การคัดเลือกเกษตรกรและสถาบันเกษตรกรด้านปศุสัตว์ประจำปี 2565 จะได้รับรางวัลโล่พระราชทาน ประเภทกลุ่มเกษตรกรเลี้ยงสัตว์ คือ วิสาหกิจชุมชนกลุ่มผู้เลี้ยงแพะแกะ อำเภอเมือง จังหวัดเพชรบูรณ์ ประวัติสถาบันเกษตรกรดีเด่นแห่งชาติ (กลุ่มเกษตรกรเลี้ยงสัตว์) อำเภอเมือง จังหวัดเพชรบูรณ์ จัดตั้งกลุ่มเมื่อ พ.ศ.2557 สมาชิกแรกตั้ง จำนวน 15 คน สมาชิกปัจจุบัน จำนวน 37 คน ประธานกลุ่ม คือ นายชวน ขุมทรัพย์
นายสัตวแพทย์สรวิศ ธานีโต อธิบดีกรมปศุสัตว์ กล่าวถึงความคิดริเริ่มและความพยายามฟันฝ่าอุปสรรคในการสร้างผลงานของกลุ่ม ว่า เดิมในพื้นที่ป่าเลามีเกษตรกรผู้เลี้ยงแพะหลายราย ลักษณะการเลี้ยงเป็นแบบต่างคนต่างเลี้ยง ไม่มีการรวมกลุ่ม ต่อมา นายชวน ขุมทรัพย์ ได้ชักชวนเพื่อนเกษตรกรรวมกลุ่มแต่ยังเป็นลักษณะการเลี้ยงแบบต่างคนต่างเลี้ยงต่างคนต่างขาย การรวมกลุ่มในช่วงแรกประสบปัญหาราคาที่ไม่แน่นอนและมีปัญหาด้านสุขภาพแพะ ต่อมาจัดตั้งกลุ่มเป็นกลุ่มธรรมชาติเพื่อขอรับการสนับสนุนจากหน่วยงานของรัฐ สามารถแก้ปัญหาได้บางส่วนแต่ยังพบปัญหาด้านการขายแพะ เนื่องจากพ่อค้าให้ราคาไม่เท่ากันทำให้เกษตรกรเลิกเลี้ยงหลายราย และได้รับคำแนะนำจากปศุสัตว์อำเภอเมืองเพชรบูรณ์ให้ขึ้นทะเบียนกับกรมปศุสัตว์ 1 มกราคม 2557 จึงขึ้นทะเบียนกลุ่มเกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์กับกรมปศุสัตว์ โดยใช้ชื่อกลุ่มว่า “เกษตรกรผู้เลี้ยงแพะแกะตำบลป่าเลา” มีสมาชิกเริ่มต้น 15 ราย โดยมี นายชวน ขุมทรัพย์ เป็นประธาน หลังจากนั้น สมาชิกได้เข้ารับการอบรมการเลี้ยงแพะ ได้เรียนรู้ด้านการจัดการฟาร์ม ทำให้สมาชิกปรับเปลี่ยนวิธีการเลี้ยงแพะและขายแพะได้ราคาสูงขึ้น การอบรมทำให้สมาชิกทราบว่าสิ่งสำคัญ ในการเลี้ยงแพะ คือ การทำฟาร์มให้ปลอดจากโรคบรูเซลลา ต่อมาปศุสัตว์อำเภอเมืองเพชรบูรณ์ได้เข้ามาให้ความรู้และทดสอบโรคเพื่อทำฟาร์มปลอดโรคให้สมาชิกกลุ่ม จนสมาชิกได้เป็นฟาร์มปลอดโรค ทำให้พ่อค้า มีความมั่นใจมากขึ้น ปี 2562 ได้จดทะเบียนวิสาหกิจชุมชนกับสำนักงานเกษตรอำเภอเมืองเพชรบูรณ์ ชื่อ “วิสาหกิจชุมชนกลุ่มผู้เลี้ยงแพะแกะ อำเภอเมือง” จากเดิมกลุ่มเลี้ยงแพะโดยใช้หญ้าธรรมชาติ เมื่อสมาชิกมีความรู้จากการอบรมจึงได้ปรับเปลี่ยนมาปลูกพืชอาหารสัตว์ใช้เอง ทำให้หญ้าที่ใช้เลี้ยงแพะมีคุณภาพดี มีแหล่งขายแพะที่มั่นคงยั่งยืน ส่งผลให้สมาชิกกลุ่มผู้เลี้ยงแพะมีรายได้เพิ่มขึ้นและเป็นอาชีพหลักจนถึงปัจจุบัน ความสามารถในการบริหารจัดการสถาบัน วิสาหกิจชุมชนกลุ่มผู้เลี้ยงแพะแกะอำเภอเมืองเพชรบูรณ์ ปัจจุบันมีสมาชิก 37 ราย มีความสามารถในการบริหารจัดการกลุ่มเกษตรกรให้เข้มแข็งและยั่งยืนดำเนินการ ในหลายด้าน อาทิ ด้านการบริหารองค์กร การเลี้ยงแพะของกลุ่ม การแบ่งงานตามธุรกิจ การจัดการด้านอาหาร การจัดการฟาร์มและการป้องกันโรค ฉีดวัคซีนป้องกันโรคปากและเท้าเปื่อย สมาชิกกลุ่มได้รับรองเป็นฟาร์มที่มีระบบการป้องกันโรคและการเลี้ยงสัตว์ที่เหมาะสม (GFM) ทุกฟาร์ม จึงมีระบบการป้องกันโรค เช่น มีอ่างน้ำยาฆ่าเชื้อก่อนเข้าฟาร์มด้วยน้ำยาคลอรีน กลูตาราลดีไฮล์ มีรั้วรอบบริเวณฟาร์มห้ามสัตว์เลี้ยงเข้า และมีที่เก็บอาหารที่เหมาะสม การให้น้ำ การใช้สมุนไพร มีการเสริมด้วยบอระเพ็ดและเกลือผสมน้ำ สรรพคุณเป็นยาถ่ายพยาธิ ยาบำรุงอาหาร ลดไข้รักษาโรคผิวหนัง การตลาด ราคารับซื้อขายแพะ เครือข่ายแพะ ฯลฯ
อธิบดีกรมปศุสัตว์ กล่าวเพิ่มเติมถึง บทบาทและการมีส่วนร่วมของสมาชิกต่อสถาบัน ว่า วิสาหกิจชุมชนผู้เลี้ยงแพะแกะ อำเภอเมืองเพชรบูรณ์ มีความสามารถในการจัดการบริหารกลุ่มให้มีความเข้มแข็งและยั่งยืน มีคณะกรรมการบริหาร แบ่งหน้าที่ มีระเบียบข้อบังคับกลุ่มที่ชัดเจน มีการประชุมทุกเดือน แจ้งข่าวสารรวมถึงปัญหาอุปสรรคในการเลี้ยงแพะของสมาชิกเพื่อหาแนวทางแก้ไข ประชุมคณะกรรมการกลุ่มผ่านระบบ Application Line หรือมีการแจ้งข้อมูลข่าวสารผ่านทาง Line ทำให้ทราบความเคลื่อนไหวของสมาชิก ความมั่นคงและฐานะทางเศรษฐกิจของสถาบัน ระบบบัญชี มีการจัดทำบัญชีของกลุ่ม บัญชีเงินกู้ เพื่อช่วยเหลือสมาชิกที่มีความจำเป็นเร่งด่วนในการใช้เงิน บัญชีซื้อขายแพะ กลุ่มดำเนินการแยกบัญชีซื้อ-ขายแพะ บัญชีเงินส่งเงินกู้ และบัญชีควบคุมเงินออมทรัพย์ การลดรายจ่ายและเพิ่มรายได้ โดยการทำอาหารสัตว์คุณภาพใช้เอง การสร้างเครือข่ายกับกลุ่มผู้ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในพื้นที่เพื่อนำมาทำเป็นข้าวโพดหมัก กองทุนมูลแพะ การทำกิจกรรมด้านสาธารณประโยชน์และการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ใช้พลังงานแสงอาทิตย์ทำเครื่องปั๊มน้ำรดแปลงหญ้า เพื่อเป็นการประหยัดพลังงานโดยไม่ใช้น้ำมันเป็นการลดต้นทุนการผลิต และใช้ทรัพยากรที่มีอยู่อย่างคุ้มค่าเกิดประโยชน์ ไม่กระทบต่อสิ่งแวดล้อม บริจาคมูลแพะเพื่อเป็นปุ๋ยบำรุงดินให้กับต้นไม้ภายในวัด ร่วมกิจกรรมของชุมชน โดยสมาชิกกลุ่มร่วมทำบุญ ณ วัดป่าศรีถาวร จังหวัดเพชรบูรณ์ ร่วมกิจกรรมสาธารณะประโยชน์ สมาชิกกลุ่มร่วมกันเก็บเศษกิ่งไม้ที่เกิดจากอุทกภัยในหมู่บ้าน ร่วมปลูกป่าชุมชน สมาชิกกลุ่มร่วมกันปลูกป่าบริเวณเส้นทางบายพาส สนใจสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ กลุ่มวิจัยและพัฒนาการถ่ายทอดเทคโนโลยี กรมปศุสัตว์ โทร. 0 – 2653 – 4444 ต่อ 2271