วันที่ 1 ส.ค. 2567 อาคารรัฐสภา นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัฒกรรม สภาผู้แทนราษฎร แถลงภายหลังการเชิญ กรมบัญชีกลาง สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา และบริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ CPF เข้าหารือเกี่ยวกับมาตรการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของปลาหมอคางดำ ว่า กมธ. ได้หารือกับกรมบัญชีกลางและสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาเกี่ยวกับปัญหาข้อกฎหมาย จากการที่อธิบดีกรมประมงได้ทำหนังสือสอบถามเรื่องการช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติจากการแพร่ระบาดปลาหมอคางดำสามารถทำได้หรือไม่อย่างไร ซึ่งกรมบัญชีกลางแจ้งว่า ได้ตอบหนังสือไปว่า ในแนวทางปฏิบัติสามารถใช้ในส่วนเงินทดรองราชการ เพื่อให้การช่วยเหลือผู้ประสบภัยได้ตามความเหมาะสม
ขณะที่ CPF ได้เข้าชี้แจงโดยยืนยันตามเอกสารว่า ทั้งหมดที่บริษัทได้ดำเนินการทดลอง คือนำเข้าปลาหมอคางดำ ที่เป็นลูกปลาขนาดเล็กจำนวน 2,000 ตัว ซึ่งเมื่อนำเข้ามาที่ท่าอากาศยานได้ตายไปทั้งหมด 1,400 ตัว เหลือเพียง 600 ตัว และเมื่อนำทั้งหมด 600 ตัวไปอยู่ในบ่อพักปูนที่กำหนดไว้ ปลาหมอคางดำก็ได้ทยอยตายเรื่อยๆ จนเหลือ 50 ตัว และกระบวนการทั้งหมดนี้ ได้นำส่งปลาหมอคางดำให้กับกรมประมงเป็นที่เรียบร้อยแล้ว
ส่วนมติของคณะกรรมาธิการฯ คือต้องการหาข้อเท็จจริงเพิ่มเติมอีกในส่วนที่มีข่าวออกไปว่า มี 11 บริษัทที่ส่งออกปลาหมอคางดำไปกว่า 17 ประเทศ จะมีการเชิญบริษัททั้งหมดนี้ เข้ามาชี้แจงว่ามีการนำเข้ามาอย่างไร รวมถึงอธิบดีกรมประมง เนื่องจากเคยชี้แจงว่าเป็นการกรอกเอกสารผิดนั้นจริงหรือไม่ในสัปดาห์หน้า
นายฐากร ยืนยันว่า กมธ.พิจารณาด้วยข้อเท็จจริงตามเอกสารและข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นทั้งหมด ไม่ได้มีอคติกับใครในการพิจารณาเรื่องนี้ และภายหลังจากได้ข้อสรุป จะส่งให้กับทางรัฐบาลหรือหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้อง เช่น สำนักงานป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ซึ่งอยู่ระหว่างการดำเนินการสอบสวนเรื่องนี้ต่อไป
นายฐากร ยังระบุว่า ไม่ได้ตัด CPF ออกจากข้อสงสัย เรื่องต้นตอของการแพร่ระบาด แต่ต้องซักถามจาก 11 บริษัท ที่ไม่ได้นำเข้า แต่กลายเป็นผู้ส่งออกได้อย่างไร เพื่อหาข้อสรุปให้สอดคล้องกับเอกสารที่มีการชี้แจง โดย CPF ยืนยันว่า ขั้นตอนการตัดครีบปลา และการเก็บซากปลาไปตรวจสอบ ต้องดำเนินการโดยกรมประมง
สำหรับกรณีที่คณะอนุกรรมาธิการพิจารณาศึกษาสาเหตุและแนวทางการแก้ไขปัญหารวมถึงผลกระทบจากการนำเข้าปลาหมอคางดำ เคยเชิญ CPF เข้ามาชี้แจง แต่กลับส่งมาเพียงเอกสารนั้น นายฐากร กล่าวว่า ในการประชุมวันนี้ทั้ง นพ.วาโย อัศวรุ่งเรือง ในฐานะประธานคณะอนุฯ รวมถึงนายณัฐชา บุญไชยอินสวัสดิ์ ในฐานะรองประธานคณะอนุฯ ได้มีการซักถามครบทุกประเด็น และได้ขอเอกสารเพิ่มเติมจาก CPF เช่น ใบขออนุญาตการทำวิจัยในปี 2553 ด้วย