สธ.ยัน ใช้ “กัญชา” เพื่อทางการแพทย์เท่านั้น ไม่สนับสนุนเสพสูบ หรือสันทนาการ

โฆษกกระทรวงสาธารณสุข เผยข้อมูลการใช้ “กัญชา” ในทางการแพทย์และสุขภาพ มีข้อมูลชัดเจนว่าได้ประโยชน์ในการดูแลรักษาผู้ป่วยที่มีภาวะคลื่นไส้อาเจียนจากเคมีบำบัด โรคลมชักรักษายาก กล้ามเนื้อหดเกร็ง ปลอกประสาทเสื่อมแข็ง ช่วยเพิ่มคุณภาพชีวิต และอยู่ระหว่างศึกษาการใช้ดูแลผู้ป่วยมะเร็ง โดยสั่งจ่ายผ่านบุคลากรทางการแพทย์ที่ได้รับการอบรมและมีแนวทางการใช้ที่เป็นมาตรฐาน เพื่อความปลอดภัยของผู้ป่วย


วันที่ 8 กรกฎาคม 2565  นพ.รุ่งเรือง กิจผาติ หัวหน้าที่ปรึกษาระดับกระทรวงและโฆษกกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า นโยบายกัญชาของกระทรวงสาธารณสุข เป็นการใช้เพื่อประโยชน์ทางการแพทย์และสุขภาพเท่านั้น  

“กระทรวงสาธารณสุขไม่ได้สนับสนุนการใช้เพื่อเสพสูบ หรือสันทนาการ ซึ่งเป็นอันตรายต่อสุขภาพและความปลอดภัย โดยมีการออกข้อกฎหมายต่าง ๆ เพื่อเฝ้าระวังและป้องกันการนำไปใช้ในทางที่ผิด หรือป้องกันการเข้าถึงในกลุ่มเสี่ยง เช่น เด็กและเยาวชน สตรีมีครรภ์และให้นมบุตรซึ่งสถาบันกัญชาทางการแพทย์ สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข มีข้อมูลชัดเจนว่า กัญชาและสารสกัดจากกัญชามีประโยชน์ สามารถนำมาใช้ในการดูแลสุขภาพ บำบัดรักษา บรรเทาอาการของผู้ป่วยได้จริง โดยต้องอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์หรือแพทย์แผนไทยในสถานพยาบาลที่ได้รับอนุญาตให้เปิดคลินิกกัญชาทางการแพทย์ จึงไม่มีผลกระทบที่เป็นอันตราย

6pwj9nbkvm8840cco8
สธ.ยันใช้กัญชาเพื่อการแพทย์

ทั้งนี้การใช้กัญชาทางการแพทย์แบ่งเป็น 3 กลุ่ม คือ กลุ่มที่มีประโยชน์ในการดูแลผู้ป่วยชัดเจน ได้แก่ การดูแลภาวะคลื่นไส้อาเจียนจากการรับเคมีบำบัด,โรคลมชักที่รักษายากและโรคลมชักที่ดื้อต่อการรักษา,ภาวะกล้ามเนื้อหดเกร็ง ผู้ป่วยโรคปลอกประสาทเสื่อมแข็ง ภาวะปวดประสาท ภาวะเบื่ออาหารในผู้ป่วยเอดส์ที่มีน้ำหนักตัวน้อย รวมถึงเพิ่มคุณภาพชีวิตในผู้ป่วยที่ได้รับการดูแลแบบประคับประคอง


ส่วนกลุ่มที่ผลิตภัณฑ์กัญชาทางการแพทย์น่าจะได้ประโยชน์ หรือใช้ในลักษณะของการควบคุมอาการ มี 4 โรค ได้แก่ โรคพาร์กินสัน โรคอัลไซเมอร์ โรควิตกกังวลทั่วไป และโรคปลอกประสาทอักเสบ สำหรับกลุ่มที่อาจจะมีประโยชน์ในอนาคต คือ การใช้ดูแลรักษาผู้ป่วยมะเร็งซึ่งอยู่ในขั้นตอนของการศึกษาวิจัยเพื่อให้มีข้อมูลที่ชัดเจนมากขึ้น

“การใช้กัญชาทางการแพทย์ในการดูแลรักษาผู้ป่วย บุคลากรทางการแพทย์จะต้องผ่านการอบรมและได้รับใบอนุญาตในการจ่ายยากัญชาโดยกรมการแพทย์ได้ออกคำแนะนำการใช้กัญชาทางการแพทย์ ซึ่งมีการปรับปรุงข้อมูลให้ทันต่อสถานการณ์อยู่เสมอ โดยล่าสุดเป็นฉบับที่ 4 เพื่อเป็นแนวทางมาตรฐานในการใช้กัญชาดูแลผู้ป่วยอย่างเหมาะสมและเกิดประโยชน์มากที่สุด” นพ.รุ่งเรืองกล่าว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังการปลดล็อกกัญชาออกจากยาเสพติดตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) มีผลบังคับใช้เมื่อ 9 มิถุนายนที่ผ่านมาและเนื่องจาก พ.ร.บ.กัญชา กัญชง พ.ศ. ยังไม่ผ่านการพิจารณาของสภา และกระทรวงสาธารณสุขออกมาตรการ 2 มาตรการ คือ

(1) การออกคำแนะนำของคณะกรรมการสาธารณสุข เรื่อง แนวทางควบคุมเหตุรำคาญจากการกระทำให้เกิดกลิ่นหรือควันกัญชา กัญชง หรือพืชอื่นใด มาตรการนี้กระทำได้แค่เพียงระงับการสูบนั้น ๆ ไม่ให้ส่งกลิ่นหรือควันรำคาญผู้อื่นเท่านั้น แต่จะไม่สามารถห้ามไม่ให้เด็กและเยาวชนสูบกัญชาได้เลย

(2) การประชาสัมพันธ์ให้ผู้ปลูกกัญชาในครัวเรือนมา“จดแจ้ง” ผ่านแอปพลิเคชัน “ปลูกกัญ”

แต่นโยบายนี้ทำได้เพียงการ “ขอความร่วมมือ” เพราะจะ “บังคับให้จดแจ้ง” ได้ต่อเมื่อพระราชบัญญัติกัญชา กัญชง พ.ศ. … ผ่านการตราเป็นกฎหมายแล้วเท่านั้น

ดังนั้นขณะนี้หากผู้กรอกข้อมูลให้ข้อมูลเท็จ หรือให้ข้อมูลแล้วไม่ปฏิบัติตามนั้น เช่น จดแจ้งว่าปลูกเพื่อใช้รักษาโรคตนเอง แต่จริง ๆ นำช่อดอกไปสูบเพื่อความบันเทิง หรือนำไปใส่อาหารขายก็ไม่สามารถเอาผิดได้

จึงเรียกได้ว่าเกิด “ภาวะสุญญากาศ” คือ ไม่มีมาตรการควบคุมการใช้กัญชาในทางที่ผิดที่เพียงพอใด ๆ และต่อไปไทยอาจเป็น ประเทศที่กัญชาเสรีที่สุดในโลก ก็เป็นได้