วันที่ 22 ก.ค. 2567 ในการประชุมร่วมระหว่างกระทรวงเกษตรฯ กับสมาคมประมงฯ ทางสมาคมการประมงแห่งประเทศไทย สมาชิก และชาวประมง ได้เสนอแนวทางการแก้ไขปัญหาปลาหมอคางดำระบาดเฉพาะหน้า จำเป็น เร่งด่วน จำนวน 9 ข้อ ดังนี้
1.เสนอขอให้รัฐบาลกำหนดให้เป็นวาระแห่งชาติโดยมีคณะกรรมการแก้ไขปัญหาปลาหมอคางคำที่มีนายกรัฐมนตรี เป็นประธานฯ รัฐมนตรีว่าการกระพรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นรองประธานฯ ปลัดกระทรวง/อธิบดีฯ ที่เกี่ยวข้อง เป็นกรรมการ อธิบดีกรมประมง เป็นเลขาฯ รองอธิบดีกรมประมง เป็นรองเลขาฯ ผอ.ฝ่ายกฎหมาย เป็นผู้ช่วยเลขาฯ โดยมีผู้แทนสมาคมการประมงแห่งประเทศไทย และนักวิชาการ หรือ ผู้เชี่ยวชาญที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมเป็นคณะกรรมการด้วย
2.พิจารณาออกประกาศให้มีการผ่อนผันเครื่องมือประมงพื้นบ้านที่เหมาะสมมีประสิทธิภาพในการใช้จับปลาหมอคางดำ ได้ในแหล่งน้ำสาธารณะตามความจำเป็น เช่น แม่น้ำ ลำคลอง หนอง บึง ชายฝั่งทะเลในทุกจังหวัดที่มีการระบาดของปลาหมอคางดำ โดยการออกประกาศดังกล่าวให้เป็นตามมติของคณะกรรมการเฉพาะกิจแต่ละจังหวัดเป็นผู้พิจารณาเสนอฯ
3.กำหนดให้แต่ละจังหวัดจัดทำแผนที่แหล่งน้ำสาธารณะ เช่น แม่น้ำ ลำคลอง หนอง บึง ชายฝั่งทะเล รวมถึงพื้นที่เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำของประชาชนที่มีปลาหมอคางดำระบาดอยู่เพื่อใช้ในการวางแผนการบริหารจัดการกำจัดปลาหมอคางดำอย่างเป็นระบบ
4.กำหนดให้ประมงจังหวัดแต่ละจังหวัดร่วมกับสมาคมประมงในพื้นที่ ประสานชาวประมง รับลงทะเบียนเรือประมง ชาวประมง ที่จะมาเข้าร่วมโครงการกำจัดปลาหมอคางดำเพื่อควบคุมให้อยู่ในระบบข้อมูลทางการ
5.เสนอรัฐบาล จัดสรรงบประมาณเร่งด่วนสนับสนุนในการกำจัดปลาหมอคางดำให้กับชาวประมง เช่น ค่าน้ำมัน ค่าเครื่องมือ ค่าอุปกรณ์ ค่าแรงงาน สนับสนุนราคาปลาหมอคางดำในราคา 15 บาท ภายในระยะเวลาที่กำหนดที่ชัดเจน (3-6 เดือน) เพื่อเร่งรัดการกำจัด และป้องกันการลักลอบเพาะเลี้ยงปลาหมอคางดำ เป็นต้น
6.กำหนดให้มีคณะทำงานเฉพาะกิจในแต่ละจังหวัด โดยให้มีประมงจังหวัด เป็นประธานฯ ผู้แทนส่วนราชการ ผู้แทนสมาคมประมงจังหวัด ผู้แทนชาวประมง ผู้แทนภาคประชาสังคม ร่วมเป็นกรรมการ เจ้าหน้าที่ประมงจังหวัดเป็นเลขาฯ ให้มีหน้าที่ในการดำเนินการ กำกับ ควบคุม ดูแล ตรวจสอบการใช้งบประมาณสนับสนุนให้กับเรือประมง ชาวประมง ที่เข้าร่วมโครงการ และแต่งตั้งชุดเฉพาะกิจดามความจำเป็น รวมทั้งรวบรวมปัญหาต่างๆ ที่พบระหว่างการดำเนินการ พร้อมทั้งหาแนวทางแก้ไขปัญหาร่วมกัน และอาจจะเสนอปัญหาต่างๆ ให้กับกรมประมง เพื่อช่วยพิจารณาแก้ไข
7.ให้คณะทำงานเฉพาะกิจจังหวัดต่างๆ ประสานความร่วมมือกับเกษตรกรเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ ให้ช่วยแจ้งข้อมูลการระบาดของปลาหมอคางดำในพื้นที่เพาะเลี้ยงต่อคณะทำงานฯ เพื่อรวบรวมข้อมูลและร่วมมือในการกำจัดปลาหมอคางดำ จากแหล่งเพาะเลี้ยงของเกษตรกร
8.ภายใต้คณะทำงานดังกล่าว ให้จัดตั้งหน่วยเฉพาะกิจรับแจ้งข้อมูลการระบาดของปลาหมอคางดำ โดยให้มีการตั้งกลุ่มไลน์และช่องทางสื่อสารอื่น ๆ ในการรับแจ้งข้อมูลจากประชาชน ตัวแทนภาคประชาสังคมในจังหวัดนั้น ๆ ว่ามีพื้นที่ใดที่มีปลาหมอคางดำระบาดโดยประสานคณะทำงานฯ เพื่อดำเนินการกำจัดโดยเร่งด่วน
9.พื้นที่ไหนที่ได้มีการกำจัดปลาหมอคางดำจนเหลือน้อยแล้ว ให้เริ่มปล่อยปลานักล่าตัวใหญ่จำนวนมากพอ ลงไปในแม่น้ำ น้ำ ลำคลอง หนอง บึง เพื่อให้ปลานักล่ากินลูกปลาหมอคางดำเพื่อตัดวงจรชีวิตปลาหมอคางดำให้หมดไปโดยเร็ว หลังจากนั้น ให้มีการส่งเสริม สนับสนุน และฟื้นฟูพรัพยากรสัตว์น้ำในแหล่งน้ำธรรมรรมชาติ เพื่อฟื้นฟูระบบนิเวศน์วิทยา เช่น การปล่อยพันธุ์สัตว์น้ำท้องถิ่นทดแทน เป็นต้น