หลายหน่วยงานระดมกำลังเปิดปฏิบัติการ “ลงแขกลงคลอง” ล่าปลาหมอคางดำ จ.สมุทรสาครเพื่อเร่งกำจัดเอเลี่ยนสปีชีส์ ออกไปจากระบบนิเวศ จากการผ่าพิสูจน์พบปลาส่วนใหญ่มีไข่เต็มท้อง หากปล่อยไว้จะขยายพันธุ์ไปอีกจำนวนมาก
วันที่ 9 กรกฎาคม 2567 บริเวณคลองท่าแร้ง ตำบลยกกระบัตรอำเภอบ้านแพ้ว จังหวัดสมุทรสาคร ดร.ณมาณิตา กลับบ้านเกาะ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พร้อมด้วยนายเผดิม รอดอินทร์ ประมงจังหวัดสมุทรสาคร นายพิรุณโรจน์ นาคดนตรี นายอำเภอบ้านแพ้ว ทสจ.สมุทรสาคร ผอ.กอ.รมน. ผอ.ศรชล. หน่วยงานในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ผู้ประกอบการประมง หน่วยงานที่เกี่ยวข้องและประชาชนในพื้นที่ ได้ร่วมกันเปิดปฏิบัติการลงแขกลงคลอง ไล่ล่าปลาหมอคางดำ เพื่อเร่งกำจัดเอเลี่ยนสปีชีส์ ออกไปจากระบบนิเวศ
โดยในวันนี้เจ้าหน้าที่ได้นำเรืออวนรุนซึ่งเป็นเรือประมงชายฝั่งขนาดเล็ก (เรือรุนเคย) พร้อมด้วย อวนล้อม และตาข่าย เป็นเครื่องมือในการจับปลาหมอคางดำ ที่ผ่านมาเรืออวนรุนเป็นพระเอกในการจับปลาหมอคางดำ โดยสามารถจับปลาหมอคางดำ บริเวณปากแม่น้ำชายฝั่งมหาชัยได้มากถึง 315 ตัน (วันที่ 15 ก.พ.- 30 มิ.ย.67) จากปริมาณทั้งหมดที่จับได้ 470 ตัน
หลังจากนี้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จะดำเนินการจับปลาหมอคางดำในพื้นที่ต่างๆของจังหวัดสมุทรสาครอย่างต่อเนื่อง จากนั้นจะมีการปล่อยปลานักล่า (ปลากระพง) ลงในแหล่งน้ำธรรมชาติเพื่อให้ไปกินลูกปลาหมอคางดำ
ทั้งนี้จากการสุ่มทอดแห พบว่า ปลาที่จับได้ 71 ตัว เป็นปลาหมอคางดำจำนวน 70 ตัว และเป็นปลานิล 1 ตัว จากการชั่งน้ำหนักและผ่าท้องปลาหมอคางดำพบมีไข่ปลาราว 500-700 ฟอง
นายเผดิม รอดอินทร์ เปิดเผยว่า จังหวัดสมุทรสาครเป็นจังหวัดนำร่อง ที่ใช้เรืออวนรุน (เรือรุนเคย) ในการจับปลาหมอคางดำที่แพร่กระจายตามชายฝั่ง ซึ่งได้ผลดีมาก ทำให้จังหวัดสมุทรสาคร เป็นจังหวัดที่สามารถจับปลาหมอคางดำได้มากที่สุด โดยมีการตั้งจุดรับซื้อ 5 จุด
หลังจากมีการจับปลาหมอคางดำตามแหล่งน้ำชายฝั่ง ได้ขยายผลมายังบ่อเลี้ยงปลา ที่ประสบปัญหาปลาหมอคางดำหลุดเข้าไปในบ่อเลี้ยง โดยเกษตรกรที่ประสบปัญหาต้องมาลงทะเบียน เพื่อภาครัฐจะได้รับซื้อปลาหมอคางดำ จากเดิมที่ไม่มีราคา ทำให้เกษตรกรผู้เลี้ยงปลาไม่จับปลาหมอคางดำมาขาย แต่จะปล่อยทิ้งไปตามแหล่งน้ำธรรมชาติ แต่ปัจจุบันสามารถจับมาขายได้ในราคา 8 บาท ต่อกิโลกรัม
สำหรับปลาหมอคางดำที่จับได้ส่วนหนึ่งผู้รับซื้อจะนำไปสับหรือบดเพื่อเป็นอาหารเลี้ยงปลากระพง และอีกส่วนจะถูกส่งเข้าโรงงานปลาป่น เพื่อนำไปผลิตเป็นอาหารสัตว์ นอกจากนี้ปลาหมอคางดำยังสามารถนำไปแปรรูปเป็นอาหารชนิดต่างๆได้อีกด้วย
ด้าน ดร.ณมานิตา กลับบ้านเกาะ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า ตั้งแต่วันที่ 2 ก.พ.67 ที่ รมว.เกษตรและสหกรณ์ได้ลงพื้นที่จังหวัดสมุทรสาคร เพื่อคิ๊กออฟการแก้ปัญหาปลาหมอคางดำ ก็ได้มีการประสานงานกับกรมพัฒนาที่ดินมาช่วยในการนำปลาหมอคางดำไปผลิตเป็นน้ำหมักชีวภาพ ตอนนี้งบประมาณที่กรมประมงได้ตั้งมาเพื่อสนับสนุนในการรับซื้อปลาหมอคางดำ เหลือโควต้าอีกประมาณ 10,000 กิโลกรัม ซึ่งหลังจากนี้ทางประมงจังหวัดสมุทรสาคร จะได้นำเสนออธิบดีกรมประมง เพื่อขอให้พิจารณาสนับสนุนโครงการต่อเนื่อง