นายบุญสิงห์ วรินทร์รักษ์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พร้อมด้วย นาย ชัยมงคล ไชยรบ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดสกลนคร เขต 5 พรรคพลังประชารัฐ นางสาวทัศนีย์ เมืองแก้ว ผู้ตรวจราชการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ผู้บริหาร และเจ้าหน้าที่ในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ลงพื้นที่จังหวัดสกลนครและได้ประชุมร่วมกับกลุ่มเกษตรกรสมาชิกสหกรณ์การเลี้ยงปศุสัตว์ ผู้เลี้ยงโคขุนรายย่อย ผู้ประกอบการโรงฆ่าสัตว์ ในจังหวัดสกลนคร จังหวัดมุกดาหารและจังหวัดนครพนม
จากนั้นได้ตรวจเยี่ยมโรงฆ่าสัตว์ ระบบมาตรฐาน GMP สหกรณ์การเลี้ยงปศุสัตว์ กรป.กลาง โพนยางคำ จำกัด ซึ่งมีกำลังการผลิตสูงสุดได้ถึง 100 ตัว/วัน สำหรับกระบวนการผลิตเนื้อโคขุนคุณภาพของสหกรณ์โคขุนโพนยางคำนั้นผลิตจากโคลูกผสมสายเลือด ชาร์โรเลส์/ลิมูซิน/ซิมเมนทอล สหกรณ์ฯ มีสมาชิกทั้งหมด 6,428 คน มีวิธีการเลี้ยงโคขุนที่ได้คุณภาพ เริ่มขุนอายุ 2 ปี ใช้เวลาขุน 12 เดือน น้ำหนัก 650-750 กก. ชำแหละในโรงฆ่าสัตว์ที่ได้มาตรฐาน ผ่านกระบวนการเก็บบ่ม หรือดรายเอดจ์ที่อุณหภูมิ 2-4 องศา นาน 7 วัน ตัดแบ่งชิ้นส่วนเป็น 17 ส่วน และสามารถตรวจสอบย้อนกลับได้
ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นายบุญสิงห์ วรินทร์รักษ์ กล่าวว่า ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา พบว่าราคาเนื้อโคมีแนวโน้มลดลง จึงได้ลงมาดูสภาพปัญหาของกลุ่มเกษตรกรผู้เลี้ยงโคในพื้นที่ ซึ่งเรามีคณะอนุกรรมการการรักษาตลาดการบริโภคเนื้อโค-กระบือ และผลิตภัณฑ์ โดยเนื้อโคของเรามีคุณภาพ สามารถแข่งขันกับต่างประเทศได้ ต่อไปคือการลดต้นทุนการผลิต เช่น ด้านอาหารของโค ในส่วนของสหกรณ์โพนยางคำ พบว่ามีการรวมกลุ่มกันอย่างเข้มแข็ง มีขั้นตอนการเลี้ยงที่ได้มาตรฐาน และมีความพร้อมในทุกด้าน นอกจากนี้ยังมีโรงฆ่าสัตว์ และห้องบ่มเนื้อ ที่ได้มาตรฐานในการผลิตเนื้อเกรดพรีเมียมเพื่อจำหน่ายทั้งตลาดภายในประเทศ รวมถึงการส่งเสริมการส่งออกไปยังตลาดในต่างประเทศ
ทั้งนี้ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นายบุญสิงห์ วรินทร์รักษ์ ได้มีข้อสังการให้หน่วยงานในกระทรวงเกษตร ดังนี้
1. กำชับให้ติดตาม ตรวจสอบ เพื่อแก้ไขปัญหาการลักลอบนำเข้า เนื่องจากหากปล่อยให้นำสินค้าเข้ามาในประเทศ จะเกิดการแบ่งตลาดของสินค้าไทย ซึ่งเป็นสินค้าที่ได้มาตรฐานอยู่แล้ว
2.ลดต้นทุนอาหารสัตว์ ปรับสูตรอาหารจากวัตถุดิบในพื้นที่เพื่อเพิ่มมูลค่าของสินค้าต้นทุนต่ำ กำไรมากขี้น
3. พัฒนาคุณภาพสินค้าปศุสัตว์ให้โดนเด่น เป็นเอกลักษณ์ และคุณภาพมาตรฐาน เพื่อสร้างผลกำไรสินค้า
4. สร้างตลาดใหม่ ๆ ในพื้นที่และต่างจังหวัดผ่านทางช่องทางออนไลน์
5. สร้างตลาดในประเทศและต่างประเทศ
6.โคเนื้อปลอดโรคระบาดสัตว์ เพื่อสร้างความมั่นใจให้ผู้ประกอบการ
7. ผลิตภัณฑ์เนื้อโคต้องโดดเด่น เพื่อสร้างมูลค่า
8. สินค้าปศุสัตว์ต้องได้มาตรฐานเป็นที่ยอมรับของตลาดเพื่อลดการบริโภคสินค้าปศุสัตว์ที่นำเข้าจากต่างประเทศ