นายกฯ สั่งทำความเข้าใจ – ออกมาตรการป้องกันอันตราย “อาหารกัญชา กัญชง” อย.เข้ม ฉลากสินค้า ต้องมีข้อความเตือน

วันนี้ (17 ก.ค.65) นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยถึงข้อสั่งการนายกรัฐมนตรีเรื่องการสื่อสารทำความเข้าใจและการออกมาตรการเพื่อป้องกันอันตรายที่อาจเกิดขึ้นจากการบริโภค “อาหารผสมกัญชา กัญชง” ซึ่งทางสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) รายงานว่า ได้ออกมาตรการในการกำกับดูแลอย่าเคร่งครัด โดยมีการออกประกาศกระทรวงสาธารณสุข กำกับดูแลอาหารที่มีส่วนผสมกัญชา กัญชง ให้มีคุณภาพมาตรฐาน โดยคำนึงถึงข้อมูลความปลอดภัยตามหลักวิชาการ

650527 0314252001653615152
อย.เข้ม ฉลากสินค้าผสมกัญชากัญชง ต้องมีข้อความเตือน 

อาทิ

1)การกำกับดูแลให้ผลิตภัณฑ์อาหารใส่กัญชา กัญชง ได้รับ อย. ถูกต้อง

2)กำหนดให้ฉลากผลิตภัณฑ์แสดง ข้อแนะนำการบริโภคเพื่อความปลอดภัย “ไม่ควรบริโภคเกินวันละ 2 หน่วยบรรจุ”

3)แสดงข้อความคำเตือนที่เห็นได้ชัดเจนบนฉลากผลิตภัณฑ์อาหารที่มีส่วนผสมของกัญชา กัญชง ได้แก่ “เด็ก สตรีมีครรภ์ และสตรีให้นมบุตร ไม่ควรรับประทาน” “หากมีอาการผิดปกติ ควรหยุดรับประทานทันที” “ผู้ที่แพ้หรือไวต่อสารTHC หรือ CBD ควรระวังในการรับประทาน” และ “อาจทำให้ง่วงซึมได้ ควรหลีกเลี่ยงการขับขี่ยานพาหนะ หรือทำงานเกี่ยวกับเครื่องจักรกล”

4)ผลิตภัณฑ์ที่ได้รับอนุญาตต้องมีความปลอดภัย และมีผลวิเคราะห์ยืนยันปริมาณ THC ไม่เกินที่กฎหมายกำหนด และมีมาตรการกำกับดูแลสถานที่ผลิตและคุณภาพมาตรฐานอาหารมากไปกว่านั้น ทาง อย. ได้กำหนดมาตรการเฝ้าระวังอาหารที่มีส่วนผสมของกัญชากัญชงในท้องตลาดทุกช่องทางการจำหน่าย และเก็บตัวอย่างผลิตภัณฑ์อาหารส่งตรวจวิเคราะห์ปริมาณ THC/CBD และคุณภาพมาตรฐานอื่นที่กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ หากพบไม่ได้คุณภาพมาตรฐานก็จะดำเนินการตามกฎหมายอย่างเข้มงวด

ขณะเดียวกัน อย. ได้ขอความร่วมมือ ร้านค้า ร้านสะดวกซื้อ ห้างสรรพสินค้า ในการจัดวางอาหารและขนมที่มีส่วนผสมของกัญชา กัญชง ให้เหมาะสมโดยแยกอาหารผสมกัญชา กัญชง จัดวางเป็นกลุ่มเฉพาะ จัดวางให้ลดการหยิบสินค้าเอง และมีป้ายชัดเจนว่า “งดจำหน่ายกับผู้ที่มีอายุต่ำกว่า 20 ปี” และได้กำชับขอความร่วมมือผู้ประกอบการไม่ให้จำหน่ายให้กับผู้บริโภคที่มีอายุต่ำกว่า 20 ปี

“จึงขอย้ำว่าการปลดล็อกกัญชา กัญชงออกจากบัญชียาเสพติดนั้น เพื่อใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ ส่วนการนำมาเป็นส่วนผสมของอาหาร ขอให้ผู้บริโภคพิจารณาด้วยความรอบคอบ เลือกซื้ออาหารที่ได้รับอนุญาตถูกต้อง ปฏิบัติตามคำแนะนำในการบริโภคและข้อความคำเตือนที่แสดงบนฉลาก ที่สำคัญผู้ปกครอง ไม่ควรซื้ออาหารใส่กัญชา กัญชง ให้บุตรหลานอายุต่ำกว่า 20 ปี รับประทาน” นางสาวรัชดา กล่าว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังการปลดล็อกกัญชาออกจากยาเสพติดตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) มีผลบังคับใช้เมื่อ 9 มิถุนายนที่ผ่านมาและเนื่องจาก พ.ร.บ.กัญชา กัญชง พ.ศ. ยังไม่ผ่านการพิจารณาของสภา และกระทรวงสาธารณสุขออกมาตรการ 2 มาตรการ คือ

(1) การออกคำแนะนำของคณะกรรมการสาธารณสุข เรื่อง แนวทางควบคุมเหตุรำคาญจากการกระทำให้เกิดกลิ่นหรือควันกัญชา กัญชง หรือพืชอื่นใด มาตรการนี้กระทำได้แค่เพียงระงับการสูบนั้น ๆ ไม่ให้ส่งกลิ่นหรือควันรำคาญผู้อื่นเท่านั้น แต่จะไม่สามารถห้ามไม่ให้เด็กและเยาวชนสูบกัญชาได้เลย

(2) การประชาสัมพันธ์ให้ผู้ปลูกกัญชาในครัวเรือนมา“จดแจ้ง” ผ่านแอปพลิเคชัน “ปลูกกัญ”

แต่นโยบายนี้ทำได้เพียงการ “ขอความร่วมมือ” เพราะจะ “บังคับให้จดแจ้ง” ได้ต่อเมื่อพระราชบัญญัติกัญชา กัญชง พ.ศ. … ผ่านการตราเป็นกฎหมายแล้วเท่านั้น

ดังนั้นขณะนี้หากผู้กรอกข้อมูลให้ข้อมูลเท็จ หรือให้ข้อมูลแล้วไม่ปฏิบัติตามนั้น เช่น จดแจ้งว่าปลูกเพื่อใช้รักษาโรคตนเอง แต่จริง ๆ นำช่อดอกไปสูบเพื่อความบันเทิง หรือนำไปใส่อาหารขายก็ไม่สามารถเอาผิดได้

จึงเรียกได้ว่าเกิด “ภาวะสุญญากาศ” คือ ไม่มีมาตรการควบคุมการใช้กัญชาในทางที่ผิดที่เพียงพอใด ๆ และต่อไปไทยอาจเป็น ประเทศที่กัญชาเสรีที่สุดในโลก ก็เป็นได้