กรมหม่อนไหมแนะนำเกษตรกรดูแลแปลงหม่อนในสถานการณ์น้ำท่วม ทั้งระหว่างน้ำท่วมขังและหลังน้ำลด เพื่อบรรเทาความเสียหายและการฟื้นฟูแปลงหม่อนให้เจริญเติบโตเหมือนเดิม
พันจ่าเอก ประเสริฐ มาลัย อธิบดีกรมหม่อนไหม กล่าวว่า ในช่วงนี้ประเทศไทยมีสถานการณ์อุทกภัยในหลายพื้นที่ รวมทั้งแปลงหม่อนของเกษตรกรหม่อนไหมด้วย ซึ่งความเสียหายที่เกิดขึ้นในแปลงหม่อนที่ถูกน้ำท่วม จะมีผลทำให้ดินขาดการระบายอากาศ ส่งผลให้รากหม่อนขาดออกซิเจน ทำให้รากไม่สามารถดูดน้ำและธาตุอาหารไปเลี้ยงต้นได้ นอกจากนี้ ยังทำให้รากเปลี่ยนกลไกไปใช้ระบบการหายใจ โดยไม่ใช้ออกซิเจน และก่อให้เกิดสารพิษกับต้น ทำให้หม่อน หยุดการเจริญเติบโต หากท่วมนานเกิน 7 วัน ทำให้เกิดอาการหลุดร่วงของใบดอกและผล ต้นหม่อนจะอ่อนแอ ง่ายต่อการเข้าทำลายของโรคและแมลง
สำหรับการจัดการแปลงหม่อนขณะที่มีน้ำท่วมขัง ต้องเร่งระบายน้ำออกจากแปลงหม่อน และบริเวณที่มีน้ำท่วมขังโดยเร็ว เช่น ใช้เครื่องสูบน้ำออกจากแปลงหม่อนเป็นต้น พร้อมทั้งทำทางระบายน้ำหรือขุดร่องระบายน้ำระหว่างแถวเพื่อให้การระบายน้ำเร็วขึ้น
ส่วนการจัดการแปลงหม่อนหลังน้ำลดนั้นคือ 1.ไม่ควรนำเครื่องจักรกลเข้าไปดำเนินการในแปลงหม่อนหลังน้ำลดขณะที่ดินยังเปียก อีกทั้งหลีกเลี่ยงการย่ำบริเวณโคนต้นหม่อน เพราะอาจจะส่งผลกระทบต่อโครงสร้างดิน เช่น เกิดการอัดแน่นได้ง่ายส่งผลเสียต่อการไหลซึมของน้ำ และกระทบกระเทือนต่อระบบรากต้นหม่อน 2. เมื่อดินแห้งสามารถเข้าไปตัดแต่งกิ่งหม่อน โดยให้ตัดกิ่งที่หัก เหี่ยวเฉาหรือแน่นทึบออก เพื่อให้ทรงพุ่มโปร่งลดการคายน้ำ รวมทั้งเร่งให้แตกใบใหม่เร็วขึ้น และควรพรวนดินเพื่อเพิ่มออกซิเจนให้แก่รากหม่อน ทำให้รากแตกใหม่ได้ดีขึ้น การใส่ปุ๋ยบำรุงต้นหม่อน ควรให้ปุ๋ยทางใบ เนื่องจากระบบรากยังไม่สามารถดูดซึมน้ำ และธาตุอาหารจากดินได้ตามปกติ จากนั้นเมื่อดินแห้งเป็นปกติแล้ว จึงใส่ปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยหมักร่วมกับปุ๋ยเคมี
นอกจากอธิบดีกรมหม่อนไหมได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่กรมหม่อนไหมในพื้นที่ประสบอุทกภัยเร่งสำรวจความเสียหายที่เกิดขึ้นกับเกษตรกรผู้ปลูกหม่อนเลี้ยงไหม ทั้งแปลงหม่อนและวัสดุอุปกรณ์การเลี้ยงไหม ตลอดจนการทอผ้าไหม เพื่อหาแนวทางในการให้ความช่วยเหลือต่อไป
เกษตรกรที่ได้รับความเสียหายจากสถานการณ์น้ำท่วม สามารถติดต่อขอรายละเอียดการดูแลแปลงหม่อน การเลี้ยงไหม หรือเรื่องอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องได้ที่ สำนักงานหม่อนไหมเฉลิมพระเกียรติฯ ศูนย์หม่อนไหมเฉลิมพระเกียรติฯ หรือหน่วยส่งเสริมหม่อนไหม ใกล้บ้าน หรือสำนักพัฒนาและถ่ายทอดเทคโนโลยีหม่อนไหม กรมหม่อนไหม โทรศัพท์ 0 2558 7924-6 ต่อ 7420 หรือ Call Center กรมหม่อนไหม 1275