นายรพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตรเปิดเผยว่า ตามที่ครม.เห็นชอบโครงการสนับสนุนปุ๋ยลดต้นทุนการผลิตเกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปีการผลิต 2567/68 ไม่เกินครัวเรือนละ 500 บาทต่อไร่ ไม่เกิน 20 ไร่ หรือไม่เกิน 10,000 บาท ตามราคาปุ๋ยที่จ่ายจริง ซึ่งโครงการดังกล่าวเป็นการช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกข้าวตามความต้องการของเกษตรกรแบบมีส่วนร่วม โดยให้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวสมทบค่าปุ๋ยและชีวภัณฑ์ในลักษณะ “ปุ๋ยและชีวภัณฑ์คนละครึ่ง” เพื่อพัฒนาเกษตรกรผู้ปลูกข้าวให้เข้มแข็งและเกิดความยั่งยืน และลดภาระการเงินการคลังของประเทศ โดยปุ๋ยที่เข้าร่วมโครงการต้องเป็นปุ๋ยที่ได้รับการขึ้นทะเบียน หรือหนังสือสำคัญรับแจ้งถูกต้องตามพระราชบัญญัติปุ๋ย พ.ศ. 2518 และที่แก้ไขเพิ่มเติม และชีวภัณฑ์ต้องได้รับการขึ้นทะเบียนถูกต้องตามพระราชบัญญัติวัตถุอันตราย พ.ศ. 2535 และที่แก้ไขเพิ่มเติม
กรมวิชาการเกษตรในฐานะหน่วยงานที่ดำเนินการควบคุมคุณภาพปุ๋ยและชีวภัณฑ์ในโครงการ จะดำเนินการตรวจสอบอย่างเข้มข้น เพื่อให้เกษตรกรได้รับมอบปุ๋ยและชีวภัณฑ์ที่มีคุณภาพตรงตามวัตถุประสงค์ โดยสุ่มตัวอย่าง ตรวจสอบคุณภาพของปุ๋ยและชีวภัณฑ์ จากโรงงานผู้ผลิตที่เข้าร่วมโครงการ ทุกรอบการผลิต (lot) ตามสูตรที่กำหนด”
อธิบดีกรมวิชาการเกษตรเน้นย้ำว่า “หากกรมวิชาการเกษตรตรวจพบมีการผลิตสินค้าผิดมาตรฐาน หรือปลอม กรมวิชาการเกษตร จะดำเนินการตามกฏหมาย โดยหากผลิตปุ๋ยเคมีผิดมาตรฐาน มีโทษจำคุก 2-5 ปี ปรับ 80,000-200,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
หากผลิตปุ๋ยปลอม มีโทษจำคุก 5-15 ปี ปรับ 200,000-2,000,000 บาท และหากผลิตปุ๋ยอินทรีย์ปลอม จำคุก 1 ปี 3 เดือน-3 ปี 9 เดือน ปรับ 50,000-500,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
หากผลิตชีวภัณฑ์ปลอม มีโทษจำคุกไม่เกิน 4 ปี 8 เดือน ปรับไม่เกิน 480,000 บาท หรือทั้งจำและปรับ
หากผลิตชีวภัณฑ์ผิดมาตรฐาน มีโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี 3 เดือน ปรับไม่เกิน 330,000 บาท หรือทั้งจำและปรับ
ดังนั้น พี่น้องเกษตรกรมั่นใจว่า “โครงการปุ๋ยและชีวภัณฑ์คนละครึ่ง” เกษตรกรจะได้สินค้าที่มีคุณภาพใช้เพิ่มผลผลิตในนาข้าวอย่างแท้จริง”
.
“นอกจากเรื่องของการใช้ปุ๋ย การใช้ชีวพันธุ์ก็มีความสำคัญ เพราะสารชีวภัณฑ์จะช่วยให้เกิดการงอกที่ดีต้นไม้รากแข็งแรงดูดสารอาหารได้มากขึ้น ข้าวและพืชพันธุ์ธัญญาหารแข็งแรงและให้ผลผลิตมากขึ้นรวมถึงลดการใช้สารเคมีทำให้ลดค่าใช้จ่ายและเกษตรกรมีสุขภาพแข็งแรง สนับสนุนนโยบายลดการใช้สารเคมีทางการเกษตร สามารถนำไปใช้ผลิตพืชปลอดภัย สอดรับกับนโยบายของ ร้อยเอก ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในการลดต้นทุนการผลิตของเกษตรกร เกษตรต้องมีความปลอดภัย ยกระดับเพิ่มรายได้ 3 เท่า ใน 4 ปีอีกด้วย” อธิบดีกรมวิชาการเกษตรกล่าวทิ้งท้าย