ซีพีเอฟ ประสานพลัง 3 มหาวิทยาลัยชั้นนำ ขับเคลื่อน 5 โครงการเชิงรุก เร่งกำจัด ปลาหมอคางดำ

ซีพีเอฟ พร้อมเร่งสนับสนุนการแก้ปัญหาปลาหมอคางดำ ขานรับมาตรการรัฐบาล ขับเคลื่อน 5 โครงการอย่างเร่งด่วน ประสานความร่วมมือกับ 3 มหาวิทยาลัยชั้นนำบูรณาการเชิงรุกในหลายมิติ

ซีพีเอฟ

วันที่ 23 กรกฎาคม 2567 นายประสิทธิ์ บุญดวงประเสริฐ ประธานคณะผู้บริหาร บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ ซีพีเอฟ ประกาศความร่วมมือกับคณาจารย์จาก 3 สถาบันการศึกษาชั้นนำ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) และมหาวิทยาลัยขอนแก่น รวมทั้งโรงงานผลิตปลาป่น เพื่อบูรณาการแก้ไขสถานการณ์ของปลาหมอคางดำ

ซีพีเอฟ 1

นายประสิทธิ์ เปิดเผยว่า บริษัทตระหนักดีว่า ขณะนี้การแพร่ระบาดของปลาหมอคางดำเป็นความเดือดร้อนของประชาชนในหลายพื้นที่ สิ่งที่สำคัญที่สุดสำหรับตอนนี้ คือ การร่วมมือและสนับสนุนการจัดการปัญหาเพื่อบรรเทาผลกระทบอย่างเร่งด่วน ในฐานะภาคเอกชน บริษัทสนับสนุนแผนปฏิบัติการ 5 โครงการ ร่วมแก้ไขปัญหานี้ของภาครัฐตามศักยภาพของบริษัท ต้องขอบคุณ ฯพณฯ เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ที่มอบหมายให้ ร้อยเอกธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเดินหน้ามาตรการแก้ปัญหาอย่างเร่งด่วน ประกอบกับ นายบัญชา สุขแก้ว อธิบดีกรมประมงที่เข้มแข็งลงมือปฏิบัติการเชิงรุกอย่างเต็มรูปแบบเพื่อลดจำนวนปลาหมอคางดำไม่ให้ส่งผลกระทบต่อประชาชน

ซีพี

“บริษัทพร้อมนำศักยภาพขององค์กรเข้ามาช่วยสนับสนุนการแก้ไขอย่างบูรณาการกับทุกภาคส่วน และลงมือปฏิบัติการเชิงรุกในหลายมิติตามแนวทางของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชน โดยมีแผนปฏิบัติการเชิงรุก 5 โครงการ” ดังนี้

2099195

โครงการที่ 1 : ทำงานร่วมกับกรมประมงสนับสนุนการรับซื้อปลาหมอคางดำจากทุกจังหวัดทั่วประเทศที่มีการระบาด ราคา 15 บาทต่อกิโลกรัม จำนวน 2,000,000 กิโลกรัม นำมาผลิตเป็นปลาป่นเพื่อเร่งกำจัดปลาหมอคางดำออกจากระบบให้มากและเร็วที่สุด โดยในช่วงเวลาที่ผ่านมา บริษัทได้ร่วมมือกับโรงงานปลาป่นศิริแสงอารำพี จังหวัดสมุทรสาคร รับซื้อปลาหมอคางดำในพื้นที่ไปแล้ว 600,000 กิโลกรัม และยังมีแผนรับซื้ออย่างต่อเนื่อง พร้อมประสานจุดรับซื้อเพิ่มเติม

ทั้งนี้ ต้องขอขอบคุณกรมประมงที่มีมาตรการที่รัดกุม ออกประกาศห้ามการเพาะเลี้ยงปลาหมอคางดำ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการเพาะเลี้ยงเพื่อการค้า

โครงการที่ 2 : ร่วมสนับสนุนภาครัฐและชุมชน ปล่อยปลาผู้ล่าลงสู่แหล่งน้ำ จำนวน 200,000 ตัว โดยที่ผ่านมา บริษัทมีการส่งมอบปลากะพงขาว จำนวน 45,000 ตัว ให้กับประมงจังหวัดสมุทรสาคร สมุทรสงคราม และจันทบุรี ทั้งนี้ ขั้นตอนในการปล่อยปลาผู้ล่านั้น เป็นไปตามแนวทางของกรมประมง

โครงการที่ 3 : ร่วมสนับสนุนภาครัฐ ชุมชนและภาคประชาสังคม จัดกิจกรรมจับปลา สนับสนุนอุปกรณ์จับปลาและกำลังคน ในทุกพื้นที่ที่ประสบปัญหาอย่างต่อเนื่อง อาทิ ที่ผ่านมาบริษัทได้ร่วมกิจกรรม “ลงแขกลงคลอง ทีมแม่กลองปราบหมอคางดำ” ที่จัดขึ้นในจังหวัดสมุทรสงครามแล้ว 4 ครั้ง เป็นต้น และจะดำเนินการอย่างต่อเนื่องในทุกจังหวัดทั่วประเทศที่มีการระบาด

โครงการที่ 4 : การพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหารจากปลาหมอคางดำ โดยมีสถาบันการศึกษาแสดงความสนใจเพื่อร่วมดำเนินการดังกล่าว ได้แก่ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น และสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) ศึกษาวิจัยและพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์อาหาร

ที่ผ่านมา บริษัทได้รับความร่วมมือจากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ พัฒนาเมนูอาหารจากปลาหมอคางดำ อาทิ ปลาร้าทรงเครื่อง ผงโรยข้าวญี่ปุ่น และ น้ำพริกปลากรอบ

โครงการที่ 5 : ร่วมทำวิจัยกับผู้เชี่ยวชาญในการหาแนวทางควบคุมประชากรปลาหมอคางดำในระยะยาว สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง และมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้แสดงเจตจำนงร่วมมือกับบริษัทในการบูรณาการเพื่อพัฒนาแนวทางที่จะบรรเทาปัญหาในระยะยาวต่อไป และยินดีที่จะร่วมมือกับผู้เชี่ยวชาญ ตลอดจนสถาบันการศึกษาทั้งในและต่างประเทศเพิ่มเติม

นายปรีชา ศิริแสงอารำพี เจ้าของโรงงานปลาป่นศิริแสงอารำพี จ.สมุทรสาคร กล่าวว่า ปลาหมอคางดำเป็นปลาที่มีโปรตีนที่สามารถนำมาผลิตเป็นปลาป่นคุณภาพ โรงงานยินดีที่ได้เป็นส่วนหนึ่งในการบรรเทาปัญหานี้ โดยได้ประสานงานกับซีพีเอฟที่ร่วมปฏิบัติการกับกรมประมง และได้รับซื้อแล้วตั้งแต่เดือนเมษายนที่ผ่านมาเป็นจำนวน 600,000 กิโลกรัม โดยยังคงเปิดรับซื้ออย่างต่อเนื่อง

“ตั้งแต่กระทรวงเกษตรฯ เริ่มการจับปลาหมอคางดำใน จ.สมุทรสาคร ชาวประมงที่เริ่มออกปลาตั้งแต่วันแรก บอกกับท่านรัฐมนตรีเองว่า วันนี้ปลาหายไป 80% แล้ว แต่เรายังต้องทำต่อเนื่อง ซึ่งรัฐก็มีมาตรการในการกำกับไม่ให้เกิดการลักลอบเลี้ยงและนำมาจำหน่าย การกำจัดด้วยวิธีการนี้จึงมาถูกทางและช่วยลดปริมาณปลาได้มาก การที่ทุกภาคส่วนมาช่วยกันเช่นนี้ถือว่าดีมาก” นายปรีชากล่าว

ด้านนักวิชาการจากสถาบันการศึกษา ผศ.ดร.สิทธิชัย ฮะทะโชติ ผู้ช่วยอธิการบดี ฝ่ายวิจัย นวัตกรรม และพันธกิจเพื่อสังคม มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวถึง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์มีความเชี่ยวชาญโดยตรงกับการวิจัยเทคโนโลยีและนวัตกรรมในการควบคุมปลา รวมถึงการพัฒนาแปรรูป เพื่อเร่งนำปลาออกจากแหล่งน้ำได้อย่างรวดเร็วและการปล่อยปลากะพงในเวลาที่เหมาะสม ซึ่งฃ มหาวิทยาลัยได้มีการทำการวิจัยปลาชนิดนี้มาหลายปี และคิดว่างานวิจัยจะช่วยเติมเต็มภารกิจของกรมประมงได้ ปลามีโปรตีนที่ดี สามารถนำไปปรุงเป็นอาหารเพื่อการบริโภคได้ โดยมหาวิทยาลัยจะนำปลาหมอคางดำมาทำปลาร้า โดยใช้จุลินทรีย์ที่ช่วยย่นระยะเวลาการหมักปลาร้าให้สั้นลง ทั้งยังสามารถทำปลาป่นใช้ผลิตอาหารสัตว์ได้ รวมถึงการวิจัยและพัฒนาหาแนวทางอื่นๆ ในการจัดการควบคุมปลาหมอคางดำได้อย่างมีประสิทธิภาพ

สำหรับความกังวลว่าจะมีการเพาะเลี้ยงปลาเพื่อนำมาขายในโครงการรับซื้อนั้น ข้อเท็จจริง ระยะการเลี้ยงปลาหมอคางดำใช้เวลาเลี้ยงนานเป็นปี แต่มีเนื้อน้อย ต้นทุนการผลิตสูงกว่าราคาที่รัฐบาลรับซื้อ ที่สำคัญการนำมาเป็นปลาป่นสำหรับอาหารสัตว์ยังช่วยลดต้นทุนการนำเข้าปลาป่นจากต่างประเทศ

ผศ.ดร นันทิภา พันธุ์สวัสดิ์ ภาควิชาผลิตภัณฑ์ประมง คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวว่า ควรสร้างการรับรู้การบริโภคปลาชนิดนี้ให้มากขึ้น ภาควิชาได้ศึกษานำปลาหมอคางดำมาใช้ประโยชน์ทั้งในระดับครัวเรือน อุตสาหกรรม และร้านอาหาร และปรุงเป็นอาหารหลากหลายเมนู อาทิ ขนมจีนน้ำยา ในช่วงนี้ผู้คนสนใจชิมปลาหมอคางดำ จึงควรมีการเชื่อมโยงสู่การแปรรูปตัดแต่งเนื้อปลาและทำ “เนื้อปลาแช่แข็ง” เพื่อให้สามารถขนส่งแก่ผู้บริโภคได้กว้างขวางมากขึ้น หากมีคนที่พร้อมแปรรูปหรือตัดแต่งปลาจะช่วยปลาชนิดนี้เข้าถึงผู้บริโภคในภูมิภาคอื่นๆได้ง่ายขึ้น และการทำเป็นอาหารแปรรูปยังช่วยป้องกันการแพร่กระจายของปลาเข้าสู่พื้นที่อื่นๆ อีกด้วย

ด้าน ผศ.ดร.วัลย์ลดา กลางนุรักษ์ ผู้ช่วยคณบดี คณะเทคโนโลยีการเกษตร สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง กล่าวว่า ครั้งนี้เป็นนิมิตหมายอันดีที่ทุกภาคส่วนมาร่วมมือกัน และ คณาจารย์ สจล.มีความยินดีที่จะร่วมมือกำหนดแนวทางเพื่อจัดการและควบคุมการแพร่ระบาดอย่างยั่งยืน โดยเน้นการใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัยร่วมกับวิธีควบคุมทางชีวภาพ เช่น เทคโนโลยี Environmental DNA ซึ่งเป็นการสำรวจร่องรอย DNA ในธรรมชาติ สำรวจการระบาดได้ตั้งแต่ช่วงต้น ก็สามารถนำปลาผู้ล่าเข้ามาได้ทันการณ์ นอกจากนี้ ยังรวมถึงการนำปลานักล่าท้องถิ่นกลับสู่ระบบนิเวศ ซึ่งเป็นการมุ่งเป้าไปที่การรักษาสมดุลทางธรรมชาติ และการอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพในแหล่งน้ำของไทย ทั้งนี้ ปลาหมอคางดำ ไม่ใช่เอเลี่ยนตัวแรกที่เข้ามาในประเทศไทย ซึ่งภาคประชาชนสำคัญมากในการตระหนักรู้และช่วยกันแก้ปัญหาตลอดจนรักษาความสมดุลของระบบนิเวศ

ผศ.ดร.สรณัฎฐ์ ศิริสวย ภาควิชาเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ระบุว่า ในการแก้ปัญหาการแพร่ระบาดของปลาหมอคางดำ กรมประมงมีการศึกษาเชิงลึกอยู่แล้ว และมีการเตรียมแผนอย่างดี เพื่อนำปลาขนาดใหญ่ออกจากแหล่งน้ำธรรมชาติให้เร็วที่สุด เหลือแต่ปลาหมอคางดำขนาดเล็ก ทั้งการผ่อนปรนใช้เครื่องมือจับสัตว์น้ำ เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพ เตรียมพร้อมในการปล่อยปลาผู้ล่า วิธีการดังกล่าวช่วยกำจัดวงจรชีวิตของปลาไปเรื่อยๆ ขณะที่ กรมประมงอยู่ระหว่างทำการวิจัยปลา 4N เพื่อผสมกับปลาปกติ 2N ให้ได้ปลา 3N ซึ่งเป็นหมัน ส่วนกรณีที่เกษตรกรเข้าใจว่าไข่ปลาสามารถอยู่ได้ถึง 2 เดือนในช่วงที่ตากบ่อนั้น แทบเป็นไม่ได้เลย ขอให้ประชาชนทุกคนตระหนักแต่อย่าตระหนก หากพบเจอปลาหมอคางดำที่ไหนให้แจ้งกับกรมประมงทันที