“กระเทียม” เป็นพืชล้มลุก มีลำต้นคล้ายต้นหอม หัวกระเทียมจะอยู่ใต้ดิน ความสูงของต้นประมาณ 30 เซนติเมตร มีใบเป็นใบเดี่ยว ลักษณะแคบและยาว ปลายใบแหลม มีสีเขียวแก่ ออกดอกเป็นช่อ มีสีขาว
“กระเทียม” ในปัจจุบันที่มีในประเทศไทย มีหลายสายพันธุ์ มีทั้งพันธุ์หัวเล็ก เปลือก สีม่วงมีกลิ่นหอม มีรสชาติค่อนข้างเผ็ด คือกระเทียมพันธุ์พื้นเมืองของไทย ซึ่งรสชาติดี มีกลิ่นหอมมากกว่ากระเทียมกลีบใหญ่หรือที่เรียกว่ากระเทียมจีน เป็นพืช
ที่ชอบอากาศหนาวขยายพันธุ์ด้วยหัว โดยนำกลีบกระเทียมไปแช่ในน้ำแล้วนำไปปลูกต่อ กระเทียมเป็นวัตถุดิบ ที่จำเป็นสำหรับครัวไทย เป็นทั้งเครื่องเทศและสมุนไพรที่เป็นประโยชน์ต่อสุขภาพ ช่วยลดระดับคอเลสเตอรอลในเส้นเลือด ยังช่วยควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด ขับลม และบำรุงเลือดช่วยชูรสชาติอาหารหลายอย่างให้หอมอร่อยถูกปาก รวมทั้งดับกลิ่นเนื้อสัตว์ที่นำมาปรุงอาหาร กระเทียมจึงเป็นเครื่องเทศที่อยู่คู่ครัวมาตลอด
สถานการณ์การผลิตกระเทียมประเทศไทย มีพื้นที่ปลูกกระเทียม 53,603 ไร่ เนื้อที่เก็บเกี่ยว 53,540 ไร่ ผลผลิตรวม 57,167 ตัน ผลผลิตต่อพื้นที่เก็บเกี่ยว 1,068 กิโลกรัมต่อไร่ และกำลังเป็นที่ต้องการของตลาด (ข้อมูลจากศูนย์สารสนเทศการเกษตร
สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร ปี 2566 )
กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ส่งเสริมให้เกษตรกรปรับเปลี่ยนรูปแบบการผลิตเข้าสู่ระบบการผลิตแบบเกษตรอินทรีย์ ภายใต้แผนปฏิบัติการด้านเกษตรอินทรีย์ พ.ศ. 2566 – 2570 ซึ่งนำไปสู่ความเป็นอยู่ที่ดีและยั่งยืน รวมถึง สุขภาพที่ดีของผู้ผลิต ซึ่งในปัจจุบันนั้นผู้บริโภคได้ตระหนักและใส่ใจในสุขภาพมากขึ้น จากการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารที่สะดวกกว่าแต่ก่อน ทำให้ทราบถึงผลกระทบ ต่อสุขภาพที่ได้รับจากการบริโภค ผลิตภัณฑ์ที่มีสารพิษ และสารเคมีที่ปนเปื้อนมากับอาหาร ผลไม้และผักสด ประกอบกับ การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด 19 ทำให้ผู้บริโภคหันมาเลือกบริโภคสินค้าและผลิตภัณฑ์จากธรรมชาติ ปลอดสารเคมีเพิ่มมากขึ้น ซึ่งการผลิตเกษตรอินทรีย์ต้องได้มาตรฐานในระดับชุมชน ระดับประเทศและระดับสากล ซึ่งผลผลิตเกษตร อินทรีย์เป็นวัตถุดิบที่มีความปลอดภัยและมีคุณภาพสามารถนำไปพัฒนาและแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์เกษตรอินทรีย์ที่มีมูลค่าสูง อีกทั้งสามารถลดต้นทุนการผลิตในระยะยาวจากการใช้ปัจจัยการผลิตจากธรรมชาติโดยไม่ใช้สารเคมีและจังหวัดหนองคายได้มีนโยบายและดำเนินการด้านเกษตรอินทรีย์ ภายใต้แผนโครงการส่งเสริมเกษตรอินทรีย์ในเขตปฏิรูปที่ดิน ซึ่งกระเทียมอินทรีย์เป็นหนึ่งในสินค้าเกษตรอินทรีย์ที่เกษตรกรเริ่มมีการปลูกอย่างแพร่หลายและกำลังเป็นที่ต้องการของตลาด
นายบุญพา มะโนมัย ประธานวิสาหกิจชุมชนกระเทียมแปรรูป หมู่ 12 บ้านคำแก้ว ตำบลอุดมพร อำเภอเฝ้าไร่ จ.หนองคาย เริ่มปลูกกระเทียมเมื่อปี พ.ศ. 2537 เป็นต้นมา โดยเมื่อเริ่มต้นนั้น ยังเป็นการปลูกกระเทียมแบบปกติ มีการใช้ปุ๋ยเคมี และสารอื่นเพื่อบำรุงรักษาต้นกระเทียมจนกระทั่งถึงปี 2560 จึงได้มีสำนักงานปฏิรูปที่ดินเข้ามาแนะนำความรู้ด้านการทำเกษตรอินทรีย์ จึงเกิดการรวมกลุ่มเกษตรกรที่ปลูกพืชผักกระเทียม หอมแดง หอมแบ่ง มาจัดตั้งเป็นวิสาหกิจชุมชน กลุ่มกระเทียมแปรรูป นับเป็นแหล่งผลิตกระเทียมอินทรีย์ แห่งเดียวของจังหวัดและมีการแปรรูปกระเทียมเป็นผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ อาทิ กระเทียมมัดจุกอินทรีย์ กระเทียมหลุดขั้วอินทรีย์และกระเทียมดองอินทรีย์ โดยเริ่มแรกมีสมาชิกกลุ่ม 12 ราย หลังจากนั้นก็มีสมาชิกเพิ่มขึ้นมาจนกระทั่งเมื่อปีเพาะปลูก 2565/66 กลุ่มกระเทียมอินทรีย์ประสบปัญหาโรคเชื้อรา ทำให้ผลผลิตลดลง แต่ในขณะที่ความต้องการของตลาดยังคงมีอยู่ต่อเนื่อง โดยปีเพาะปลูก 2566/67 มีพื้นที่ปลูกกระเทียมอินทรีย์ รวม 10 ไร่ เนื้อที่เก็บเกี่ยว 9 ไร่ เกษตรกรผู้ปลูก 16 ราย ซึ่งผ่านการรับรองเกษตรอินทรีย์แบบมีส่วนร่วม (Participatory Guarantee
Systems:PGS)
โดยการรับรองแบบ PGS จะเป็นกระบวนการรับรองเกษตรอินทรีย์ เพื่อสร้างโอกาสให้เกษตรกรรายย่อยเรียนรู้ร่วมกันในเรื่องเกษตรอินทรีย์ การสร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชนในการพัฒนาการผลิตให้เข้าสู่ตลาดมากขึ้นด้วยการพึ่งพาตัวเองสร้างกลุ่มบนพื้นฐานความพอดีพอเพียงเรียนรู้แบ่งปัน การมีส่วนร่วมอย่างมีคุณธรรมทำให้เกษตรอินทรีย์ขยายผลได้มากขึ้นโดยเกษตรกรผู้ปลูกผ่านการรับรองทุกราย เกษตรกรนิยมปลูกพันธุ์ขาวพื้นเมืองหรือขาวหนองคาย และจะเพาะปลูกช่วงเดือนตุลาคม – ธันวาคม เก็บเกี่ยวช่วงเดือนมกราคม – มีนาคม ของปีถัดไป ระยะเวลาปลูกจนถึงเก็บเกี่ยวรวม 120 วัน ซึ่งหลังจากเก็บเกี่ยวผลผลิต เกษตรกรจะนำกระเทียมมาตากแดดประมาณ 30 – 40 นาทีแล้วนำมาแขวนผึ่งลมที่ราวจน
กระเทียมแห้ง (ใช้เวลาประมาณ 1 เดือน) จึงคัดเกรดกระเทียมแห้งมัดจุกเพื่อรอจำหน่ายต่อไป
โดยปีการผลิต 2566/67 วิสาหกิจชุมชนแปรรูปกระเทียม มีต้นทุนการผลิตกระเทียมอินทรีย์แห้งมัดจุกเฉลี่ย 27,055 บาท/ไร่/ปี ผลผลิตเฉลี่ย 609 กิโลกรัม/ไร่/ปี ผลตอบแทนเฉลี่ย 69,426 บาท/ไร่/ปี คิดเป็นผลตอบแทนเฉลี่ยสุทธิ (กำไร) 42,371 บาท/ไร่/ปี ราคากระเทียมอินทรีย์ที่เกษตรกรขายได้ (ราคา ณ 22 ก.พ. 67) แบ่งเป็นกระเทียมมัดจุกตากแห้ง ราคาเฉลี่ย 114 บาท/กิโลกรัม, กระเทียมสด ราคา 40 บาท/กิโลกรัม และกระเทียมดอง(นำกระเทียมสดมาแปรรูป) ราคา 100 บาท/กระปุก
ด้านสถานการณ์ตลาด ผลผลิตส่วนใหญ่ร้อยละ 70 กลุ่มจำหน่ายตามออเดอร์การสั่งจองของพ่อค้ารับซื้อและผู้บริโภคทั่วไป และผลผลิตร้อยละ 30จำหน่ายผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ Facebook “กระเทียม/หอมแดง/ กระเทียมดอง เกษตรอินทรีย์ 100%”
ทั้งนี้ ส่วนมากกลุ่มลูกค้าที่ซื้อกระเทียมอินทรีย์จะเป็นลูกค้ากลุ่มเดิมที่เคยซื้อบริโภคแล้วชื่นชอบกระเทียมปลอดสารพิษและเป็นผู้ที่รักสุขภาพ จึงมีความต้องการซื้อต่อในรอบการผลิตปีถัดไปและบางรายมีการสั่งจองล่วงหน้าไว้ก่อนช่วงเพาะปลูก
วิสาหกิจชุมชนแปรรูปกระเทียม ได้มีการพัฒนาคุณภาพของกระเทียมอินทรีย์อย่างต่อเนื่อง เกษตรกรมีความพิถีพิถันในการผลิตตั้งแต่ขั้นตอนเพาะปลูก การเตรียมดิน การดูแลรักษา การป้องกันปัญหาเชื้อราที่มักจะพบในกระเทียม เพื่อให้กระเทียมอินทรีย์ได้คุณภาพตามมาตรฐานตรงกับความต้องการตลาด และเกษตรกรมีความต้องการให้หน่วยงานของรัฐส่งเสริมสารชีวพันธ์ที่ใช้ป้องกันและกำจัดเชื้อราในกระเทียมอินทรีย์ในช่วงรอบปีการผลิตที่อาจเจอฝนหลงฤดู
ทั้งนี้ในช่วงเดือนมีนาคม 2567 ผลผลิตจะออกมากที่สุดถึงร้อยละ 90 ผู้บริโภคสามารถสั่งจองผลิตภัณฑ์ล่วงหน้ากับทางกลุ่มได้ โดยติดต่อได้ที่ นายบุญพา มะโนมัย ประธานวิสาหกิจชุมชนกระเทียมแปรรูป หมู่ 12 บ้านคำแก้ว ตำบลอุดมพร อำเภอเฝ้าไร่ จังหวัดหนองคาย โทร 0 85274 1827 หรือสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สศท.3อุดรธานี โทร 0 4229 2557 หรืออีเมล[email protected]