“อลงกรณ์” ชี้ไทยเผชิญ 4 วิกฤติโลก สร้างโอกาสให้ก้าวขึ้นเป็นมหาอำนาจด้านอาหารภายใต้ 5 ยุทธศาสตร์ปฏิรูปภาคเกษตร
12 กรกฎาคม 2565 นาย อลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวบรรยายพิเศษ เรื่อง “ก้าวต่อไป เกษตรไทยสู่มหาอำนาจทางอาหารของโลก” โดยมองว่า แม้ประเทศไทยต้องเผชิญ 4 วิกฤติโลก แต่ก็เป็นโอกาสที่จะผลักดันให้ประเทศไทยเป็นมหาอำนาจอาหารของโลกได้ภายใต้การขับเคลื่อน 5 ยุทธศาสตร์ปฏิรูปภาคเกษตรเพราะมีความต้องการอาหารเพิ่มขึ้น
โดยนายอลงกรณ์ กล่าวว่า ประเทศไทยมีศักยภาพเป็นประเทศส่งออกอาหารอันดับ 13 ของโลก ด้วยมูลค่ากว่า 1 ล้านล้านบาท และการส่งออกเติบโต 17% ในปี 2564 โดยเฉพาะกลุ่มสินค้าเกษตรและอาหารเป็นกลุ่มสินค้าส่งออกลำดับต้นๆ
สะท้อนถึงขีดความสามารถของภาคการผลิต การแปรรูปและการตลาดของไทยในตลาดโลก แม้ต้องเผชิญ 4 วิกฤติการณ์ของโลก ได้แก่ 1. โควิด-19 2. สงครามรัสเซีย-ยูเครน 3. ประชากรโลกเพิ่มขึ้น 4. ปัญหาการเปลี่ยนแปลงทางภูมิอากาศ (Climate Change) ซึ่งทำให้โลกประสบปัญหาระบบการผลิตภาคเกษตรตลอดห่วงโซ่อุปทาน ตามมาด้วยปัญหาการขาดแคลนอาหาร
แต่วิกฤติดังกล่าวก็ส่งผลให้มีความต้องการสินค้าเกษตรและอาหารมากขึ้น โดยเฉพาะประเทศที่ประสบปัญหาความมั่นคงทางอาหาร เช่น ตะวันออกกลาง แอฟริกา เซาท์แปซิฟิก เอเซีย และไม่เว้นแม้แต่ประเทศร่ำรวย เช่นซาอุดิอาระเบียและญี่ปุ่น ที่ผลิตอาหารได้เพียง 20% และ 37% ตามลำดับ ซึ่งถือเป็นโอกาสในวิกฤติของประเทศไทย
นายอลงกรณ์ กล่าวต่อไปว่า 3 ปีที่ผ่านมา กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เดินหน้าปฏิรูปสร้างศักยภาพใหม่อย่างต่อเนื่อง ภายใต้ 5 ยุทธศาสตร์ของ ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์บนความร่วมมือกับทุกภาคส่วน โดยเฉพาะการจับคู่กับกระทรวงพาณิชย์ (นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์) ขับเคลื่อน
1.ยุทธศาสตร์ตลาดนำการผลิต
2.ยุทธศาสตร์เทคโนโลยีเกษตร 4.0
3.ยุทธศาสตร์ 3’s (safety – Security – Sustainability เกษตรปลอดภัย เกษตรมั่นคง และเกษตรยั่งยืน)
4.ยุทธศาสตร์ การทำงานเชิงบูรณาการทุกภาคส่วน5.ยุทธศาสตร์เกษตรกรรมยั่งยืนบนศาสตร์พระราชา
นอกจากนี้ นายอลงกรณ์ ได้ยกตัวอย่างนโยบายและโครงการบางส่วน ซึ่งเป็นหนึ่งในคานงัดสร้างจุดเปลี่ยนเพื่อเพิ่มศักยภาพและขีดความสามารถใหม่ให้กับภาคเกษตรของไทย เช่น 1. ศูนย์เทคโนโลยีเกษตรและนวัตกรรม (AIC : Agritech and Innovation Center) และ 766 นวัตกรรม Made In Thailand 2. ศูนย์ข้อมูลเกษตรแห่งชาติ (National Agriculture Big Data Center: NABC) 3. ดิจิตอล ทรานสฟอร์เมชั่น (Digital Transformation) ปฏิรูปการบริหารราชการและการบริการประชาชนของกระทรวงเกษตรฯ 4. เกษตรอัจฉริยะและตลาดออนไลน์ 5. เกษตรกรรมยั่งยืนในเมือง-ชนบท 6. เกษตรแห่งอนาคต อาหารแห่งอนาคต 7. โลจิสติกส์เกษตร เชื่อมไทย-เชื่อมโลก 8. เกษตรแปลงใหญ่ สตาร์ทอัพเกษตร 9. ยกระดับเกษตรกรก้าวใหม่ 10. เกษตรสร้างสรรค์สู่เกษตรมูลค่าสูง (The Brand Project) เน้นแปรรูปสร้างมูลค่าและพัฒนาแบรนด์ 11. การพัฒนาเชิงพื้นที่ (Area base) ไม่มีเหลื่อมล้ำ และ 12. เปิดกว้างสร้างหุ้นส่วน(Partnership platform) ในประเทศและต่างประเทศ
“การปฏิรูปแบบปรับโฉมหน้าประเทศไทย(Reshaping Thailand)ให้แข็งแกร่งกว่าเดิม ไม่เพียงแต่สามารถก้าวข้ามจุดอ่อนและปัญหาในอดีตแต่พร้อมเผชิญหน้ากับปัญหาปัจจุบันและความท้าทายของอนาคต เช่น ปัญหาต้นทุนการผลิตเพิ่มขึ้นจากราคาน้ำมันแพง ปัญหาปุ๋ยเคมี และราคาอาหารสัตว์สูงขึ้นหรือปัญหาเศรษฐกิจชะลอตัว ปัญหาเงินเฟ้อ และดอกเบี้ยสูง ปัญหาอัตราแลกเปลี่ยนไม่แน่นอน เมื่อโอกาสมาพร้อมศักยภาพใหม่ ประเทศไทยก็สามารถเดินหน้าขึ้นแท่นเป็นประเทศผู้ส่งออกอาหารอันดับท็อปเทนของโลกและมหาอำนาจอาหารของโลก” นายอลงกรณ์ กล่าวในที่สุด
ทั้งนี้ งานสัมนาเรื่อง “Next Normal: ธุรกิจเกษตรต้องปรับตัวอย่างไร หลังโควิดสู่โรคประจำถิ่น” จัดโดย นสพ.เทคโนโลยีชาวบ้าน เครือมติชน-ข่าวสด