นายอรรถกร ศิริลัทธยากร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ลงพื้นที่ตรวจราชการตามนโยบายกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เริ่องแนวทางการส่งเสริมการปลูกพืชทดแทนประเภทกาแฟ ณ ภูมิใจ๋ คอฟฟี่ ฟาร์ม จ.น่าน ซึ่งกระทรวงเกษตรและสหกรณ์มีแนวทางการขับเคลื่อนนโยบายแบบบูรณาการร่วมกับภาคเอกชน ในด้านการศึกษาและแลกเปลี่ยนองค์ความรู้แนวทางการส่งเสริมการปลูกพืชทดแทนประเภทกาแฟในพื้นที่ 8 จังหวัดภาคเหนือ รวมถึงการนำนวัตกรรมเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้ในการกระบวนผลิต เพื่อลดต้นทุนและเพิ่มประสิทธิภาพทางการเกษตร ตลอดจนการด้านการตลาดที่สามารถต่อยอดสู่การสร้างโอกาสในการเพิ่มรายได้เกษตรกร 3 เท่าใน 4 ปี ตามนโยบายสำคัญของกระทรวงเกษตรฯ และสอดคล้องกับนโยบายภาคเกษตร “ตลาดนำ นวัตกรรมเสริม เพิ่มรายได้” เนื่องจากกาแฟเป็นพืชเศรษฐกิจที่มีความต้องการทางการตลาดค่อนข้างสูง ทั้งนี้ยังได้รับฟังความเดือดร้อนจากตัวแทนกลุ่มเกษตรกรและผู้ประกอบการกาแฟในจังหวัดน่าน และมอบหมายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการต่อไป
รมช.อรรถกร กล่าวว่า สำหรับแนวทางส่งเสริมการปลูกพืชทดแทนประเภทกาแฟในเบื้องต้นได้มอบหมายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้จัดทำคู่มือการปลูกกาแฟ เพื่อเป็นการกระจายองค์ความรู้ให้แก่เกษตรกรรุ่นใหม่ที่มีความสนใจ พร้อมทั้งสนับสนุนปัจจัยการผลิต อาทิ ต้นกล้ากาแฟ ปุ๋ยอินทีรีย์ให้แก่เกษตรกรในพื้นที่ ตลอดจนการตรวจสอบและพัฒนาคุณภาพผลผลิตกาแฟให้เป็นไปตามมาตรฐาน GAP เพื่อเพิ่มโอกาสทางการตลาดทั้งในและต่างประเทศ โดยการบูรณาการทุกภาคส่วนเพื่อการอำนวยความสะดวกเกษตรกรและการพัฒนาต่อยอดอย่างยั่งยืน ในส่วนของปัจจัยสำคัญอย่างปัจจัยเรื่องน้ำ ได้เร่งรัดกรมชลประทานให้มีการสำรวจและวางแผนการบริหารจัดน้ำการ เพื่อบรรเทาปัญหาการขาดแคลนน้ำในพื้นที่เกษตรอีกด้วย
ต่อมา รมช.อรรถกรและคณะ เดินทางต่อไปยังศูนย์ส่งเสริมและพัฒนาอาชีพการเกษตรจังหวัดน่าน เพื่อเยี่ยมชมแปลงเรียนรู้พันธุ์ไผ่และศึกษาแนวทางการส่งเสริมการปลูกพืชทดแทนประเภทไผ่ซางหม่น ซึ่งกรมส่งเสริมการเกษตรได้มีการส่งเสริมและพัฒนาองค์ความรู้ด้านการปลูก รวมถึงพัฒนาทักษะการแปรรูปผลิตภัณฑ์ไผ่ เพื่อการต่อยอดอาชีพเกษตรกร อาทิ เฟอร์นิเจอร์ไม้ไผ่ ชาใบไผ่ เป็นต้น จากนั้นคณะรัฐมนตรีเกษตรได้เดินทางเยี่ยมชมแปลงปลูกไผ่ซางหม่นของนายภาคิน ขุนนิรงค์ Young Smart Farmer ด้านการปลูกและขยายพันธุ์ไผ่ซางหม่น เพื่อหารือแนวทางการสนับสนุนแปรรูปหน่อไม้อีกด้วย
“ในการส่งเสริมพืชเศรษฐกิจชนิดใหม่ให้แก่เกษตรกร เพื่อเป็นการต่อยอดและพัฒนาอาชีพเกษตรกร ไผ่ซางหม่นเป็นอีกหนึ่งพืชเศรษฐกิจที่สามารถสร้างรายได้ให้แก่เกษตรกรเพิ่มเติมได้ ในส่วนความข้อจำกัดต่าง ๆ ขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำโจทย์ตรงนี้ไปศึกษาแนวทางการแก้ไขต่อไป ” รัฐมนตรีช่วยเกษตรฯ กล่าว