ต้นคราม พืชที่เรารู้จักชื่อและรู้กันดีว่าสามารถนำมาย้อมสีผ้าได้นั้น มีเพียงไม่กี่คนที่พอจะรู้จักต้นไม้ชนิดนี้อย่างแท้จริง และต้นคราม ก็ไม่ใช่ต้นฮ่อม เพราะต้นฮ่อมนั้นเป็นไม้คนละวงศ์กับต้นครามโดยสิ้นเชิง แม้จะมีบางท้องถิ่นเรียกต้นฮ่อมว่าต้นครามดอยก็ตามเพราะต้นครามที่เรานำมาย้อมสีนี้ เป็นต้นไม้ที่อยู่ในวงศ์เดียวกับถั่ว มีหลายสายพันธุ์ที่พบในประเทศไทย แต่ที่เรานิยมนำมาใช้ย้อมสีคือสายพันธุ์ Indigofera tinctoria เพราะสามารถหาได้ทั่วไปในทุกท้องถิ่น เพราะสามารถปรับตัวได้เข้ากับสภาพแวดล้อมอย่างดี ทนต่อความแห้งแล้งและความร้อนได้ดี เจริญได้ในดินเค็ม
ต้นคราม เป็นต้นไม้ขนาดเล็กทรงพุ่ม แตกกิ่งก้านมากน้อยขึ้นอยู่กับสภาพแวดล้อม มีความสูงไม่เกิน 2 เมตร แตกใบขนาดเล็กแบบขนนกเรียงตัวสลับกัน ใบมีสีเขียว ผลิดอกสีม่วงอมน้ำตาลอ่อนบริเวณง่ามใบ เรียงตัวเป็นช่อยาว 15 เซนติเมตร มีผลเป็นฝักกลมกระจุกตัวกันแบบถั่วขนาดเล็กยาวไม่เกิน 8 เซนติเมตร และเมล็ดสีเหลืองขุ่นขนาดเล็กอยู่ภายในฝัก
สรรพคุณในแง่ของสมุนไพรของต้นไม้ชนิดนี้ก็มีไม้น้อยเลย โดยต้นครามทั้งต้นนั้นสามารถนำมาต้มในน้ำร้อนดื่มเป็นยาแก้กษัย ขับปัสสาวะ ขับนิ่ว และยังสามารถนำลำต้นสดๆ ไปทุบให้แตกแล้วนำไปพอกขมับเพื่อลดไข้ บรรเทาอาการปวดศีรษะและลดอาการตัวร้อนจากพิษไข้ได้ดี ส่วนของเปลือกนำมาประคบลดบวมบริเวณผิวหนังและรักษาฝีต่างๆ รวมทั้งพิษงู แมลงกัดต่อย
ประโยชน์ของครามนั้นนอกจากใช้เป็นสมุนไพรแล้ว ก็คือสีย้อมผ้าที่เรารู้จักกันอย่างดี โดยนำลำต้นครามสดมาแช่ไว้ในน้ำจนน้ำกลายเป็นสีน้ำเงิน แล้วปล่อยให้ตะกอนนอนก้นถังแล้วเทใส่ถุงผ้าตากให้แห้ง ก็จะได้ผงสี ที่เราสามารถนำไปใช้ย้อมผ้า ใช้วาดภาพได้ และความลับอีกอย่างของการนำใบครามไปใช้ประโยชน์คือนำไปใช้เป็นสีย้อมผม ทำให้ผมที่เป็นสีขาวกลับกลายเป็นสีเข้มได้
เห็นประโยชน์มากขนาดนี้ อาจจะมีเกษตรกรที่รักธรรมชาติอยากจะนำ “คราม” มาปลูกเพื่อใช้ประโยชน์ ก็สามารถหามาปลูกได้ ถ้ามีที่ทางว่างๆ หัวไร่ปลายนาก็ไถกลบกำจัดวัชพืชแล้วตากดินทิ้งไว้ซัก 7 วัน เหมือนการปลูกพืชไร่ทั่วไป แล้วย่อยดินให้โปร่งซุยแล้วหว่านเมล็ดครามลงไปในดินที่เราทำการรดน้ำให้ชุ่มรอไว้แล้ว หลังจากนั้นก็หมั่นรดน้ำ รอเวลาให้ต้นกล้างอกจนมีความสูงราว 10 เซนติเมตร ให้เราเริ่มถอนต้นที่งอกชิดกันเกินไปออก เพื่อให้ต้นครามเจริญได้ดี หมั่นให้ปุ๋ยและให้รดน้ำทุกวัน ไม่เกิน 120 วันก็เริ่มเก็บเกี่ยวไปใช้ประโยชน์ได้แล้ว