นายณกรณ์ ตรรกวิรพัท ผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทย เผยว่า การยางแห่งประเทศไทย (กยท.) เตรียมจัดงานวันสถาปนา กยท. ครบรอบปีที่ 9 ในวันที่ 15 กรกฎาคม 2567 โดยในปีนี้ชูแนวคิด “Thai Rubber, The next chapter” อนาคตยางไทยจะก้าวไปอีกขั้นสู่การเป็นผู้นำด้านยางพารา เพิ่มขีดความสามารถทางด้านการแข่งขันในเวทีอุตสาหกรรมยางโลก ควบคู่ไปกับการยกระดับองค์กรสู่การบริการ โดยการนำระบบดิจิทัล เทคโนโลยีและนวัตกรรมที่ทันสมัยมาสนับสนุนและช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินงาน เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับผู้มีส่วนเกี่ยวข้องด้านยางพาราทุกมิติ พร้อมยกระดับคุณภาพชีวิตของพี่น้องเกษตรกรชาวสวนยางให้ดีขึ้น ต่อยอดนวัตกรรมยางพารา ขับเคลื่อนองค์กรภายใต้ระบบดิจิทัล ก้าวทันตามการเปลี่ยนแปลงของโลก ตอกย้ำจุดยืน ความเป็นผู้นำด้านยางพาราในฐานะผู้เล่นคนสำคัญ
นายณกรณ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า การจัดงานวันสถาปนา กยท. ในปีนี้ กยท. ได้รับเกียรติจาก ร้อยเอก ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ให้เกียรติมาเป็นประธานเปิดงาน ซึ่งถือว่าท่านคือผู้ที่มอบนโยบายและกำหนดมาตรการที่เกี่ยวข้องกับยางพาราหลายมาตรการให้ กยท. ได้เดินหน้าดำเนินการเพื่อให้ราคายางมีเสถียรภาพ ได้แก่ นโยบายการจัดการทรัพยากรทางการเกษตร ทำเกษตรที่ใส่ใจสิ่งแวดล้อม ด้วยการบริหารจัดการคาร์บอนเครดิตในสวนยาง ระบบตรวจสอบย้อนกลับ (Traceability) ภายใต้กฎระเบียบ EUDR ที่ให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อม และการผลักดันโครงการโฉนดต้นยางพารา โฉนดเพื่อการเกษตรในพื้นที่สวนยาง แปลงสินทรัพย์ให้เป็นทุน เพื่อนำไปต่อยอดในอาชีพ โดย กยท. นำเทคโนโลยีสำรวจต้นยางพาราในการประเมินมูลค่าไม้ยางพาราเพื่อจัดทำโฉนดต้นยางพารา นโยบายการพัฒนานวัตกรรมยางพาราสู่สินค้าเชิงพาณิชย์ โดยการเปิดตัวล้อยางและผลิตภัณฑ์ยางภายใต้แบรนด์ “Greenergy” นโยบายประกาศสงครามสินค้าเกษตรเถื่อน โดยปราบปรามการลักลอบนำเข้ายางพาราผิดกฎหมาย เพื่อลดผลกระทบด้านราคายางพาราที่เกษตรกรได้รับ ส่งผลให้ราคาปรับตัวสูงขึ้นต่อเนื่อง ตลอดจนมุ่งเน้นที่จะสร้างเสถียรภาพให้กับยางพาราด้วยการเพิ่มปริมาณการใช้ยางภายในประเทศ เป็นต้น ซึ่งผลการดำเนินงานของ กยท. ภายใต้นโยบายเหล่านี้จะถูกนำเสนอผ่านนิทรรศการและกิจกรรมที่น่าสนใจอื่นๆ ภายในงานวันสถาปนา กยท. ที่จะจัดขึ้นในวันที่ 15 กรกฎาคม นี้
“งานในปีนี้ กยท. จะ Kick off เปิดตัวรถ Mobile Unit ในโครงการพัฒนาระบบสารสนเทศเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการจัดเก็บ CESS (Smart CESS) ซึ่งเป็นรถปฏิบัติการของ กยท. ประจำอยู่ที่ด่านศุลกากร ทั้ง 6 แห่ง สำหรับปฏิบัติงานตรวจสอบการชำระค่าธรรมเนียม โดยสามารถติดตามรถที่บรรทุกหรือขนส่งยางของผู้ประกอบการลงทะเบียนไว้ด้วยระบบ GPS เชื่อมโยงกับข้อมูลใบขนสินค้าของกรมศุลกากรและใบรับค่าธรรมเนียมของ กยท. ซึ่งจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการตรวจสอบความถูกต้องของสินค้าและค่าธรรมเนียมฯ พร้อมการเปิดร้าน Greenergy Shop by RAOT ประจำ กยท. สำนักงานใหญ่ ซึ่งเป็นร้านจำหน่ายผลิตภัณฑ์ยางพาราจากเกษตรกรชาวสวนยาง สถาบันเกษตรกรชาวสวนยาง เป็นการเพิ่มช่องทางการจำหน่ายสินค้าให้สามารถเข้าถึงผู้บริโภคได้มากยิ่งขึ้น ช่วยสร้างรายได้ให้แก่เกษตรชาวสวนยาง สถาบันเกษตรกรชาวสวนยาง และผู้ประกอบกิจการยางพารา” ผู้ว่าการ กยท. กล่าว