กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข เตือน ร้านอาหารที่มีการทำปรุง หรือประกอบอาหาร และจำหน่ายอาหารหรือเครื่องดื่มที่ผสมกัญชาก่อนที่จะนำอาหารไปจำหน่ายแบบออนไลน์หรือจำหน่ายให้ผู้บริโภคผ่านช่องทางต่าง ๆ ต้องขอรับใบอนุญาตหรือขอรับหนังสือรับรองการแจ้งจัดตั้งสถานที่จำหน่ายอาหารจากเจ้าพนักงานท้องถิ่น ซึ่งเป็นที่ตั้งของสถานที่จำหน่ายอาหารหรือสถานที่ที่มีการทำ ปรุง หรือประกอบอาหารเพื่อจำหน่าย หากไม่ได้รับใบอนุญาตหรือไม่ได้แจ้ง ต้องระวางโทษปรับหรือจำคุก
นายแพทย์อรรถพล แก้วสัมฤทธิ์ รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า สถานประกอบกิจการร้านอาหารและร้านเครื่องดื่มผสมกัญชา ซึ่งมีลักษณะเป็นอาคาร สถานที่ หรือบริเวณใด ๆ ที่ไม่ใช่ที่หรือทางสาธารณะที่จัดไว้เพื่อประกอบอาหารหรือปรุงอาหารจนสำเร็จและจำหน่ายให้ผู้ซื้อสามารถบริโภคได้ทันทีภายในร้านหรือนำไปบริโภคที่อื่นเข้าข่ายเป็น “สถานที่จำหน่ายอาหาร” ตามพระราชบัญญัติการสาธารณสุข พ.ศ. 2535 และที่แก้ไขเพิ่มเติม โดยมาตรา 38 กำหนดให้ผู้ใดจะจัดตั้งสถานที่จำหน่ายอาหารในอาคารหรือพื้นที่ใดซึ่งมีพื้นที่เกิน 200 ตารางเมตรและไม่ใช่เป็นการขายของในตลาด ต้องได้รับใบอนุญาตจากเจ้าพนักงานท้องถิ่น หากสถานที่ดังกล่าวมีพื้นที่ไม่เกิน 200 ตารางเมตร ต้องแจ้งต่อเจ้าพนักงานท้องถิ่น เพื่อขอรับหนังสือรับรองการแจ้งก่อนการจัดตั้ง
นายแพทย์อรรถพล กล่าวต่อไปว่า ในกรณีที่ผู้บริโภคพบเจอสถานที่ตั้งของร้านอาหารออนไลน์สามารถแจ้งต่อเจ้าพนักงานท้องถิ่นในเขตพื้นที่ที่ร้านดังกล่าวตั้งอยู่เพื่อตรวจสอบว่าร้านดังกล่าวได้รับใบอนุญาตหรือได้รับหนังสือรับรองการแจ้งจัดตั้งสถานที่จำหน่ายอาหารตามกฎหมายว่าด้วยการสาธารณสุขหรือไม่
หากพบว่ามีการจัดตั้งสถานที่จำหน่ายอาหารหรือประกอบกิจการโดยไม่ได้รับใบอนุญาตหรือไม่ได้รับหนังสือรับรองการแจ้งมีโทษตามมาตรา 72 แห่งพระราชบัญญัติการสาธารณสุข พ.ศ. 2535 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ผู้ใดจัดตั้งสถานที่จำหน่ายอาหารซึ่งมีพื้นที่เกิน 200 ตารางเมตรโดยไม่ได้รับใบอนุญาต ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 50,000 บาท หรือผู้ใดจัดตั้งสถานที่จำหน่ายอาหารซึ่งมีพื้นที่ไม่เกิน200 ตารางเมตร โดยไม่มีหนังสือรับรองการแจ้ง ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน3 เดือน หรือปรับไม่เกิน 25,000 บาท
ทั้งนี้ขอเน้นย้ำให้ประชาชนมีความรอบรู้เพื่อความปลอดภัยของผู้บริโภคอาหาร โดยเลือกซื้ออาหารจากสถานที่จำหน่ายอาหารหรือแหล่งผลิตอาหารที่มีความน่าเชื่อถือ สามารถตรวจสอบที่มาหรือแหล่งผลิตได้ รวมทั้งต้องได้รับใบอนุญาตหรือหนังสือรับรองการแจ้งสถานที่จำหน่ายอาหารตามกฎหมายว่าด้วยการสาธารณสุข” รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าว
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังการปลดล็อกกัญชาออกจากยาเสพติดตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) มีผลบังคับใช้เมื่อ 9 มิถุนายนที่ผ่านมาและเนื่องจาก พ.ร.บ.กัญชา กัญชง พ.ศ. ยังไม่ผ่านการพิจารณาของสภา และกระทรวงสาธารณสุขออกมาตรการ 2 มาตรการ คือ
(1) การออกคำแนะนำของคณะกรรมการสาธารณสุข เรื่อง แนวทางควบคุมเหตุรำคาญจากการกระทำให้เกิดกลิ่นหรือควันกัญชา กัญชง หรือพืชอื่นใด มาตรการนี้กระทำได้แค่เพียงระงับการสูบนั้น ๆ ไม่ให้ส่งกลิ่นหรือควันรำคาญผู้อื่นเท่านั้น แต่จะไม่สามารถห้ามไม่ให้เด็กและเยาวชนสูบกัญชาได้เลย
(2) การประชาสัมพันธ์ให้ผู้ปลูกกัญชาในครัวเรือนมา“จดแจ้ง” ผ่านแอปพลิเคชัน “ปลูกกัญ”
แต่นโยบายนี้ทำได้เพียงการ “ขอความร่วมมือ” เพราะจะ “บังคับให้จดแจ้ง” ได้ต่อเมื่อพระราชบัญญัติกัญชา กัญชง พ.ศ. … ผ่านการตราเป็นกฎหมายแล้วเท่านั้น
ดังนั้นขณะนี้หากผู้กรอกข้อมูลให้ข้อมูลเท็จ หรือให้ข้อมูลแล้วไม่ปฏิบัติตามนั้น เช่น จดแจ้งว่าปลูกเพื่อใช้รักษาโรคตนเอง แต่จริง ๆ นำช่อดอกไปสูบเพื่อความบันเทิง หรือนำไปใส่อาหารขายก็ไม่สามารถเอาผิดได้
จึงเรียกได้ว่าเกิด “ภาวะสุญญากาศ” คือ ไม่มีมาตรการควบคุมการใช้กัญชาในทางที่ผิดที่เพียงพอใด ๆ และต่อไปไทยอาจเป็น ประเทศที่กัญชาเสรีที่สุดในโลก ก็เป็นได้