สารวัตรปศุสัตว์ไซเบอร์ กองสารวัตรและกักกัน พร้อมด้วยด่านกักกันสัตว์ศรีสะเกษ กองควบคุมอาหารและยาสัตว์ ปศุสัตว์จังหวัดศรีสะเกษ ร่วมกับสาธารณสุขจังหวัดศรีสะเกษ และตำรวจกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผูบริโภค (บก.ปคบ.) เข้าตรวจสอบสถานประกอบแห่งหนึ่งในตำบลเมืองคง อำเภอราษีไศล จังหวัดศรีสะเกษ หลังได้รับเรื่องร้องเรียนผ่านช่องทาง DLD 4.0 ว่า มีการขายยาสัตว์ และอาหารสัตว์ไม่มีทะเบียน ผ่านช่องทางออนไลน์ โดยมีการสร้างเพจใน Facebook
สารวัตรปศุสัตว์ไซเบอร์ได้ดำเนินการสืบร่วมกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ บก.ปคบ. โดยการล่อซื้อยาสัตว์ผ่านทางเพจดังกล่าว และติดต่อร้านผ่านหมายเลขโทรศัพท์ที่ระบุไว้ทางเพจ ซึ่งพบว่า สินค้าดังกล่าว มีแหล่งที่มาจากสถานประกอบการแห่งหนึ่งในตำบลเมืองคง อำเภอราษีไศล จังหวัดศรีสะเกษ เจ้าหน้าที่ทุกภาคส่วน จึงประชุมวางแผนการเข้าดำเนินการตรวจสอบสถานประกอบร่วมกันที่สาธารณสุขจังหวัดศรีสะเกษ
ผลการตรวจสอบ พบว่าสถานประกอบการดังกล่าว เคยเป็นคลินิกรักษาสัตว์ แต่ปัจจุบันไม่ได้ประกอบกิจการรักษาสัตว์แล้ว แต่ยังมีการจำหน่ายยาสัตว์และอาหารสัตว์ในสถานที่แห่งนี้ เจ้าหน้าที่ตรวจสอบพบยาสัตว์และอาหารสัตว์ไม่ขึ้นทะเบียน หลายรายการ เช่น ยาถ่ายพยาธิ ยาฆ่าเชื้อสำหรับไก่ชน อาหารเสริมสำหรับสัตว์ โดยยาและอาหารสัตว์ไม่สามารถนำหลักฐานใดๆ มาแสดงต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ได้ ถือเป็นความผิด ดังนี้
1) ความผิดตามพระราชบัญญัติควบคุมคุณภาพอาหารสัตว์ พุทธศักราช 2558 ดังนี้
1.1 มาตรา 17 จำหน่ายอาหารสัตว์ โดยไม่มีใบอนุญาตฯ มีโทษตามมาตรา 75 จำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 10,000 บาทหรือทั้งจำทั้งปรับ
1.2 มาตรา 56(4) จำหน่ายอาหารสัตว์ที่ต้องขึ้นทะเบียน แต่มิได้ขึ้นทะเบียนไว้ มีโทษตามมาตรา 86 จำคุกตั้งแต่ 6 เดือนถึง 3 ปี ปรับตั้งแต่ 10,000 ถึง 60,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
2) ความผิดตามพระราชบัญญัติยา พุทธศัดราช 2510 ดังนี้
2.1 มาตรา 72(4) จำหน่ายยาสัตว์ไม่ขึ้นทะเบียน มีโทษตามมาตรา 122 จำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 5,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
2.2 มาตรา 12 ห้ามมิให้ผู้ใดจำหน่ายหรือผลิต ซึ่งยาแผนปัจจุบันเว้นแต่จะได้รับใบอนุญาตจากผู้อนุญาต มีโทษตามมาตรา 101 ต้องระวังโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปีและปรับไม่เกิน 10,000 บาท
เจ้าหน้าที่ดำเนินการยึดยาสัตว์ไม่มีทะเบียน จำนวน 70 รายการ มูลค่าประมาณ 104,955 บาท และอาหารสัตว์ควบคุมเฉพาะ จำนวน 20 รายการ มูลค่าประมาณ 6,470 บาท
พนักงานเจ้าหน้าที่ได้จัดทำบันทึกจับกุม พร้อมด้วยบันทึกการควบคุมตัวตามมาตรา 22 และ 23 แห่งพระราชบัญญัติป้องกันการทรมานและกระทำให้บุคคลสูญหาย พุทธศักราช 2565 พร้อมทั้งยึดยาสัตว์ และอาหารสัตว์ จำนวนทั้สิ้น 90 รายการ เพื่อส่งพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรราษีไศล เพื่อเป็นหลักฐาน ในการดำเนินการแจ้งความ ร้องทุกข์ กล่าวโทษ จนกว่าคดีจะสิ้นสุดกระบวนการตามกฎหมาย
ในการนี้ พนักงานเจ้าหน้าที่ได้ทำการขยายผล เข้าตรวจสอบร้านค้าแห่งหนึ่ง ในอำเภอยางชุมน้อย จังหวัดศรีสะเกษ เนื่องจากตรวจสอบพบความเชื่อมโยงกับสถานประกอบการในตำบลเมืองคง อำเภอราษีไศล จังหวัดศรีสะเกษ และเพจใน Facebook
ผลการตรวจสอบ พบว่าเป็นร้านจำหน่ายอาหารสัตว์ควบคุมเฉพาะ มีใบอนุญาตฯถูกต้อง แต่ตรวจพบว่าในระหว่างดำเนินการเข้าตรวจสอบ เจ้าของร้านกำลังขนย้ายยาสัตว์และอาหารสัตว์ที่ไม่ขึ้นทะเบียนจำนวนหลายรายการ เช่น ยาถ่ายพยาธิ ยาฆ่าเชื้อสำหรับไก่ชน อาหารเสริมสำหรับสัตว์ จำนวน 51 รายการ มูลค่าประมาณ 100,000 กว่าบาท เพื่อหลบหนี ถือเป็นความผิด ดังนี้
1) ความผิดตามพระราชบัญญัติควบคุมคุณภาพอาหารสัตว์ พุทธศักราช 2558 ดังนี้
1.1 มาตรา 56(4) จำหน่ายอาหารสัตว์ที่ต้องขึ้นทะเบียน แต่มิได้ขึ้นทะเบียนไว้ มีโทษตามมาตรา 86 จำคุกตั้งแต่ 6 เดือนถึง 3 ปี ปรับตั้งแต่ 10,000 ถึง 60,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
2) ความผิดตามพระราชบัญญัติยา พุทธศัดราช 2510 ดังนี้
2.1 มาตรา 72(4) จำหน่ายยาสัตว์ไม่ขึ้นทะเบียน มีโทษตามมาตรา 122 จำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 5,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
2.2 มาตรา 12 ห้ามมิให้ผู้ใดขายหรือผลิตซึ่งยาแผนปัจจุบันเว้นแต่จะได้รับใบอนุญาตจากผู้อนุญาต โทษตามมาตรา 101 ต้องระวังโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปีและปรับไม่เกิน 10,000 บาท
พนักงานเจ้าหน้าที่ดำเนินการยึดยาสัตว์ไม่มีทะเบียน จำนวนทั้งหมด 43 รายการ มูลค่าประมาณ 82,710 บาท และอาหารสัตว์ควบคุมเฉพาะทั้งหมด 7 รายการ มูลค่ารวม 5,557 บาท และจัดทำบันทึกจับกุม และบันทึกการควบคุมตัวตามมาตรา 22 และ 23 แห่งพระราชบัญญัติป้องกันการทรมาน และกระทำให้บุคคลสูญหาย พุทธศักราช 2565 พร้อมทั้งยึดยาสัตว์ และอาหารสัตว์ทั้งหมด 51 รายการ ส่งพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรยางชุมน้อย เพื่อเป็นหลักฐาน ในการดำเนินการแจ้งความ ร้องทุกข์ กล่าวโทษ จนกว่าคดีจะสิ้นสุดตามกระบวนการตามกฎหมาย
รวมยาสัตว์และอาหารสัตว์ไม่มีทะเบียน ที่ตรวจพบจากสถานประกอบการทั้ง 2 แห่ง จำนวนรวม 141 รายการ มูลค่ารวมกว่า 300,000 บาท โดยเจ้าหน้าที่จะดำเนินการขยายผลต่อเนื่อง เพื่อหาตัวการ และจับกุมดำเนินคดีกับผู้ผลิตยาสัตว์ และอาหารสัตว์ไม่ขึ้นทะเบียนต่อไป
ทั้งนี้ หากประชาชนต้องการแจ้งเบาะแสหรือข้อมูลเพิ่มเติม สามารถแจ้งนได้ที่แอปพลิเคชัน DLD 4.0 หรือสายด่วนกรมปศุสัตว์ 063-225-6888 ได้ตลอด 24 ชั่วโมง