จีนระงับการนำเข้าทุเรียนจากสวนและโรงคัดบรรจุทุเรียนของเวียดนามอย่างต่อเนื่อง

ฝ่ายเกษตร ประจำสถานกงสุลใหญ่ ณ นครกว่างโจว (ฝ่ายเกษตรฯ กว่างโจว) ได้ติดตามสถานการณ์การนำเข้าทุเรียนของจีนอย่างต่อเนื่อง พบว่า ตั้งแต่วันที่ ๑๗ พฤษภาคม ๒๕๖๗ ศุลกากรแห่งชาติจีนได้มีการระงับการนำเข้าทุเรียนจากสวนและโรงคัดบรรจุของเวียดนามมาอย่างต่อเนื่อง จนถึงปัจจุบัน

S 7241917

ในการนี้ ฝ่ายเกษตรฯ กว่างโจว ขอสรุปข้อมูลที่เกี่ยวข้อง ดังนี้

๑. เมื่อวันที่ ๒๗ กรกฎาคม ๒๕๖๕ ศุลกากรแห่งชาติจีน ได้ประกาศเงื่อนไขข้อกำหนดการตรวจสอบกักกันทุเรียนสดที่นำเข้าจากประเทศเวียดนาม และเมื่อวันที่ ๖ กันยายน ๒๕๖๕ ได้มีการประกาศรายชื่อสวนและโรงคัดบรรจุทุเรียนของเวียดนามที่ได้รับการขึ้นทะเบียนส่งออกไปจีน โดยมีรายชื่อสวน ๕๑ สวน และโรงคัดบรรจุ ๒๕ โรง ที่ได้ขึ้นทะเบียน ซึ่งได้มีการนำเข้าทุเรียนจากเวียดนาม
ล็อตแรก เมื่อวันที่ ๑๗ กันยายน ๒๕๖๕ และได้มีการประกาศรายชื่อสวนและโรงคัดบรรจุทุเรียนของเวียดนามที่ได้รับการขึ้นทะเบียนส่งออกไปจีนอย่างต่อเนื่องตามลำดับ จนถึงวันที่ ๕ มกราคม ๒๕๖๗ มีสวนที่ได้รับขึ้นทะเบียน จำนวน ๗o๘ สวน และโรงคัดบรรจุ จำนวน ๑๖๘ โรง
.

๒. เมื่อต้นเดือนมีนาคม ๒๕๖๗ กรมกักกันสัตว์และพืชของศุลกากรแห่งชาติจีน ได้มีหนังสือแจ้งเตือน เรื่อง การตรวจพบสารแคดเมียมตกค้างในทุเรียนเกินค่ามาตรฐาน จำนวน ๓๐ ล็อต ถึงกรมอารักขาพืชกระทรวงเกษตรและการพัฒนาชนบทเวียดนาม และขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องของเวียดนามตรวจสอบย้อนกลับและแจ้งผลให้ศุลกากรแห่งชาติจีนทราบต่อไป

๓. เมื่อวันที่ ๑๒ พฤษภาคม ๒๕๖๗ นาย Huynh Tan Dat อธิบดีกรมอารักขาพืชกระทรวงเกษตรและการพัฒนาชนบทเวียดนาม แถลงว่า ภายหลังจากที่ได้รับการแจ้งเตือนเรื่องการตรวจพบสารแคดเมียมตกค้างในทุเรียนเกินค่ามาตรฐานจากศุลกากรแห่งชาติจีน กรมอารักขาพืชได้แจ้งให้หน่วยงานและบริษัทในระดับท้องถิ่นตรวจสอบข้อเท็จจริง ในขณะเดียวกันได้จัดตั้งคณะตรวจสอบขึ้นเพื่อดำเนินการเก็บตัวอย่างจากสวนทุเรียนในเขตพื้นที่ ที่ได้รับการแจ้งเตือน โดยได้ดำเนินการเก็บตัวอย่างดิน น้ำ ปุ๋ย สารเคมีที่ใช้หลังการเก็บเกี่ยวเป็นต้นไปตรวจสอบ ผลการตรวจสอบไม่พบตัวอย่างที่มีสารแคดเมียมตกค้างเกินค่ามาตรฐานตามที่จีนกำหนด

๔. วันที่ ๑๔ พฤษภาคม ๒๕๖๗ สำนักงานอาหารและยาของไต้หวัน ตรวจพบทุเรียนสดที่นำเข้าจากเวียดนามซึ่งคัดบรรจุโดยบริษัท Wincar Trading Service And Build Invest Joint Stock Company จำนวน ๑๔.๘๕ ตัน พบสารแคดเมียมตกค้างอยู่ที่ระดับ o.o๗ mg/kg ซึ่งไม่สอดคล้องกับมาตรฐานความปลอดภัยทางอาหารของไต้หวันที่กำหนดค่ามาตรฐานสารแคดเมียมตกค้างในผลไม้ไม่เกิน o.o๕ mg/kgสินค้าล็อตดังกล่าว จึงต้องทำลายหรือส่งกลับไม่อนุญาตให้นำเข้ามาจำหน่ายในไต้หวัน

๕. เมื่อวันที่ ๑๑ มิถุนายน ๒๕๖๗ กรมกักกันสัตว์และพืชของศุลกากรแห่งชาติจีน ได้มีหนังสือแจ้งเตือนเรื่องสถานการณ์การตรวจพบทุเรียนไม่ผ่านเกณฑ์จากสารแคดเมียมตกค้างเกินค่ามาตรฐานจำนวน ๗๗ ล็อต ถึงกรมอารักขาพืชกระทรวงเกษตรและการพัฒนาชนบทเวียดนาม ซึ่งทุเรียนที่ตรวจพบไม่ผ่านเกณฑ์เกี่ยวข้องกับโรงคัดบรรจุ จำนวน ๓๓ โรง และสวน จำนวน ๔o สวน ทางศุลกากรแห่งชาติจีน จึงขอระงับการนำเข้าจากสวน จำนวน ๑๘ สวน และโรงคัดบรรจุทุเรียน จำนวน ๑๕ โรง ตั้งแต่วันที่ ๑๒ มิถุนายน ๒๕๖๗ เพิ่มเติมจากสวนและโรงคัดบรรจุที่ถูกระงับไปก่อนหน้านี้ โดยภายหลังที่จากกรมอารักขาพืชของเวียดนามแจ้งผลการตรวจหาสาเหตุ และดำเนินมาตรการปรับปรุงการดำเนินงานของสวน และโรงคัดบรรจุเพิ่มความเข้มงวดในการควบคุมและตรวจสอบตั้งแต่ต้นทางไม่ให้เกิดเหตุการณ์ซ้ำให้กับกรมกักกันสัตว์และพืชของศุลกากรแห่งชาติจีน เพื่อประเมินสวนและโรงคัดบรรจุก่อนที่จะอนุญาตให้สวน
และโรงคัดบรรจุที่ถูกระงับกลับมาขึ้นทะเบียนอีกครั้ง

๖. เมื่อตรวจสอบจำนวนสวนและโรงคัดบรรจุทุเรียนเวียดนามที่ได้รับการขึ้นทะเบียนส่งออกไปจีนโดยศุลกากรแห่งชาติจีน พบว่ามีการปรับลดลงต่อเนื่อง ดังนี้

S 7249956 cd

ซึ่งพบว่าจำนวนสวนทุเรียนที่ได้รับขึ้นทะเบียนปรับลดลง ๘o สวน และโรงคัดบรรจุทุเรียนปรับลดลง ๖๑ โรง

ข้อคิดเห็นของฝ่ายเกษตรฯ กว่างโจว

๑. การที่ศุลกากรแห่งชาติจีนระงับการนำเข้าทุเรียนจากสวนและโรงคัดบรรจุทุเรียนของเวียดนามอย่างต่อเนื่อง ภายหลังจากที่หน่วยงานของเวียดนามแถลงข่าวไม่พบการปนเปื้อนของสารแคดเมียมตกค้างเกินค่ามาตรฐานจากตัวอย่างที่สุมตรวจในเขตการผลิตที่จีนแจ้งเตือนและหลังจากนั้นยังมีข่าวที่ไต้หวัน ตรวจพบสารแคกเมียมตกค้างในทุเรียนสดของเวียดนามเกินค่ามาตรฐาน แสดงให้เห็นว่าศุลกากรแห่งชาติจีนมีความไม่เชื่อมั่นในกระบวนการตรวจสอบและแก้ไขปัญหาของเวียดนาม ซึ่งคาดว่าจะมีการสุ่มตรวจสารตกค้าง
ในทุเรียนที่นำเข้าจากเวียดนามในสัดส่วนที่เพิ่มขึ้นจากเดิมมาก

๒. เกษตรกรผู้เพาะปลูกทุเรียน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของไทย ควรให้ความสำคัญกับการดำเนินการตามมาตรฐานการเพาะปลูกและการตรวจสอบอย่างเข้มงวด เพื่อไม่ให้มีสารตกค้างเกินค่ามาตรฐานของจีน ซึ่งจากกรณีพบสารแคดเมียมตกค้างเกินค่ามาตรฐานของทุเรียนเวียดนามก็อาจจะมีการสุ่มตรวจสารตกค้างในทุเรียนของไทยเพิ่มขึ้นได้ด้วยเช่นกัน

๓. ทุเรียนเวียดนามส่วนใหญ่ส่งออกไปประเทศจีนผ่านเส้นทางการขนส่งทางบกไปยังด่านในเขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วงที่มีชายแดนติดกับประเทศเวียดนามโดยเฉพาะด่านโหย่วอี้กวน เพื่อหลีกเลี่ยงปัญหาการรอผลตรวจด้านความปลอดภัยอาหารกับทุเรียนที่นำเข้าจีน ผู้ส่งออกทุเรียนของไทยจึงควรประสานงานกับชิปปิ้งทางฝั่งจีนอย่างใกล้ชิดหากจะส่งออกผ่านด่านในเขตฯ กว่างซีจ้วง หรืออาจพิจารณาเลือกส่งออกไปยังด่านในมณฑลอื่น ๆ ของจีนแทน