กระเทียมศรีสะเกษ (Gra Tiam Sisaket และ/หรือ Sisaket Garlic) หมายถึง กระเทียมพันธุ์เบาหรือพันธุ์พื้นเมืองศรีสะเกษ มีลักษณะเด่นที่สำคัญ คือ เปลือกนอกสีขาวแกมม่วง เปลือกบาง หัวแน่น กลิ่นฉุน รสเผ็ดร้อน ซึ่งปลูกในพื้นที่อำเภอเมืองศรีสะเกษ อำเภอราษีไตล อำเภอยางชุมน้อย อำเภอกันทรารมย์ อำเภออุทุมพรพิสัย อำเภอวังหิน และอำเภอพยุห์ ของจังหวัดศรีสะเกษ กรมทรัพย์สินทางปัญญาประกาศให้ขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ ( GI) “กระเทียมศรีสะเกษ” เมื่อวันที่3 ก.ค 2562 ตามที่ทางจังหวัดศรีสะเกษเป็นผู้ขอขึ้นทะเบียน
กระเทียม เป็นพืชผักที่มีการปลูกกันมานานในประเทศไทยและเป็นพืชสมุนไพรที่มีสรรพคุณในการรักษาโรค มีแหล่งปลูกที่สำคัญในภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยกระเทียมศรีสะเกษเป็นพืชเศรษฐกิจหลักที่สำคัญของจังหวัดศรีสะเกษมาเป็นเวลานาน เพราะกระเทียมศรีสะเกษสามารถจำหน่ายได้ราคาสูงกว่ากระเทียมจากแหล่งอื่น เนื่องจากกระเทียมศรีสะเกษมีคุณภาพดี มีกลิ่นฉุน รสจัดมีลักษณะเด่นเฉพาะอันเนื่องมาจากพื้นที่ในการปลูก เป็นดินมูลทราย ซึ่งเป็นดินตะกอนลุ่มน้ำโบราณ ลำน้ำมูลและลำน้ำสาขามูลพัดพาตะกอนดินสะสมทับถมกันเป็นระยะเวลานาน ทำให้ดินมีความอุดมสมบูรณ์สูง กระเทียมจึงมีคุณภาพดี โดยคุณสมสมบัติพิเศษของกระเทียมศรีสะเกษ คือ มีลักษณะเปลือกนอกสีขาวแกมม่วง เปลือกบาง หัวแน่น กลิ่นฉุน รสเผ็ดร้อน สามารถเก็บไว้ได้นานโดยไม่ฝ่อ จึงเป็นที่ต้องการของผู้บริโภคและนิยมใช้เป็นของฝากเมื่อมาเยี่ยมเยือนจังหวัดศรีสะเกษ นับได้ว่าสินค้าเป็นสินค้าชั้นเลิศอีกหนึ่งอย่างของจังหวัดศรีสะเกษที่ใครมาถึงถิ่นต้องหาเป็นของฝากติดไม้ติดมือกลับไป
สำหรับจังหวัดศรีสะเกษตั้งอยู่ระหว่างละติจูด 14 – 15 องศาเหนือ และลองจิจูด 104 – 105 องศาตะวันออก อยู่เหนือระดับน้ำทะเลเฉลี่ย 120 เมตร พื้นที่ส่วนใหญ่ของจังหวัดศรีสะเกษเป็นที่ราบสูงโคราชสลับทุ่งนามีภูเขาและป่าไม้อยู่ทางตอนใต้ติดแนวเทือกเขาพนมดงรักซึ่งเป็นเส้นแบ่งเขตแดนระหว่างประเทศไทยและกัมพูชาเป็นต้นกำเนิดแม่น้ำหลายสาย และพื้นที่จะค่อยๆ ลาดมาทิศเหนือและทิศตะวันตกเกิดเป็นลำน้ำสาขาขนาดใหญ่และเล็กหลายสาย เช่น ห้วยทา ห้วยทับทัน ห้วยสำราญ ลำน้ำมูลส่วนที่ 3 เป็นต้น แล้วจึงไหลไปรวมกันตลอดระยะทางที่ลำน้ำมูลและลำน้ำน้ำซีไหลผ่าน ส่งผลให้พื้นที่ปลูกกระเทียมมีแหล่งน้ำได้ดินที่อุดมสมบูรณ์ พื้นที่ในเขตลุ่มน้ำมูลของจังหวัดศรีสะเกษ เป็นดินตะกอนเชิงซ้อนที่มีการระบายน้ำเร็ว ลักษณะดินบริเวณที่ราบลุ่ม เกิดจากตะกอนลำน้ำพัดพามาทับถมกัน ดินที่พบส่วนใหญ่มีลักษณะการระบายน้ำค่อนข้างเร็วถึงเร็ว ซึ่งตะกอนดินที่ทับถมกันเป็นเวลานานส่งผลให้ดินมีความอุดมสมบูรณ์สูงเหมาะแก่การปลูกกระเทียมให้ได้คุณภาพดี
จังหวัดศรีสะเกษมีสภาพภูมิอากาศโดยทั่วไปเป็นแบบอากาศร้อนจัดในฤดูร้อน และค่อนข้างหนาวในฤดูหนาว ส่วนฤดูฝนจะมีฝนตกมากในเดือนกันยายน โดยมักจะตกหนักในพื้นที่ตอนกลางและตอนใต้ของจังหวัด ส่วนพื้นที่ทางตอนเหนือของจังหวัดมีปริมาณฝนตกน้อย และการกระจายตัวของฝนไม่สม่ำเสมอ ได้รับอิทธิพลจากลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ และลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือ อุณหภูมิต่ำสุดประมาณ10 องศาเซลเซียส สูงสุดประมาณ 40 องศาเซลเซียส ความชื้นสัมพัทธ์เฉลี่ยร้อยละ 66 – 73
ด้วยสภาพภูมิอากาศของจังหวัดศรีสะเกษที่ฤดูหนาวไม่หนาวมากจนเกินไปและมีความชื้นสัมพัทธ์เฉลี่ยที่เหมาะสมระหว่างร้อยละ 60 – 70 ในช่วงเดือนพฤศจิกายน-ธันวาคม ทำให้จังหวัดศรีสะเกษเป็นพื้นที่ที่เหมาะสมต่อการเจริญเติบโตของกระเทียมซึ่งให้ผลผลิตที่มีคุณภาพดีจากสภาพภูมิประเทศและภูมิอากาศดังกล่าว จึงเหมาะแก่การปลูกกระเทียม ส่งผลให้กระเทียม ที่ปลูกในจังหวัดศรีสะเกษ มีลักษณะหัวแน่น กลิ่นฉุนรสเผ็ดร้อน เปลือกนอกสีขาวแกมม่วง เปลือกบางและเหนียว มีคุณภาพในการเก็บรักษา สามารถเก็บรักษาได้นานโดยหัวไม่ฝ่อ ซึ่งเป็นเอกลักษณ์ของกระเทียมศรีสะเกษ