิทยาศาสตร์ของอุตสาหกรรมและระบบเทคโนโลยีข้าวฟ่างของจีน ระบุว่าความสำเร็จนี้วางรากฐานสำหรับการผสมพันธุ์เชิงวิทยาศาสตร์ การสำรวจเทคนิคการเพาะปลูกใหม่ๆ และการเดินหน้าพัฒนาอุตสาหกรรมข้าวฟ่าง โดยส่งมอบต้นแบบสำหรับการเพิ่มผลผลิตข้าวฟ่างขนานใหญ่
ข้าวฟ่างหางกระรอก เป็นหนึ่งในพันธุ์พืชปลูกเลี้ยงที่เก่าแก่ที่สุดในโลก และเป็นพืชอาหารหลักในการก่อตัวของอารยธรรมเกษตรกรรมในเอเชีย โดยมีบทบาทสำคัญในระบบเกษตรกรรมของจีนก่อนที่จะมีการประยุกต์ใช้แนวทางการเกษตรที่มีการลงทุนในระดับสูง เช่น การชลประทานและปุ๋ยเคมี อีกทั้งเป็นพืชที่สามารถเติบโตได้ในสภาพแวดล้อมที่หลากหลาย ซึ่งรวมถึงพื้นที่แห้งแล้ง จึงมีศักยภาพที่จะเป็นพืชที่มีความสำคัญต่อความมั่นคงทางอาหารท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
เตียวเสี้ยนหมิน เสริมว่า ข้าวฟ่างหางกระรอกพันธุ์ใหม่นี้ เหมาะสำหรับการเพาะปลูกในฤดูใบไม้ผลิในภูมิภาคต่างๆ เช่น ซานซี มองโกเลียใน เหลียวหนิง และจี๋หลิน และเหมาะสำหรับการปลูกในฤดูร้อนในพื้นที่อย่างเหอหนาน เหอเป่ย ซานตง และปักกิ่ง
ที่มา-สำนักข่าวซินหัว