สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ รายงานว่า ทุเรียนจำนวนมากที่ปลูกบริเวณไห่หนาน ซานย่า หยู่ไฉ มีการเติบโตได้ดีโดยขนาดทุเรียนเท่ากับลูกวอลเลย์บอล ประมานการช่วงฤดูสุกงอมช่วงแรกจากไห่หนานจะออกสู่ตลาดในช่วงปลายเดือนมิถุนายน Wanbao Agriculture and Animal Husbandry Group ปลูกทุเรียนโดยปีนี้ผลผลิตจากการปลูกทุเรียนโดยประมาณ 500 ต้นเริ่มออกผล จากการรายงาน ทุเรียนเหล่านี้ได้มีการปลูกเมื่อ 4 ปีที่แล้ว และในปีนี้เป็นฤดูออกผลครั้งแรก โดยทุเรียนอายุ 4 ปี สามารถผลิตทุเรียนได้มากถึง 19 ลูก ซึ่งแต่ละผลจะสามารถมีน้ำหนักถึง 2 กิโลกรัม
Hainan Youqi Agricultural Company เป็นบริษัทเดียวที่ได้รับการอนุญาตจากกระทรวงเกษตรและ กิจการชนบทของจีนให้นำเข้าต้นกล้าทุเรียน โดนแบรนด์ทุเรียน Dazuiniao ได้มีการรับรองจาก GAP โดยในขณะนี้เริ่มมีการติดผลจากการปลูกทุเรียนเข้าปีที่ 2 และมีการออกผลที่สุกงอมในบางส่วนจากการปลูกทุเรียน
ฤดูเก็บเกี่ยวทุเรียนไห่หนาน
ฤดูเก็บเกี่ยวของทุเรียนไห่หนานเริ่มตั้งแต่เดือนมิถุนายนถึงเดือนสิงหาคม โดยจะมีผลผลิตจากการเก็บเกี่ยวมากที่สุดในช่วงกรกฎาคม จากการคาดการณ์ชี้ให้เห็นว่าการเพาะปลูกทุเรียนในไห่หนานจะเกิน 6,600 เฮกตาร์ ( 41,250 ไร่ ) ภายในสามถึงห้าปีข้างหน้า แต่ทั้งนี้การปลุกทุเรียนในเกาะมีข้อเสียเปรียบคือต้องเผชิญกับการผลิตที่มีจำนวนจำกัด สภาพอากาศที่ไม่แน่นอนและพายุไต้ฝุ่น ดังนั้นเพื่อการลดความเสี่ยงจากปัญหาเหล่านี้ จีนจึงพัฒนาเทคโนโลยีตัดแต่งพันธุ์ทุเรียนเป็นพันธุ์แคระ ทำให้ทุเรียนมีขนาดเล็กลงโดยทั่วไปจะสูง 2 เมตรกว่าเพื่อช่วยในการเก็บเกี่ยวได้ง่ายขึ้น
ราคาทุเรียนไห่หนานครึ่งกิโลกรัม 300 บาท หรือกิโลกรัมละ 600 บาท ถือว่าราคายังสูง เมื่อเทียบกับทุเรียนไทยที่มีราคาเพียงกิโลกรัมละ 300 – 350 บาท
ช่วงเดือนพฤษภาคมปี 2567 ที่ผ่านมา ทุเรียนไห่หนานเริ่มเปิดตัวเข้าสู่ตลาดจีนซึ่งผลผลิตเร็วกว่าที่คาดการณ์ประมาณหนึ่งเดือน ราคาขายอยู่ที่ประมาณ 60 หยวน/จิน (1 จิน เท่ากับ 0.5 กิโลกรัม) เนื่องด้วยจีนมีพื้นที่การปลูกจำกัด ทำให้ผลผลิตยังไม่มาก ส่งผลให้ราคายังคงสูง (ทุเรียนไทยขายปลีกประมาณ 30-35 หยวน/จิน) แต่ทั้งนี้ Du Baizhong ประธานของสมาคมทุเรียนไห่หนานและเป็นผู้จัดการของ Hainan Youqi Agricultural Company ซึ่งปัจจุบันบริษัทเป็นฐานการปลูกทุเรียนที่ใหญ่ที่สุดในไห่หนาน คาดการณ์ปีนี้ผลผลิตจากการออกผลทุเรียนไห่หนานจะเพิ่มขึ้นร้อยละ 400 จากปีก่อนหน้า ซึ่งผลผลิตจะอยู่ที่ประมาณ 250 ตัน ทั้งนี้อุตสาหกรรมการปลูกทุเรียนในจีนเริ่มได้รับความนิยมและได้รับความสนใจจากผู้ลงทุนจากทั่วประเทศจีน
ความเห็นสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ระบุว่า ข้อมูลจาก Global Trade Atlas จีนนำเข้าทุเรียนสดจาก 3 ประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ได้แก่ ไทย เวียดนาม และฟิลิปปินส์ โดยในช่วงมกราคมถึงเมษายนปี 2567 ที่ผ่านมา จีนนำเข้าทุเรียนสดจากไทยเป็นอันดับ 1 ปริมาณ 121,398.253 ตัน มูลค่า 716.691ล้านเหรียญสหรัฐ ส่วนแบ่งการตลาดร้อยละ 65.65 อัตราการขยายตัวลดลง 48.71 อันดับ 2 นำเข้าทุเรียนสดจากเวียดนาม 79,186.190 ตัน มูลค่า 369.211 ล้านเหรียญสหรัฐ ส่วนแบ่งการตลาด ร้อยละ 33.82 อัตราการขยายตัวเพิ่มขึ้น 82.93 และอันดับที่3 นำเข้าทุเรียนจากฟิลิปปินส์ 1,778.123 ตัน มูลค่า 5,807,841 ล้านเหรียญสหรัฐ ส่วนแบ่งการตลาดร้อยละ 0.53 อัตราการขยายตัวเพิ่มขึ้น 474.5 ล้านเหรียญสหรัฐ เมื่อจีนสามารถผลิตทุเรียนไห่หนานได้ จึงนับว่าเป็นอีกหนึ่งความสำเร็จในวงการทุเรียนจีน
แต่ทั้งนี้จะยังส่งผลต่อการนำเข้าทุเรียนไทยได้ไม่มาก เนื่องจากปริมาณผลผลิตยังน้อย ถึงกระนั้นไทยก็ไม่สามารถนิ่งนอนใจได้ เพราะตลาดทุเรียนไทยอาจต้องพบกับการแย่งส่วนแบ่งตลาดทุเรียนสดในจีนจาก ทุเรียนไห่หนานที่เริ่มเป็นที่รู้จัก ทั้งนี้ไทยควรพัฒนาทุเรียนไทยให้มีคุณภาพสูงและมีความสดใหม่เพื่อยังสามารถรักษาตลาดจีนและตลาดโลกที่สูงไว้ได้ แม้ว่าทุเรียนไห่หนานจะเริ่มเป็นทางเลือกสำหรับผู้บริโภคจีน แต่หากทุเรียนไทยยังรักษาคุณภาพ และสร้างความเชื่อมั่นจากผู้บริโภคทั้งในคุณภาพและรสชาติ การนำเข้าทุเรียนไทยยังคงมีโอกาสที่จะเป็นที่ต้องการในตลาดจีนและตลาดโลกด้วยความพร้อมที่จะต้องปรับตัวและพัฒนาตนเองให้ดียิ่งขึ้นตามความต้องการของผู้บริโภคในทุกๆ ประเทศ