จังหวัดจันทบุรี กรมวิชาการเกษตร และภาคเอกชน ร่วมหารือปัญหารับซื้อและส่งออกลำไยทั้งระบบ ก่อนผลผลิตออกสู่ตลาด
นาย สุธี ทองแย้ม ผู้ว่าราชการจังหวัดจันทบุรี นาย ระพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตรและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เชิญผู้ประกอบล้งลำไยใน จ.จันทบุรี หารือถึงกติกาในการทำงานรับซื้อลำไยปีนี้(2575) มี ดร.รัฐวิทย์ ตั้งเกียรติพชร นายกสมาคมการค้าและการท่องเที่ยวชายแดนไทย-กัมพูชา เป็นผู้ประสานงานในภาคเอกชน
นาย สุธี ทองแย้ม ผู้ว่าราชการจันทบุรี บอกว่า วันนี้ชาวสวนต้องทำผลไม้ ทั้งลำไย และทุเรียน คุณภาพโดยจะต้องดูและผลผลิตไม่ให้มีเพลี้ยแป้งราดำหรืออื่นๆปะปนไปกับผลไม้ ซึ่งทางจังหวัดจันทบุรีได้กำหนดมาตรการ ชาวสวนต้องมี GAP / ล้งต้องได้รับอนุญาต คนงานและทุกกระบวนการส่งผลไม้ออกต่างประเทศ ต้องควบคุมโควิด-19 ไม่ให้มีปะปนไป ไม่เช่นนั้นอาจจะเกิดปัญหาเหมือนกรณีทุเรียน
“เรายืนยันว่ากติกาที่ทางจังหวัดจันทบุรี กำหนดออกมา ก็เพื่อผลไม้คุณภาพ ทั้งชาวสวนและผู้ส่งออก อย่ามองว่าเป็นเรื่องยุ่งยาก ขอให้ปฏิบัติตาม“ นาย สุธี กล่าว
ด้านนาย ระพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร บอกว่า วันนี้กรมวิชาการเกษตร มอบหมายให้หน่วยงานในพื้นที่ ทั้ง สวพ.6 และด่านตรวจพืชจันทบุรี ดำเนินการตามจั้นตอนการส่งออกผลไม้(ตรวจสอบผลผลิตก่อนส่งออก)อย่างเข้มข้น เพื่อไม่ให้ถูกตำหนิหรือผลผลิตมีปัญหาที่ประเทศปลายทาง โดยจะตรวจสอบเข้มข้นกับล้งส่งออกลำไย เช่นเดียวกับทุเรียน จึงขอความร่วมมือให้ผู้ประกอบการปฏิบัติตามกติกา
ดร.รัฐวิทย์ ตั้งเกียรติพชร นายกสมาคมการค้าและการท่องเที่ยวชายแดนไทย-กัมพูชา บอกว่า ภาคเอกชนพร้อมให้ความร่วมมือกับภาครัฐในการควบคุมคุณภาพผลผลิตลำไยปีนี้ ทุกขั้นตอน และปีนี้ ได้รับความช่วยเหลือจากรัฐบาลเรื่องการนำเข้าแรงงานมาเก็บผลไม้ จึงไม่มีปัญหาเรื่องขาดแคลนแรงงาน ซึ่งก็ต้องปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโควิด-19 ในสถานประกอบการอย่างเข้มงวดด้วย
”เราอยากให้การแก้ปัญหาลำไย เหมือนทุเรียนในปีนี้ เพราะจะทำให้ราคาไม่ตก และมีความต้องการอยู่ตลอดเวลา“ ดร.รัฐวิทย์ฯ กล่าว
ขณะที่นาย ชลธี นุ่มหนู ผอ.สวพ.6 บอกว่า จะจัดหน่วยออกให้บริการนอกสถานที่กับผู้ประกอบการล้งลำไย ทั้งเรื่องวิชาการและเอกสารที่ต้องใช้ เพื่ออำนวยความสะดวกตามข้อสั่งการของอธิบดีกรมวิชาการเกษตร ซึ่งออกให้บริการแล้ว 2 ครั้ง หากผู้ประกอบการมีความต้องการขอรับบริการเพิ่มเติม โดยขอให้รวมกลุ่มและนัดวัน เวลา สถานที่ เพื่อให้ง่ายในการทำงาน
นายชลธี ยังบอกด้วยว่า ปีที่ผ่านมาได้รับร้องเรียนจากชาวสวนว่าผู้ประกอบการบางราย ตกลงซื้อลำไยไว้แต่กลับไม่ไปตัด หรือบางรายวางมัดจำ แต่ตัดไม่หมด ทำให้ชาวสวนเสียหายเพราะไม่รู้จะไปขายให้ใคร
“มาวันนี้ ทางภาครัฐขอให้สวนทำสัญญารับซื้อกับล้งให้ชัดเจน เพราะหากเกิดปัญหาจะได้ฟ้องร้องดำเนินคดีกันได้“ นาย ชลธี กล่าว
ขณะที่ตัวแทนผู้ประกอบการเสนอปัญหาให้ภาครัฐ ช่วยไปกำกับกับชาวสวนในการดูแลขั้นตอนการผลิตคือ ปัญหาเพลี้ยงแป้งราดำ เพราะเมื่อเก็บลำไยจนส่งไปถึงล้งแล้ว กระบวนการคัดแยกทำได้ยาก เป็นไปได้ ต้องการให้มีตรวจตรวจสอบที่ต้นทาง คือ ระหว่างการเก็บผลผลิตตั้งแต่ที่สวน